การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างภาษีสำหรับบุคคลธรรมดาครั้งใหญ่ ในปี 2560

โดย



สรรพากรได้ออกกฎหมายปรับปรุงโครงสร้างภาษีของบุคคลธรรมดาครั้งใหญ่

ปรับปรุงค่าใช้จ่าย

  1. เพิ่มการหักค่าใช้จ่ายของเงินเดือน ค่าจ้าง ค่านายหน้า ฯลฯ อันเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) และ (2) แห่งประมวลรัษฎากร จากเดิมร้อยละ 40 ของเงินได้แต่ไม่เกิน 60,000 บาท เป็นร้อยละ 50 ของเงินได้แต่ไม่เกิน 100,000 บาท
  2. ปรับปรุงการหักค่าใช้จ่ายของเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (3) แห่งประมวลรัษฎากร จากเดิมให้หักได้เฉพาะค่าลิขสิทธิ์ ร้อยละ 40แต่ไม่เกิน 60,000 บาท กฎหมายเพิ่มให้ค่าแห่งกู๊ดวิลล์ ค่าลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร หรือสิทธิอย่างอื่น สามารถหักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาได้ร้อยละ 50 ของเงินได้แต่ไม่เกิน 100,000 บาท หรือหักค่าใช้จ่ายตามความจำเป็นและสมควรได้

ปรับปรุงค่าลดหย่อน

  1. เพิ่มค่าลดหย่อนสำหรับผู้มีเงินได้ จากเดิม 30,000 บาท เป็น 60,000 บาท
  2. เพิ่มค่าลดหย่อนสำหรับคู่สมรสของผู้มีเงินได้ จากเดิม 30,000 บาท เป็น 60,000 บาท
  3. กรณีคู่สมรสต่างฝ่ายต่างมีเงินได้ ให้หักลดหย่อนรวมกันได้ไม่เกิน 120,000 บาท

  4. เพิ่มค่าลดหย่อนบุตรจากเดิมคนละ 15,000 บาท (ไม่เกิน 3 คน) เป็นคนละ 30,000 บาท ไม่จำกัดจำนวนยกเลิกค่าลดหย่อนการศึกษาบุตร จากเดิมให้หักลดหย่อนได้คนละ 2,000 บาท

  5. กองมรดกเดิมให้หักลดหย่อนได้ 30,000 บาท เป็น 60,000 บาท
  6. ห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล เดิมให้หักลดหย่อนแก่หุ้นส่วนคนละ 30,000 บาท แต่รวมกันต้องไม่เกิน 60,000 บาท ปรับใหม่เป็นคนละ 60,000 บาท แต่รวมกันต้องไม่เกิน 120,000 บาท

อัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาใหม่

นอกจากนี้ยังได้ปรับอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาใหม่ โดยจากเดิมมีรายได้สุทธิ 4,000,001 บาทขึ้นไปต้องเสียภาษี 35% ปรับเป็นต้องมีรายได้สุทธิ 5,000,001 บาทขึ้นไป เพิ่มขึ้นมา 1,000,000 บาท ดังนี้

อัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

เงินได้สุทธิ
(ปัจจุบัน)
อัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
       ปัจจุบัน     
เงินได้สุทธิ
(ปรับใหม่ปี 2560)   

 อัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปัจจุบัน
   (ปรับใหม่ปี 2560)  

0-150,000 บาท ได้รับยกเลิกภาษี 0-150,000 บาท ได้รับยกเลิกภาษี
150,001-300,000 บาท 5% 150,001-300,000 บาท 5%
300,001-500,000 บาท 10% 300,001-500,000 บาท 10%
500,001-750,000 บาท 15% 500,001-750,000 บาท 15%
750,001-1,000,000 บาท 20% 750,001-1,000,000 บาท 20%
1,000,001-2,000,000 บาท   25% 1,000,001-2,000,000 บาท   25%
2,000,001-4,000,000 บาท 30% 2,000,001-5,000,000 บาท 30%
4,000,001 บาทขึ้นไป 35% 5,000,001 บาทขึ้นไป 35%

 

ปรับปรุงเกณฑ์เงินได้พึงประเมินขั้นต่ำที่ผู้มีเงินได้ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษี

  1. กรณีมีเงินได้จากการจ้างแรงงาน (เงินเดือน ค่าจ้าง) เพียงประเภทเดียว
    - โสด จากเดิมต้องยื่นแบบเมื่อมีเงินได้เกิน 50,000 บาท ปรับเป็นต้องมีเงินได้เกิน 100,000 บาท 
    - หากมีคู่สมรส เดิมต้องยื่นแบบเมื่อมีเงินได้รวมกันเกิน 100,000 บาท ปรับเป็นต้องมีเงินได้รวมกันเกิน 200,000 บาท 

  2. กรณีมีเงินได้จากการจ้างแรงงาน (เงินเดือน ค่าจ้าง) และมีเงินได้ประเภทอื่นด้วย หรือกรณีมีเฉพาะเงินได้ประเภทอื่นที่ไม่ใช่เงินได้จากการจ้างแรงงาน 
    - โสด จากเดิมต้องยื่นแบบเมื่อมีเงินได้เกิน 30,000 บาท ปรับเป็นต้องมีเงินได้เกิน 60,000 บาท 
    - หากมีคู่สมรส จากเดิมต้องยื่นแบบเมื่อมีเงินได้รวมกันเกิน 60,000 บาท ปรับเป็นต้องมีเงินได้รวมกันเกิน 120,000 บาท 

  3. กรณีกองมรดกของผู้ตายที่ยังมิได้แบ่ง จากเดิมต้องยื่นแบบเมื่อมีเงินได้เกิน 30,000 บาท ปรับเป็นต้องมีเงินได้เกิน 60,000 บาท 
  4. กรณีห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่ไม่ใช่นิติบุคคล จากเดิมต้องยื่นแบบเมื่อมีเงินได้เกิน 30,000 บาท ปรับเป็นต้องมีเงินได้เกิน 60,000 บาท 

ทั้งนี้การปรับเกณฑ์ดังกล่าวข้างต้นให้ใช้บังคับสำหรับเงินได้พึงประเมินในปีภาษี 2560 เป็นต้นไป (ยื่นแบบภาษีในปี 2561) ซึ่งการปรับปรุงโครงสร้างภาษีครั้งนี้ทำให้การจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดามีความเป็นธรรมมากขึ้น สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและค่าครองชีพในปัจจุบัน โดยต้องมีรายได้เดือนละ 26,000 บาทขึ้นไปจึงจะเริ่มเสียภาษี กรณีมีรายได้เฉพาะเงินเดือนเท่านั้น และหักลดหย่อนส่วนตัวโดยไม่ใช้สิทธิลดหย่อนรายการอื่น

แต่ผู้ที่จะได้รับผลกระทบจากการปรับปรุงโครงสร้างภาษีนี้คือบุคคลธรรมดาที่ประกอบธุรกิจ เนื่องจากเดิมสามารถหักค่าใช้จ่ายได้ ร้อยละ 85 ปี 2560 จะลดลงเหลือ ร้อยละ 60 ตามพระราชกฤษฎีกาฉบับที่ 629

ดังนั้นบุคคลธรรมดาที่ประกอบธุรกิจต้องศึกษากฎหมายใหม่นี้เพื่อประโยชน์ในการเสียภาษี ทั้งนี้สรรพากรก็ได้ออกกฎหมายเพื่อรองรับกรณีที่บุคคลธรรมดาต้องการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทได้ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี 2 เท่า ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมที่พระราชกฤษฎีกา 630

FaLang translation system by Faboba