วางแผนการเงินและชีวิต ปี 2565 อย่างไรไม่ให้เจ็บปวด

โดย

 

 
วางแผนการเงินและชีวิตอย่างไรให้รอด ในปี 2565 


ประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับการจัดการการเงินและชีวิต สำหรับคนที่กำลังวางแผนจัดการตัวเองในปี 2565 มีดังนี้
1. รายได้ที่มีรักษาให้ดี อย่าลืมมองหาช่องทางเพิ่ม
บางคนต้องทนทำงานที่ไม่ได้รัก แต่ทำเพราะต้องการรักษารายได้ ดังนั้น หากมีประเด็นนี้ติดอยู่ในใจ ต้องรีบบริหารจัดการให้ดี ขณะเดียวกันก็ควรมองหาช่องทางสร้างรายได้เพิ่มด้วย
2. เงินสำรองมีไว้ 6 เดือนพอไหว แต่ถ้าต้องใช้เมื่อไรให้ระวัง ใจเย็นไม่ได้แล้ว
เงินสำรอง คือเงินที่เก็บไว้ใช้จ่ายยามฉุกเฉิน มักจะเท่ากับ 3-6 เดือนของรายจ่ายต่อเดือนที่เราใช้อยู่ ดังนั้น คนที่มีอาชีพมั่นคงประมาณนึง หรือไม่ได้มีปัญหาเรื่องของกระแสเงินสด การมีเงินสำรองประมาณ 6 เดือนไว้ใช้จ่าย ก็น่าจะเพียงพอ
3. เริ่มเก็บเงินเท่าที่ตัวเองไหว แม้ไม่ได้ตามทฤษฎี แต่ดีที่ได้เริ่มต้น
คนที่อยากเริ่มต้นเก็บเงินช่วงปีใหม่ ซึ่งอาจจะไม่ใช่เปอร์เซ็นต์ของการเก็บเงินที่เป็นไปตามทฤษฎี แต่เริ่มต้นจากการปฏิบัติโดยการสร้างวินัยที่เราทำได้ เพื่อให้เกิดการเริ่มต้นที่ดีขึ้นนั่นเอง
4. จะเป็นหนี้ก้อนใหญ่ให้คิดดีๆ ทำตัวเลขการเงิน 6 เดือนข้างหน้าดูก่อน
สำหรับคนที่อยากให้รางวัลตัวเองช่วงปีใหม่ สิ่งที่อยากจะชวนดูคือ ข้อมูลการเงินของตัวเอง ดูว่าตอนนี้กระแสเงินสดแต่ละเดือนของเราเป็นแบบไหน อนาคตจะเป็นอย่างไรให้มองไปข้างหน้าอีก 6 เดือน ซึ่งถ้าตัวเลขออกมาไม่ดีหรือไม่ไหว อาจจะชะลอหรือดึงตัวเองไว้ก่อน พร้อมแล้วค่อยไปต่อ
5. หนี้ไหนคิดว่าไม่ไหวให้เจรจา เจรจาก่อนหนี้เสีย ไม่ติดเครดิตบูโร
ในปีที่ผ่านมาธนาคารแห่งประเทศไทย เพิ่มทางเลือกการพักเงินต้นและจ่ายดอกเบี้ยบางส่วน ซึ่งให้ลูกหนี้สามารถทยอยชำระคืนเป็นขั้นบันได (step up) ตามความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ สำหรับหนี้สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย และสินเชื่อที่มีที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกัน ดังนั้น ใครที่คิดว่าไม่ไหว สิ่งที่ต้องรีบทำคือการเจรจาและพูดคุยกับทางเจ้าหนี้ พร้อมหาช่องทางในการจัดการที่ดีที่สุดร่วมกัน
6. การลงทุนในช่วงวิกฤตและต่อจากนี้ ไม่ว่าจะลงทุนอะไร ขอให้ปฏิบัติด้วยความรู้
ไม่ว่าจะเป็นสินทรัพย์ดิจิทัลประเภทต่างๆ หรือการลงทุนในรูปแบบที่หลากหลายมากขึ้น สิ่งสำคัญ คือ ไม่ควรกู้มาลงทุน อย่ามั่นใจเกินไป บางทีความเสียหายอาจจะร้ายแรงกว่าที่เราคิด และส่งผลกับชีวิตของเราในอนาคต
7. ถ้าใครรับหน้าที่ดูแลคนในครอบครัว ต้องดูแลการเงินคนในบ้าน ถ้าหากรู้สึกว่าไม่ไหวต้องรีบเปิดใจคุย
หากคนที่ทำหน้าที่ดูแลต้อง “แบก” ทุกอย่างไว้ไม่ไหวขึ้นมา ผลกระทบและความเสียหายที่เกิดขึ้นจะมากกว่าที่เราคิดไว้ ดังนั้น นอกจากบริหารจัดการการเงินแล้ว ความสัมพันธ์ก็เป็นอีกเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กัน
8. มองโลกในข้อเท็จจริง (ของเรา) ให้ออก
อะไรที่บอกว่าไม่ดี ก็ให้ยอมรับและปรับตัว การคิดในแง่ร้ายไม่ใช่เรื่องผิด ถ้ามันทำให้เราปิดความเสี่ยงและปัญหาในอนาคตได้ ให้มองข้อเท็จจริงที่ซ่อนอยู่ว่า สถานการณ์แบบนี้มันเป็นแบบไหน และเราจะจัดการอย่างไรได้บ้าง แม้ความจริงของแต่ละคนจะไม่เหมือนกัน แต่ในความจริงของเรานั้น เราต้องเข้าใจและรับมือให้ได้
9. หลังวิกฤตชีวิต เราจะดีขึ้นได้อย่างไร
แม้ตอนนี้จะลำบาก แต่อย่าลืมมองไปที่จุดสิ้นสุดของปัญหาว่า ชีวิตจะดีขึ้นได้อย่างไร เพื่อให้เรามองเห็นอนาคตและสร้างกำลังใจที่ดีให้กับตัวเอง เพราะสุดท้ายแล้วทุกปัญหาที่เกิดขึ้นก็จะสิ้นสุดลงสักวัน
อย่าลืมทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย และวางแผนชีวิตการงานต่อจากนี้ เพื่อจะได้วางแผนการเงินของเราได้ดีขึ้น ในขณะที่การวางแผนชีวิตการทำงาน จะทำให้เราได้ทบทวนทักษะความสามารถและประสบการณ์ที่ผ่านมาว่าสามารถต่อยอดอะไรได้บ้าง หรือต้องเพิ่มทักษะอะไรเพื่อให้อยู่รอดได้ต่อไป

  บางส่วนจากบทความ  "วางแผนการเงินและชีวิต ปี 2565 อย่างไรไม่ให้เจ็บปวด
  อ่านบทความเต็มได้ใน... วารสาร HR Society Magazine ปีที่ 20 ฉบับที่ 229 เดือนมกราคม 2565

Smart Money for Salaryman : Lifestyle : TAXBugnoms
วารสาร : HR Society Magazine มกราคม 2565



FaLang translation system by Faboba