เกษียณอายุ...ผู้ประกันตน คำถามและคำตอบที่ควรรู้?

โดย

 

 
เกษียณแล้ว ได้อะไรจากกองทุนประกันสังคม

 

ปัญหาความไม่รู้และไม่เข้าใจของผู้ประกันตน เกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ในกองทุนประกันสังคมยังคงมีอยู่ตลอดเวลา จากคำถามที่ว่า “เกษียณแล้วได้อะไรจากกองทุนประกันสังคม” เพื่อให้ผู้ประกันตนมีความรู้ความเข้าใจในการใช้สิทธิได้อย่างถูกต้อง ลองดูกรณีตัวอย่างคำถาม-คำตอบดังต่อไปนี้…
เมื่อออกจากมาตรา 33 แล้ว ขอรับเงินบำนาญเลย ต่อมาเดือนที่ 5 นับตั้งแต่ออกจากมาตรา 33
จึงสมัครเป็นมาตรา 39 และเมื่อลาออกจากมาตรา 39 จะได้รับเงินบำนาญคุ้มค่ากว่า ใช่หรือไม่
ตอบ ใช่ เหตุที่เงินบำนาญคุ้มค่ากว่า เพราะการคำนวณเงินบำนาญจะใช้ฐานค่าจ้างมาตรา 33 กล่าวคือ
ถ้าออกจากมาตรา 33 แล้ว ต้องยื่นขอรับเงินบำนาญก่อน ซึ่งจะได้รับเงินบำนาญจากการคำนวณจากฐานค่าจ้าง มาตรา 33 คือ ฐานค่าจ้างสูงสุด 15,000 บาท จากนั้นเมื่อสมัครเป็นมาตรา 39 และเป็นผู้ประกันตน มาตรา 39 จะถูกงดจ่ายเงินบำนาญ และต่อมาหากลาออกจากมาตรา 39 จะคำนวณเงินบำนาญจากฐานค่าจ้างมาตรา 33 (เดิม คือ 15,000 บาท) ไม่ใช่ฐานค่าจ้าง มาตรา 39 (4,800 บาท) และอัตราที่จะนำมาคำนวณเงินบำนาญเพิ่มขึ้น 1.5% ของทุกๆ การจ่ายเงิน 12 งวดเดือน (ติดต่อกัน)
ถ้าอายุครบ 60 ปี ออกจากบริษัทหนึ่งไปทำงานต่ออีกบริษัทหนึ่ง สามารถเป็นผู้ประกันตน มาตรา 33 ต่อได้หรือไม่
ตอบ ไม่มีสิทธิเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 แต่จะต้องเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 เนื่องจากกฎหมายประกันสังคม มาตรา 33 กำหนดคุณสมบัติในเรื่องอายุของการเป็นผู้ประกันตน มาตรา 33 ไว้ว่า ให้ลูกจ้าง ซึ่งมีอายุไม่ต่ำกว่าสิบห้าปีบริบูรณ์ และไม่เกินหกสิบปีบริบูรณ์เป็นผู้ประกันตน (วรรคหนึ่ง) ดังนั้น กรณีที่ลูกจ้างออกจากบริษัท ถือว่าสิ้นสุดสัญญาจ้างแรงงานหรือสิ้นสภาพการเป็นลูกจ้างจากนายจ้างเดิม เมื่อได้ตกลงเป็นลูกจ้างกับนายจ้างใหม่หรือแม้ว่าจะเป็นนายจ้างเดิมแต่เป็นการตกลงจ้างใหม่ (เช่น ไม่ได้นับอายุงานต่อเนื่องเพื่อคำนวณค่าชดเชย) จึงไม่อาจเป็นผู้ประกันตน มาตรา 33 ได้
แต่หากเป็นผู้ประกันตน มาตรา 33 ต่อเนื่องกับนายจ้างเดิม (โดยไม่ได้สิ้นสุดสัญญาจ้างแรงงาน) แม้ว่าอายุจะมากกว่า 60 ปีบริบูรณ์ บุคคลดังกล่าวนี้จะยังคงเป็นผู้ประกันตน มาตรา 33 ต่อไป เพราะมาตรา 33 วรรคสอง บัญญัติว่า ลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนอยู่แล้วตามวรรคหนึ่ง เมื่อมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์และยังเป็นลูกจ้างของนายจ้างซึ่งอยู่ภายใต้บังคับแห่งพระราชบัญญัตินี้ ให้ถือว่าลูกจ้างนั้นเป็นผู้ประกันตนต่อไป
บริษัทกำหนดอายุเกษียณ 55 ปี แต่จ้างต่อถึง 62 ปี พนักงานยังคงเป็นผู้ประกันตน มาตรา 33 ถูกต้องหรือไม่ และถ้าบริษัทกำหนดเกษียณอายุ 60 ปี แต่จ้างต่อถึง 62 พนักงานยังคงเป็นผู้ประกันตน มาตรา 33 ถูกต้องหรือไม่
ตอบ ลูกจ้างที่เกษียณอายุ 55 ปี ถ้านายจ้างตกลงจ้างต่อไป จะต้องเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 ต่อไป เพราะขณะเกษียณยังมีคุณสมบัติที่จะเป็นผู้ประกันตน มาตรา 33 (อายุน้อยกว่า 60 ปีบริบูรณ์) จนกว่าจะเลิกจ้าง (อายุ 62 ปี) ซึ่งต่างกับกรณีที่บริษัทกำหนดเกษียณ 60 ปี และจ้างต่อถึงอายุ 62 ปี กรณีนี้หากเกษียณ 60 ปี และนายจ้างคำนวณจ่ายค่าชดเชยให้กับลูกจ้าง การจ้างต่อถือว่าเป็นการจ้างใหม่ ตามกฎหมายประกันสังคม มาตรา 33 วรรคหนึ่ง ถือว่าพนักงานไม่มีสิทธิเป็นผู้ประกันตน มาตรา 33 แต่ต้องเป็นผู้ประกันตน มาตรา 39 

 

  บางส่วนจากบทความ  "เกษียณอายุ...ผู้ประกันตน คำถามและคำตอบที่ควรรู้?”
  อ่านบทความเต็มได้ใน... วารสาร HR Society Magazine ปีที่ 20 ฉบับที่ 229 เดือนกุมภาพันธ์ 2565

ประกันสังคม : กฎหมายแรงงาน : ปรานี สุขศรี
วารสาร : HR Society Magazine กุมภาพันธ์ 2565



FaLang translation system by Faboba