ลูกหนี้กรรมการ รายการที่ไม่ควรมองข้าม

โดย

 


 
ลูกหนี้กรรมการ รายการที่ไม่ควรมองข้าม


           ลูกหนี้กรรมการ รายการนี้มักจะมาจากสาเหตุมากมาย ไม่ว่าจะเป็นกรรมการดึงเงินออกจากธุรกิจ รายการที่ไม่รู้ว่าจะลงบัญชีอะไร (เงินหาย ค่าใช้จ่ายที่ลงไม่ได้) ไปจนถึงการที่มีทุนจดทะเบียนสูงแต่ไม่ได้มีการชำระเงินจริง ทำให้ต้องสิงอยู่ในบัญชีนี้ครับ

          การมีบัญชีลูกหนี้กรรมการแบบนี้สะท้อนมุมมองต่าง ๆ ได้อีกหลากหลายมุมสำหรับผู้ที่ใช้งบการเงิน หรือ แม้แต่ทางสรรพากรที่อาจจะเข้ามาตรวจสอบ ดังนี้ครับ

1. ต้นทุนค่าเสียโอกาสในการบริหารเงินสดของธุรกิจ

          ถ้าหากธุรกิจมีเงินสดอยู่ การที่กรรมการไปดึงเงินออกมาเฉย ๆ แทนที่จะเอาไปลงทุน ซื้อของ หรือทำอะไรต่อ ก็เท่ากับว่าเป็นการตัดโอกาสในการบริหาร หรือถ้าหากต้องมีการหมุนเวียนจ่ายหนี้เจ้าหนี้ ค่าจ้างพนักงาน พวกนี้ก็เท่ากับว่าอาจจะทำให้ธุรกิจมีเงินสดที่ขาดมือได้ในอนาคตครับ

2. ความน่าเชื่อถือของงบการเงินลดลง

          อาจจะส่งผลให้ตั้งคำถามต่อว่าธุรกิจบริหารจัดการผลตอบแทนของกรรมการไม่ดีหรือเปล่า ? เพราะถ้าหากบริษัทมีโครงสร้างที่ดี บริหารการเงินดี กรรมการไม่น่าจะต้องมายุ่งกับเงินของบริษัท หรือการลงบัญชีที่ไม่ครบถ้วน หมกเม็ด ไปจนถึงประเด็นต่าง ๆ แบบนี้ถ้าอนาคตจะขยายธุรกิจ หรือหาหุ้นส่วน หาคนมาลงทุนเพิ่ม ก็อาจจะเกิดคำถามตามมาได้ครับ

3. ประเด็นทางภาษี (ของทางกรมสรรพากร)

          อันนี้คือข้อสำคัญเลยครับ เพราะการกู้ยืมเงินจากบริษัทนั้น เมื่อเป็นเงินกู้ กฎหมายกำหนดไว้ว่าต้องมีการคิดดอกเบี้ยในอัตราตลาดด้วย ตามมาตรา 65 ทวิ (4) ดังนี้ครับ

มาตรา 65 ทวิ (4) ในกรณีโอนทรัพย์สิน ให้บริการ หรือให้กู้ยืมเงิน โดยไม่มีค่าตอบแทน ค่าบริการ หรือดอกเบี้ย หรือมีค่าตอบแทน ค่าบริการ หรือดอกเบี้ยต่ำกว่าราคาตลาดโดยไม่มีเหตุอันสมควร เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินค่าตอบแทน ค่าบริการ หรือดอกเบี้ยนั้น ตามราคาตลาดในวันที่โอน ให้บริการ หรือให้กู้ยืมเงิน

          โดยคำว่า อัตราตลาด ที่ว่านี้จะอ้างอิงตามแหล่งที่มาของเงิน ถ้าเงินเหลือในกิจการ (มีสภาพคล่องดี ไม่มีเงินกู้ยืมใด ๆ) ก็ควรใช้ดอกเบี้ยเงินฝากประจำตามระยะเวลาที่กู้ แต่ถ้าเงินของกิจการนั้นไม่พอ มีเงินกู้มาจากแหล่งทุนอื่น ๆ อัตราตลาดที่ว่านี้ต้องไม่ต่ำกว่าดอกเบี้ยที่กู้ยืมมา ซึ่งตรงนี้จะมีปัญหาในการปรับปรุงทางภาษี นั่นคือ รายได้ดอกเบี้ยเพิ่มครับ และต้องเอารายได้ส่วนนี้มาเสียภาษีด้วย ถือเป็นเงินได้ที่ต้องเสียภาษีเงินได้และภาษีธุรกิจเฉพาะอีกด้วย

          แต่แค่นี้ยังไม่พอครับ เพราะไม่ใช่แค่การคิดดอกเบี้ยแล้วจบ แต่การมีรายการเงินให้กู้ยืม (ลูกหนี้กรรมการ) แบบนี้ทางสรรพากรเองจะสงสัยต่อว่าแล้วรายการพวกนี้มันใช่การกู้เงินจริงไหม ? อาจจะตามไปดูถึงสัญญาเงินกู้ รายละเอียดต่าง ๆ เพื่อให้มั่นใจว่ามีการกู้ยืมจริง ไม่ใช่การนำเงินไปใช้ส่วนตัว เงินหายจากกิจการ หรือปิดบัญชีไม่ลงตัว ฯลฯ ซึ่งก็เป็นหน้าที่ของบัญชีที่ต้องมาตอบปัญหาและจัดการแก้ไขเรื่องนี้กันอีกทีหนึ่งครับ

 

    บางส่วนจากบทความ : “ลูกหนี้กรรมการ VS เจ้าหนี้กรรมการ หนึ่งในปัญหาที่กิจการต้องแก้ไข” 
    โดย : TAX Bugnoms Section : Tax Talk Column : Tax Knowledge

    อ่านบทความฉบับเต็มได้ที่...วารสาร CPD & Account ปีที่ 18 ฉบับที่ 225 เดือนกันยายน 2565

 
 


FaLang translation system by Faboba