Transform for The Future เพิ่มทางรอดและโอกาสทางธุรกิจ

โดย

 


 
Transform for The Future
เพิ่มทางรอดและโอกาสทางธุรกิจ

 

           HR Society Magazine ฉบับเดือนกันยายน 2565 มีโอกาสได้สัมภาษณ์คุณณัฐ วงศ์พานิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด (CRG) ผู้คร่ำหวอดและเต็มเปี่ยมไปด้วยประสบการณ์การบริหารธุรกิจและบริหารคนให้มีความแข็งแกร่ง ทำให้ CRG กลายเป็นยักษ์เบอร์ต้นๆ ในอุตสาหกรรมอาหารที่หลายคนจับตามอง โดยเฉพาะในช่วงวิกฤตโควิด-19 ที่หลายหน่วยงานต้องปรับลดคน หรือต้องปิดกิจการลง แต่ CRG คือองค์กรที่ยังรักษาคนไว้อย่างเหนียวแน่น

บทเรียนโควิด-19 ในฐานะหัวเรือใหญ่ของ CRG การที่ไม่ปรับลดคน หรือไม่ตัดบุคลากรออกจากองค์กรในช่วงภาวะวิกฤต มีเหตุผลและแนวคิดอย่างไร

           “ในช่วงวิกฤตโควิด-19 มีหลายบริษัทประสบกับภาวะยากลำบาก แต่ก็มีอีกหลายบริษัทจำนวนไม่น้อยที่ผ่านพ้นมาได้ ผมถือว่านี่คืออีกหนึ่งบทพิสูจน์ความแข็งแกร่ง ที่สะท้อนว่าเราทำอะไรลงไปในช่วงนั้น ผมมองว่าการที่ CRG เลือกที่จะไม่ปรับลดคน เพราะเราเชื่อว่าเศรษฐกิจจะกลับมาฟื้นหรือดีขึ้น ภาคธุรกิจก็จะกลับมาดีได้ ดังนั้น ขอให้อึดเอาไว้ เมื่อวันที่ดีกลับมา ลูกค้าและนักท่องเที่ยวกลับมา แต่พนักงานดีๆ มีฝีมือหาได้ไม่ง่าย ยิ่งเป็นคนเก่งๆ ยิ่งหายาก ผมเลยเลือกเก็บพวกเขาเอาไว้ แม้บริษัทต้องเผชิญความยากลำบากบ้าง แต่ขอให้พนักงานของเราอยู่ได้ ขอให้คุณเป็นคนเก่ง คนดี ที่รักบริษัท มีความผูกพัน อยากเห็นองค์กรเติบโตไปในทิศทางที่ดี และคุณอยู่ได้ แต่แน่นอนว่าการที่เราเลือกเก็บคนเอาไว้ ไม่ใช่ว่าจะอยู่กันได้เหมือนตอนในสถานการณ์ปกติ ผมคิดว่าเราได้เรียนรู้เยอะ พอเกิดวิกฤต เราต้องรู้จักสื่อสารให้เป็น บางคนยังไม่รู้สถานการณ์ที่ชัดเจนว่าต่อไปบริษัทจะเป็นอย่างไร เรื่องการสื่อสารภายในองค์กรจึงสำคัญ ผมยกเป็นข้อๆ ดังนี้
           1. ผมเลือกวิธีการสื่อสารแบบตรงไปตรงมา บอกถึงสถานการณ์ที่เป็นอยู่ ซึ่งการสื่อสารแบบตรงๆ
มันย่อมดีกว่าการบอกว่าไม่มีอะไร ผมเชื่อว่าพนักงานทุกคนอยากให้บริษัทอยู่รอด ประคองตัวได้ พนักงานก็อยู่ได้เช่นกัน
           2. ต้องบอกทิศทางให้ชัดเจนกับพนักงานว่า ทางรอดของบริษัทต้องทำอย่างไร เพราะทุกคนอยากรอดอยู่แล้ว โดยเฉพาะในช่วงเกิดวิกฤต พนักงานจะอยากฟังสิ่งเหล่านี้มากขึ้น เรือกำลังจะล่ม ทุกคนต้องช่วยกันทำ ถ้าจำเป็นต้องวิดน้ำ ก็ต้องวิด ต้องอุดรูรั่ว ไม่เช่นนั้นก็ตายกันหมด
           3. องค์กรต้องพยายามรักษากระแสเงินสดให้ได้ เพื่อให้บริษัทยังพออยู่รอด
           4. ต้องเห็นอกเห็นใจกัน แสดงออกให้พนักงานเห็นว่าบริษัทมีแนวทางช่วยเหลืออย่างไร

           โดยในช่วงที่ธุรกิจร้านอาหารไม่สามารถเปิดให้บริการได้อย่างเต็มที่ เรามีเวลาหันไปพัฒนา Skills พนักงาน ให้เพิ่มขึ้น เราสอนให้เขารู้จัก Unlearn และ Relearn เรื่องใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา อย่างพนักงานรุ่นใหม่ บางคนต้องไลฟ์ขายของ เพิ่มช่องทางการขายออนไลน์ หรือขายแบบดิลิเวอรี่ให้มากขึ้น เราจึงต้อง Unlearn อะไรบางอย่างแล้วมา Relearn สิ่งใหม่ ซึ่งเป็นเรื่องง่ายสำหรับเด็กอายุ 30 ปีกว่าๆ แต่เป็นเรื่องยากสำหรับคนอายุ 50 ปีกว่าๆ เราเลยต้องปรับทัศนคติพนักงานให้เรียนรู้ รู้จักปรับตัว ถ้าไม่ทำสิ่งใหม่ อาจไม่มีที่ยืนให้สำหรับเราในอนาคต”

   บางส่วนจากบทความ : “Transform for The Future เพิ่มทางรอดและโอกาสทางธุรกิจ” 
   โดย : กองบรรณาธิการ / Section : - / Column : Cover Story

   อ่านบทความฉบับเต็มได้ที่...วารสาร HR Society Magazine ปีที่ 20 ฉบับที่ 237 เดือนกันยายน 2565

 
 


FaLang translation system by Faboba