ขายของออนไลน์ พ่อค้าแม่ค้าอย่าลืมเรื่อง “ภาษี”

โดย

 

 
  ขายของออนไลน์ รายได้เท่าไรถึงต้อง “ยื่นภาษี”


หากพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ค้าขายในรูปแบบของบุคคลธรรมดา รายได้หรือเงินได้จากการขายของออนไลน์ ถือเป็นเงินได้ตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร เป็นเงินได้จากธุรกิจการพาณิชย์ การเกษตร การอุตสาหกรรม การขนส่ง การขายอสังหาริมทรัพย์ การขายหน่วยลงทุนคืนให้แก่กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ รวมถึงรายได้จากการ "ขายของออนไลน์" ด้วย จะต้องทำการ "ยื่นภาษี" เพื่อแสดงให้ "สรรพากร" เห็นถึงการมีรายได้และค่าใช้จ่ายต่างๆ ว่า อยู่ในระดับที่ควรยกเว้นภาษีหรือต้องเสียภาษี ?
ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า คนที่จะต้อง "ยื่นภาษี" คือคนที่มี "รายได้" หรือ "เงินได้" ตามที่กฎหมายกำหนด สำหรับบุคคลธรรมดาที่ต้องยื่นภาษีเมื่อมีรายได้ดังนี้ คือ
• สำหรับคนโสด : - มีเงินได้ประเภทอื่นนอกจากเงินเดือน เกิน 60,000 บาท (ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90)
• สำหรับผู้ที่มีคู่สมรส :- มีเงินได้ประเภทอื่นนอกจากเงินเดือน ไม่ว่าฝ่ายเดียวหรือทั้ง 2 ฝ่ายรวมกัน เกิน 120,000 บาท (ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90)
ทั้งนี้ ในการยื่นภาษีของคนขายของออนไลน์ สามารถเลือก "หักค่าใช้จ่าย" ได้ 2 แบบ คือ 1.แบบหักตามจริง และ 2. แบบเหมา 60%
1.หักค่าใช้จ่ายตามจริง : การหักค่าใช้จ่ายแบบนี้เหมาะกับผู้ค้าออนไลน์ที่มีต้นทุนสูงในการขายสินค้า เหมาะกับการยื่นภาษีแบบหักค่าใช้จ่ายตามจริง เพราะวิธีนี้จะทำให้คนที่มีต้นทุนสูงสามารถหักค่าใช้จ่ายได้สูงด้วย ซึ่งเมื่อหักค่าใช้จ่ายไปแล้ว เงินได้สุทธิที่ต้องนำมาคำนวณภาษีก็จะลดลงตามไป โดยวิธีนี้ต้องจัดเก็บรวบรวม “บัญชีรายรับรายจ่าย” พร้อม “หลักฐาน” ไว้ให้ครบถ้วนเพื่อง่ายต่อการตรวจสอบ และช่วยลดความสับสนเมื่อต้องยื่นภาษี
2.หักค่าใช้จ่ายแบบเหมา 60% : ส่วนการหักค่าใช้จ่ายแบบเหมา เหมาะกับผู้ค้าออนไลน์ที่มีกำไรเยอะ เช่น กำไรที่แท้จริงหักค่าใช้จ่ายแล้วมีมากกว่า 40% หมายความว่าต้นทุนของธุรกิจจะน้อยกว่า 60% ของรายได้ทั้งหมด ในกรณีนี้แนะนำให้เลือกใช้การยื่นภาษีแบบเหมา ซึ่งข้อดีของการยื่นแบบนี้คือไม่ต้องแสดงหลักฐานค่าใช้จ่ายใดๆ กับกรมสรรพากร และทำให้เราได้ประโยชน์ทางภาษีในส่วนต่างของต้นทุนที่แท้จริงกับค่าใช้จ่ายแบบเหมานั่นเอง แต่การเลือกหักค่าใช้จ่ายแบบเหมานั้น ต้องมีเงินได้ตามประเภทของกิจการที่กำหนด (1) – (43) เท่านั้น (ตามภาพตาราง)เพราะหากประกอบกิจการที่ไม่อยู่ในประเภทเงินได้ที่กำหนดไว้ ต้องเลือกหักค่าใช้จ่ายจริงตามความจำเป็นและสมควร
การขายของออนไลน์ที่ไม่ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล (บริษัทหรือห้างหุ้นส่วน) ยังถือว่าเป็นบุคคลธรรมดาที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยจะเสียภาษีหรือไม่เสียภาษีนี้จะต้องขึ้นอยู่กับว่าเรามี "เงินได้สุทธิ" หรือ "กำไรสุทธิ" เมื่อหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนออกไปแล้วเท่าไร ตามหลักเกณฑ์คือยิ่งมีเงินได้สุทธิมากยิ่งเสียภาษีในอัตราที่มากตามขั้นบันได

   
      บางส่วนจากบทความ "ขายของออนไลน์ พ่อค้าแม่ค้าอย่าลืมเรื่อง “ภาษี”"
      อ่านบทความฉบับสมบูรณ์ได้ที่...วารสารเอกสารภาษีอากร ปีที่ 41  ฉบับที่ 482 เดือน พฤศจิกายน 2564  




Tax Talk : Tax Tips : กองบรรณาธิการ
วารสาร : เอกสารภาษีอากร  พฤศจิกายน 2564



FaLang translation system by Faboba