ความเสี่ยง รายงานบนงบการเงินที่สำคัญ

โดย

 


 
ความเสี่ยง รายงานบนงบการเงินที่สำคัญ


           เมื่อพิจารณาจากข้อมูลงบการเงินจะปรากฏความเสี่ยงสำคัญที่องค์องค์กรพึงต้องระมัดระวัง ขอยกตัวอย่างดังต่อไปนี้ ประกอบด้วย

1. สภาพคล่องขององค์กร

           ถือเป็นความเสี่ยงสำคัญประเด็นแรกที่องค์กรควรพึงระมัดระวัง กล่าวคือ องค์กรมีเงินสดเพียงพอที่จะสามารถชำระหนี้สินระยะสั้นได้หรือไม่

           คำว่า ระยะสั้น ตรงนี้มีความสำคัญมาก ซึ่งควรมิใช่มองภาพเดือนต่อเดือน นั่นหมายความว่าสภาพคล่องขององค์กรเป็นอย่างไร ถ้าเพียงพอต่อการจ่ายหนี้สินระยะสั้นเพียงเดือนต่อเดือนก็น่าจะมีความเสี่ยงสูงที่มีโอกาสของความไม่แน่นอนที่อาจจะมีเงินสดไม่เพียงพอจะจ่ายหนี้สินระยะสั้น ดังนั้นหากองค์กรมีเงินสดที่สามารถจะชำระหนี้สินระยะสั้นได้มากกว่า 1 เดือนขึ้นไป ความเสี่ยงก็ลดลงตามลำดับ

           คำว่า เงินสด มีความหมายดังนี้
              • เงินสด
              • เงินฝากธนาคาร
              • เงินลงทุนระยะสั้น
              • ลูกหนี้การค้า = รายการสินทรัพย์หมุนเวียนเร็ว

           ดังนั้นรายการดังกล่าว หากมีจำนวนเงินมากกว่าหนี้สินระยะสั้นมากกว่า 1 เดือน ก็จะทำให้สภาพคล่องขององค์กรมีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น (อย่างไรก็ดี ต้องพึงระมัดระวังเงินลงทุนระยะสั้น ลงทุนในความเสี่ยงสูงหรือไม่ และลูกหนี้การค้า สามารถเก็บเงินได้ตามปกติหรือไม่ เพราะทั้ง 2 รายการก็มีโอกาสที่เกิดความเสี่ยงทำให้ได้เงินสดน้อยลง

           ประเด็นต่อมาที่ต้องพึงระมัดระวัง หนี้สินระยะสั้นมิได้เป็นเพียงหนี้สินหมุนเวียนที่ปรากฏในงบการงิน แต่หนี้สินระยะสั้นที่แท้จริงต้องประกอบด้วย หนี้สินหมุนเวียน + ค่าใช้จ่ายประจำ (Fix Cost)

2. ลูกหนี้การค้า

          ถือเป็นความเสี่ยงสำคัญต่อเนื่องจากความเสี่ยงสภาพคล่อง ซึ่งความเสี่ยงจากลูกหนี้การค้า หากเก็บเงินได้ช้าหรือแย่กว่านั้นเก็บเงินไม่ได้ จะส่งผลต่อสภาพคล่อง - เงินสด ทันที ดังนั้นประเด็นสำคัญก็คือ องค์กรพึงต้องตระหนักถึงมาตรการในการคัดกรองคุณภาพลูกค้า/มาตรการเข้มข้นในการติดตามหนี้/และมาตรการเฝ้าระวัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 หากปรากฏลูกหนี้มีพฤติกรรมที่อาจจะเชื่อได้ว่ากำลังมีปัญหา ซึ่งอาจจะส่งผลต่อการชำระเงิน องค์กรจึงต้องกำหนดมาตรการจัดการอย่างทันเวลา

3. สินค้าคงเหลือ

          รายการสินค้าคงเหลือนับเป็นความเสี่ยงที่สำคัญ คือ องค์กรมีสินค้าคงเหลือบางรายการที่จัดเก็บในคลังสินค้ามากเกินความจำเป็นหรือไม่ เพราะหากสินค้ามีมากเกินความจำเป็นก็จะส่งผลให้องค์กรเกิดต้นทุนจม/ต้นทุนในการจัดเก็บ/มูลค่าสินค้าอาจจะลดลง และที่สำคัญสินค้าเกิดการสูญหาย ซึ่งจะเห็นได้ว่าเป็นการสูญเสียขององค์กร ดังนั้นในภาวะการณ์ปัจจุบัน องค์กรพึงต้องให้ความสำคัญกับแผนการจัดซื้อ กระบวนการออกใบขอซื้อ/ใบสั่งซื้อ พึงต้องมีมาตรการอย่างรัดกุม เพื่อลดผลกระทบจากความเสี่ยงดังที่กล่าวมา

4. ที่ดิน อาคาร และอุปกรณ์

          ที่ดิน อาคาร และอุปกรณ์ เป็นรายการที่ถือว่าเป็นลักษณะของการลงทุน ประเด็นความเสี่ยงที่สำคัญที่ควรต้องพิจารณา คือ การลงทุนคุ้มค่า คุ้มประโยชน์ที่ควรได้รับหรือไม่ ดังนั้นรายการนี้ก็จะมีความเสี่ยงคล้ายกับรายการสินค้าคงเหลือ นั่นหมายความว่า หากการจัดซื้อเพื่อการลงทุนไม่ระวัง กำหนดลักษณะคุณสมบัติ (Specification) ที่สูงเกินกว่าความจำเป็น ต่อการใช้งาน ก็จะเป็นการลงทุนที่ต้องเสียเงินไม่คุ้มค่ากับประโยชน์ที่จะได้รับ และคงจะมีผลกระทบต่อสภาพคล่องขององค์กรด้วยเช่นเดียวกัน

5. คู่ค้า - Supplier

          สำหรับความเสี่ยงของรายการนี้มักไม่ค่อยได้รับความใส่ใจเท่าที่ควร เหตุคงเพราะไประมัดระวังในรายการลูกหนี้การค้า แต่แท้ที่จริงองค์กรควรต้องระมัดระวังอย่างเท่าเทียมกัน โดยเฉพาะผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 คู่ค้า – Supplier ขององค์กรได้รับผลกระทบ และมีโอกาสที่จะไม่สามารถจัดส่งรายการสินค้า/วัตถุดิบที่สำคัญตามที่ทางองค์กรต้องการหรือไม่ ทำนองเดียวกัน รายการสินค้า/วัตถุดิบที่สำคัญ องค์กรพึงพาคู่ค้า - Supplier เพียงรายเดียวหรือไม่ หากใช่ ยิ่งต้องรีบหามาตรการจัดการโอกาสความไม่แน่นอนของเหตุการณ์บางอย่างอาจเกิดขึ้น อันส่งผลกระทบต่อองค์กรในด้านลบนั้นเอง

 

จากบทความ : “12 ความเสี่ยง รายงานบนงบการเงินที่สำคัญ” 
โดย : Mr.knowing Section : Accounting Style / Column : CPD Coach

อ่านบทความฉบับเต็มได้ที่...วารสาร CPD & Account ปีที่ 18 ฉบับที่ 225 เดือนกันยายน 2565

 
 


FaLang translation system by Faboba