เงินตราเป็น “ของ” ตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรหรือไม่

โดย

 


 
เงินตราเป็น “ของ” ตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรหรือไม่


            ย่อมเป็นที่เข้าใจกันโดยทั่วไปว่า “เงิน” เป็น “ตัวกลาง” ในการแลกเปลี่ยนสินค้าหรือบริการ โดยปกติแล้ว
เงินจึงมิใช่ “ของ” หรือ “สินค้า” หลักการนี้สอดคล้องกับคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 758/2525 ที่ได้มีการดำเนินคดี
กับผู้ที่ลักลอบขนเงิน มีประเด็นพิจารณาว่า การขนเงินออกไปหรือนำเข้ามาในราชอาณาจักรไทยนั้นเป็นความผิดตามกฎหมายศุลกากรหรือไม่ ศาลวินิจฉัยว่า ธนบัตรของกลางเป็นธนบัตรรัฐบาลไทยและเป็นเงินที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมายในประเทศไทย มิใช่สิ่งของอันอาจนำไปจำหน่ายเป็นสินค้าอย่างธรรมดาทั่วไปได้ ธนบัตรของกลางจึงมิใช่ “ของ” ตามความหมายในมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากรพุทธศักราช 2469 (เป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะนั้น) การที่จำเลยนำธนบัตรของกลางออกไปหรือนำเข้ามาในราชอาณาจักร จึงไม่เป็นความผิดฐานหลีกเลี่ยงข้อจํากัดหรือข้อห้ามตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร

            เมื่อพิเคราะห์ตามคำพิพากษาของศาลฎีกาเรื่องนี้จะเห็นได้ว่า แม้จะเป็นธนบัตรตามความหมาย ในพระราชบัญญัติควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน พุทธศักราช 2485 แต่ธนบัตรนั้นก็มิใช่ “ของ” ตามมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พุทธศักราช 2469 การนำธนบัตรออกไปหรือนำเข้ามาในราชอาณาจักรไทย จึงไม่เป็นความผิดฐานหลีกเลี่ยงข้อจํากัดหรือข้อห้ามตามกฎหมายศุลกากร

            อย่างไรก็ตาม ผลของคำพิพากษาในหลาย ๆ เรื่องที่วินิจฉัยในลักษณะทำนองเดียวกันนี้ว่า ธนบัตรไทยของกลางมิใช่ “ของ” ตามความหมายในกฎหมายว่าด้วยศุลกากรนั้น ย่อมส่งผลให้พนักงานศุลกากรไม่สามารถใช้อำนาจตามกฎหมายศุลกากรในการริบเงินนั้นได้ ฉะนั้น เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว จึงได้มีการตราพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน พุทธศักราช 2485 (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2527 ขึ้น โดยเพิ่มเติมความในมาตรา 8 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน พุทธศักราช 2485 ว่า “เพื่อประโยชน์ในการป้องกันและปราบปรามการลักลอบส่งหรือนำเงินออกไปนอกหรือเข้ามาในประเทศไทย ให้ถือว่าเงินตรา เงินตราต่างประเทศ ธนบัตรต่างประเทศ หรือหลักทรัพย์ไม่ว่าของไทยหรือต่างประเทศเป็น “ของ” ตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร”

            นอกจากนี้ยังได้กำหนดให้ “การส่งหรือนำหรือพยายามส่ง หรือนำ หรือช่วยเหลือ หรือเกี่ยวข้อง ด้วยประการใด ๆ ในการส่งหรือนำเงินตรา เงินตราต่างประเทศ ธนบัตรต่างประเทศ หรือหลักทรัพย์ไม่ว่าของไทยหรือต่างประเทศออกไปนอกหรือเข้ามาในประเทศไทย โดยฝ่าฝืนหรือละเลยไม่ปฏิบัติตามกฎกระทรวง ประกาศ หรือคำสั่งที่ออกตามความในพระราชบัญญัตินี้ไม่ว่าจะกระทำด้วยวิธีใด ๆ ให้ถือว่าเป็นการส่งหรือนำของต้องจํากัดออกไปนอกหรือเข้ามาในประเทศไทยอันเป็นความผิดตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรด้วย และให้นำบทกฎหมายว่าด้วยศุลกากรและอำนาจพนักงานศุลกากรตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ว่าด้วยการตรวจของและป้องกันลักลอบหนีศุลกากร การตรวจค้น การยึดและริบของ หรือการจับกุมผู้กระทำผิด การแสดงเท็จและ การฟ้องร้องมาใช้บังคับแก่การกระทำดังกล่าว รวมทั้งบุคคลและสิ่งของที่เกี่ยวข้อง” ดังนั้นการนำเงินตราหรือ เงินตราต่างประเทศออกไปนอกราชอาณาจักรโดยมิได้รับอนุญาต ย่อมเป็นการฝ่าฝืนและเป็นความผิดตามมาตรา8 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน พุทธศักราช 2485 ในปัจจุบันจึงต้องถือว่าการกระทำดังกล่าว เป็นความผิดฐานหลีกเลี่ยงข้อจํากัดหรือข้อห้ามตามมาตรา 244 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 ทั้งนี้ ตามนัยแห่งบันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่องเสร็จที่ 14/2545 เรื่อง การตีความมาตรา 8 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน พุทธศักราช 2485

 

  จากบทความ : “การนำเงิน “เข้า-ออก” ระหว่างประเทศ” 
  Section: Tax Talk / Column: Customs Duty

  บทความพิเศษ อ่านบทความฉบับสมบูรณ์ได้ที่...วารสารเอกสารภาษีอากร ปีที่ 41 ฉบับที่ 491 เดือนสิงหาคม 2565
  หรือสมัครสมาชิก “วารสารเอกสารภาษีอากร” เพื่อรับสิทธิอ่านและสืบค้นบทความ ผ่านระบบ e-Magazine Index

 
 


FaLang translation system by Faboba