ฝืนใจ สั่งย้าย ไม่ต้องการความยินยอม ลูกจ้างทำได้จริงหรือ?

โดย

 


 
ฝืนใจ สั่งย้าย ไม่ต้องการความยินยอม
ลูกจ้างทำได้จริงหรือ?

           มีเรื่องเล่าผ่านคดีแรงงานอยู่เรื่องหนึ่ง เป็นเรื่อง Job Rotation ซึ่งอาจารย์กฤษฎ์ขอเรียกว่า “การโยกย้าย” เป็นการย้ายภายในนิติบุคคลเดียวกัน ส่วนจะให้ไปสาขาไหน แห่งหนตำบลใดก็ได้ทั้งนั้น คําสั่งของนายจ้างที่สั่งย้ายลูกจ้างจากที่เคยทำงานเป็นสุขดีอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ ไปจังหวัดลําปาง โดยที่ลูกจ้างนั้นยังคงได้รับสิทธิประโยชน์ไม่ได้ต่ำไปกว่าตอนที่อยู่เชียงใหม่ และตําแหน่งก็ยังเดิมๆ ด้วยซ้ำ แล้วแบบนี้เป็นคำสั่งที่ใช้ได้หรือไม่ได้กันแน่ มาติดตามอ่านกันได้เลย

           คําพิพากษาศาลฎีกาที่ 8559/2558 ลงวันที่ 20 เดือนกรกฎาคม พุทธศักราช 2558 ความแพ่ง เคสนี้โจทก์ (ลูกจ้าง) ฟ้องว่า จําเลยเป็นนายจ้าง และเป็นรัฐวิสาหกิจ วันที่ 22 ตุลาคม 2525 จําเลยว่าจ้างโจทก์เป็นพนักงาน ตําแหน่งนายช่างโทรคมนาคม ขณะฟ้องตําแหน่งนายช่างโทรคมนาคม ระดับ 6 อัตราเงินเดือน 61,210 บาท วันที่ 23 กันยายน 2552 ขณะโจทก์ดํารงตําแหน่งนายช่างโทรคมนาคมส่วนควบคุมคุณภาพ จําเลยโดยผู้แทนมีคําสั่งย้ายโจทก์ ไปดํารงตําแหน่งนายช่างโทรคมนาคม ระดับ 6 จังหวัดลําปาง

           โจทก์ไม่เห็นด้วยจึงโต้แย้งและอุทธรณ์คําสั่งตามลําดับ การกระทําของจําเลยเป็นการแต่งตั้งโยกย้ายไปดํารงตําแหน่งที่ต่ำกว่าเดิม โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่เป็นธรรม เพราะเป็นคําสั่งที่ไม่ตรงตามความสามารถ ไม่เหมาะสม เป็นเหตุให้โจทก์ทําผลงานประเมินตกต่ำ และสภาพการจ้าง โจทก์มีภาระความรับผิดชอบด้านปฏิบัติการเพิ่มขึ้น ทั้งเป็นการตัดสิทธิโจทก์ที่จะได้รับ การจัดสรรเครื่องคอมพิวเตอร์พกพา โทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งลูกจ้างโต้แย้งมาแบบนี้ จึงขอให้ศาลมีคําสั่งเพิกถอนคําสั่งแต่งตั้งโยกย้ายของโจทก์ ให้จําเลยมีคําสั่งย้ายโจทก์กลับทํางานในตําแหน่งเดิม หรือไม่ต่ำกว่าเดิม ให้เลื่อนเงินเดือนประจําปีให้โจทก์ไม่น้อยกว่า 7.5 ของเงินเดือนทุกปี ให้จ่ายค่าเช่าที่พักระหว่างย้ายไปประจําสํานักงานบริการลูกค้า ลําปาง รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 84,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง จนกว่าจะชําระเสร็จแก่โจทก์

เรามาวิเคราะห์ถึงคำให้การ และแก้ไขคําให้การของฝั่งนายจ้าง ก็จะได้สาระสำคัญ ดังนี้

           1. คําสั่งย้ายให้ไปปฏิบัติงานที่สํานักงานบริการลูกค้าลําปาง ลักษณะงานไม่แตกต่างจากงานเดิม และคําสั่งจําเลยเป็นไปตามระเบียบที่สามารถดําเนินการได้ภายในกรอบกฎหมายและเป็นธรรม

           2. ลูกจ้างไปปฏิบัติหน้าที่ มีสิทธิได้รับค่าเช่าที่พักเดือนละไม่เกิน 4,000 บาท ส่วนโทรศัพท์เคลื่อนที่ และเครื่องคอมพิวเตอร์พกพา เป็นลักษณะการจัดสรรให้ผู้ปฏิบัติงานตามลักษณะงาน มิใช่สวัสดิการดังที่โจทก์กล่าวอ้าง

           ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานตรวจสํานวนประชุมปรึกษาแล้ว ศาลแรงงานภาค 5 ฟังข้อเท็จจริงแล้ววินิจฉัยว่า โจทก์ได้รับสิทธิประโยชน์ไม่ต่ำกว่าตําแหน่งเดิม และอัตราค่าจ้างเท่าเดิม คําสั่งย้ายของจําเลยเป็นไปตามระเบียบและวิธีปฏิบัติเพื่อความเหมาะสม ทั้งเป็นประโยชน์สูงสุดต่อองค์กร มิได้เกิดจากการกลั่นแกล้ง จึงเป็นคําสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย

   บางส่วนจากบทความ : “ฝืนใจ สั่งย้าย ไม่ต้องการความยินยอม ลูกจ้างทำได้จริงหรือ?” 
   โดย : กฤษฎ์ อุทัยรัตน์ / Section : กฎหมายแรงงาน / Column : คลายปมปัญหาแรงงาน

   อ่านบทความฉบับเต็มได้ที่...วารสาร HR Society Magazine ปีที่ 20 ฉบับที่ 237 เดือนกันยายน 2565

 
 


FaLang translation system by Faboba