เสริมทัพทีมงานให้แข็งแกร่งด้วยแนวคิด Collaboration

โดย

 


 
เสริมทัพทีมงานให้แข็งแกร่งด้วยแนวคิด Collaboration


แนวคิดการทำงานแบบ Collaboration

เป็นแนวคิดที่กว้างกว่าการทำงานเป็นทีม เป็นแนวทางการทำงานที่ต้องอาศัย “ใจ” ให้ทุกคนมีความเข้าใจกัน การสร้างบรรยากาศเพื่อกระตุ้นให้บุคคลในกลุ่มมีความกล้าที่จะนำเสนอไอเดียใหม่ๆ และรับฟังซึ่งกันและกัน โดยไม่มีข้อโต้แย้ง เพื่อหาข้อสรุปว่าไอเดียใดที่นำไปสู่การปรับปรุงและพัฒนาได้ดีที่สุด เพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันในระยะยาว

ประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการสร้าง Collaboration ในการทำงานของทีมงานให้แข็งแกร่งมากขึ้น ได้แก่

  • ความรู้สึกมีส่วนร่วมเป็นเจ้าขององค์การ : เป็นความรู้สึกว่า องค์การคือบ้านที่ต้องดูแลร่วมกัน ไม่ใช่เป็นบ้านของคนใดคนหนึ่ง เป็นบ้านที่ทีมงานทุกคนมีความรับผิดชอบร่วมกัน เพื่อให้บ้านเติบโต และอยู่รอดปลอดภัยเสมือนหนึ่งว่าเป็นบ้านของตนเอง ซึ่งสมาชิกในบ้านต้องช่วยกันดูแลรักษา และช่วยกันสร้างผลประโยชน์ให้เกิดขึ้นกับบ้านของตน
  • ความผูกพันกันในองค์การ : เป็นความรักที่จะอยู่ในองค์การให้ยาวนาน ไม่อยากย้าย พูดถึงองค์การในเชิงบวก และให้ข้อมูลเชิงบวกกับคนอื่น รวมถึงความรู้สึกดีใจกับงาน หรือโครงการใหม่ๆ ที่ได้รับ โดยเน้นถึงประโยชน์ที่เกิดขึ้นกับองค์การมากกว่ากลัวว่าตนเองจะได้รับงาน หรือโครงการเพิ่มขึ้นจากเดิมที่เป็นอยู่

  • บรรยากาศการทำงาน : เป็นสภาพแวดล้อมที่ทีมงานรู้สึกว่าตนเองมีความสุข มีความสนุกที่จะทำงานในองค์การ มีเพื่อนหรือทีมงานที่รู้ใจ และมีที่ปรึกษาที่ไม่ใช่แค่หัวหน้างาน แต่เป็นทีมงานที่คอยให้ความช่วยเหลือ คอยรับฟังเมื่อมีปัญหาขึ้น ไม่เพียงแค่ปัญหาจากการทำงานเท่านั้น แต่เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในเรื่องส่วนตัว เป็นบรรยากาศที่อบอุ่นที่ทุกคนเข้าใจกัน ยอมรับฟังซึ่งกันและกัน

  • ไอเดียใหม่ๆ : การทำงานแบบ Collaboration เป็นรูปแบบการทำงานที่ให้อิสระแก่ทีมงานในการกำหนดเป้าหมายร่วมกัน ซึ่งเป็นเป้าหมายที่ท้าทาย และเป้าหมายนี้จะเป็นตัวผลักดันให้ทีมงานกล้านำเสนอแนวทางใหม่ๆ ที่ทำให้เป้าหมายที่ทีมงานกำหนดขึ้น ประสบความสำเร็จร่วมกัน ส่งผลให้ทีมงานกล้าคิด กล้าทำ โดยไม่ยึดติดกับรูปแบบและแนวทางปฏิบัติเดิมที่เคยทำอยู่

  • การพัฒนาอย่างต่อเนื่อง : เพื่อทำให้เป้าหมายของทีมที่กำหนดขึ้นบรรลุผล ความรู้และทักษะของทีมงานเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกคนต่างต้องร่วมด้วยช่วยกันในการพัฒนาความสามารถ ทั้งของตนเองและทีมงาน นำไปสู่การเรียนรู้พัฒนาตนเองอยู่ตลอดเวลา ด้วยช่องทางหรือเครื่องมือการพัฒนาที่หลากหลาย ที่ไม่ใช่เพียงแค่เข้ารับการฝึกอบรมในห้องเรียน (Classroom Training) เท่านั้น เป็นการเรียนรู้ด้วยตนเอง (Self Learning) ด้วยสื่อการเรียนรู้ที่สามารถเรียนรู้ได้ตลอดทุกที่ และทุกเวลา (Anytime, Anywhere) เช่น อ่านหนังสือ, ดูยูทูบ, เข้าคลับเฮาส์ หรือค้นดู Google เป็นต้น

  • สนับสนุนเป้าหมายขององค์การ : การที่ผู้บังคับบัญชาผลักดันให้เกิดการทำงานในรูปแบบของ Collaboration นั้น จะทำให้ทีมงานมีส่วนช่วยสนับสนุนผลงานของผู้บริหารของตนเองและสนับสนุนให้ผลงานขององค์การประสบความสำเร็จตามไปด้วยเช่นกัน นั่นแสดงให้เห็นว่า ผู้บังคับบัญชาสามารถทำงานเข้าตากรรมการ หรือเข้าตาผู้บริหารระดับสูง ถือว่าเป็นผลงาน หรือ KPIs ของหน่วยงานที่ผู้บังคับบัญชาและทีมงานช่วยกันทำให้ KPIs ของหน่วยงานสามารถตอบโจทย์ KPIs ขององค์การได้

 

บางส่วนจากบทความ : "เสริมทัพทีมงานให้แข็งแกร่ง ด้วยแนวคิด Collaboration"
โดย : ดร.อาภรณ์ ภู่วิทยาพันธ์ / Section : HRM/HRD / Column : Performance Management
อ่านบทความฉบับเต็มได้ที่...วารสาร HR Society Magazine ปีที่ 20 ฉบับที่ 234 เดือนมิถุนายน 2565

 

FaLang translation system by Faboba