สัญญาแลกเปลี่ยนทรัพย์สิน

โดย

 


 
สัญญาแลกเปลี่ยนทรัพย์สิน


           สัญญาแลกเปลี่ยนทรัพย์สิน ถือเป็นสัญญาที่เกิดขึ้นมาอย่างยาวนาน และแม้ในปัจจุบันสัญญาแลกเปลี่ยนจะได้รับความนิยมน้อยลง เพราะคนนิยมใช้เงินเป็นสื่อกลางในการซื้อทรัพย์สินกันก็ตาม แต่สัญญาแลกเปลี่ยนก็ใช่ว่าจะหมดความสำคัญไปเสียทีเดียว เพราะในบางสถานการณ์ ผู้ประกอบกิจการก็อาจจะมีโอกาสหรือมีความจำเป็นต้องใช้สัญญาแลกเปลี่ยนได้

ความหมายของสัญญาแลกเปลี่ยน

          สัญญาแลกเปลี่ยนเป็นสัญญาประเภทหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มีลักษณะเป็นสัญญาที่คู่กรณี (คู่สัญญา 2 ฝ่าย) ต่างฝ่ายต่างโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินให้กันและกัน โดยสามารถแบ่งลักษณะสำคัญของสัญญาแลกเปลี่ยนได้ดังนี้

          1. สัญญาแลกเปลี่ยนมีคู่สัญญา 2 ฝ่าย ฝ่ายหนึ่งเรียกว่า คู่กรณีฝ่ายที่ 1 อีกฝ่ายหนึ่งเรียกว่า คู่กรณีฝ่ายที่ 2 แต่ละฝ่ายจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือเป็นนิติบุคคลก็ได้ หากเป็นนิติบุคคลการแลกเปลี่ยนนั้นจะต้องอยู่ในกรอบวัตถุประสงค์ของนิติบุคคลนั้น
          2. วัตถุแห่งสัญญาแลกเปลี่ยน คือ ทรัพย์สิน (วัตถุมีรูปร่างหรือวัตถุที่ไม่มีรูปร่าง ซึ่งอาจมีราคาและถือเอาได้) ซึ่งจะเป็นสังหาริมทรัพย์ เช่น นาฬิกา รถยนต์ หรือเป็นอสังหาริมทรัพย์ เช่น ที่ดิน อาคาร ก็ได้ อย่างไรก็ดี หากวัตถุแห่งสัญญาเป็นเงินกับทรัพย์สินอื่นที่ไม่ใช่เงิน จะไม่ถือเป็นสัญญาแลกเปลี่ยน แต่จะกลายเป็นสัญญาซื้อขายแทน
          3. คู่กรณีทั้ง 2 ฝ่าย จะต้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่แลกเปลี่ยนกัน หากไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์การแลกเปลี่ยนย่อมไม่อาจเกิดขึ้นได้
          4. วัตถุประสงค์ของสัญญาแลกเปลี่ยน คือ การโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของคู่กรณีแต่ละฝ่ายให้แก่คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่ง
          5. สัญญาแลกเปลี่ยนเป็นสัญญาต่างตอบแทน คู่กรณีทั้ง 2 ฝ่าย ต่างมีสถานะเป็นทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้ซึ่งกันและกัน หากฝ่ายใดไม่ยอมส่งมอบทรัพย์สินให้แก่อีกฝ่าย อีกฝ่ายก็ย่อมมีสิทธิไม่ส่งมอบทรัพย์สินของตนตอบแทนเช่นกัน
          6. เป็นสัญญาที่กฎหมายกำหนดให้นำบทบัญญัติในเรื่องซื้อขายมาใช้ เนื่องจากสัญญาแลกเปลี่ยนกับสัญญาซื้อขายมีลักษณะที่คล้ายกันมาก โดยมีจุดที่เหมือนกันตรงที่คู่กรณีหรือคู่สัญญาทั้ง 2 ฝ่าย ต่างฝ่ายต่างโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่กัน แตกต่างกันเพียงสัญญาซื้อขายคือการโอนเงินแลกกับทรัพย์สิน ส่วนสัญญาแลกเปลี่ยนคือการโอนทรัพย์สินที่ไม่ใช่เงินแลกกับทรัพย์สินที่ไม่ใช่เงิน ดังนั้นกฎหมายจึงกำหนดให้นำหลักเกณฑ์ของสัญญาซื้อขายมาใช้กับสัญญาแลกเปลี่ยนด้วย และให้ถือว่าคู่สัญญาแลกเปลี่ยนเป็นผู้ขายในทรัพย์สินที่ส่งมอบ และเป็นผู้ซื้อในทรัพย์สินที่ได้รับจากการแลกเปลี่ยนนั้น

ประเภทของสัญญาแลกเปลี่ยน

          สัญญาแลกเปลี่ยนมี 2 ประเภท ได้แก่
          1. สัญญาแลกเปลี่ยนทรัพย์สินกับทรัพย์สินโดยไม่มีการเพิ่มเงินให้แก่อีกฝ่ายหนึ่ง โดยทรัพย์สินที่แลกเปลี่ยนกันนั้นจะเป็นชิ้นเดียวหรือหลายชิ้นก็ได้ ตัวอย่างเช่น แลกรถยนต์กับเรือ
          2. สัญญาแลกเปลี่ยนที่โอนเงินเพิ่มเข้ากับทรัพย์สินอื่นเพื่อแลกกับทรัพย์สินของอีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งอาจเกิดจากราคาทรัพย์สินที่ต้องการแลกเปลี่ยนมีมูลค่าไม่สมดุลกัน หรือเป็นกรณีที่คู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีอำนาจต่อรองเหนือกว่า คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งในกรณีที่ต้องเพิ่มเงินด้วยนั้น กฎหมายกำหนดให้บทบัญญัติทั้งหลาย อันว่าด้วยราคาในลักษณะซื้อขายนั้น ให้ใช้ถึงเงินเช่นว่านั้นด้วย (ป.พ.พ. มาตรา 486 - มาตรา 490)

 

     จากบทความ : “สัญญาแลกเปลี่ยนและภาระภาษี” 
     Section: Laws & News / Column: Business Law

     อ่านบทความฉบับสมบูรณ์ได้ที่...วารสารเอกสารภาษีอากร ปีที่ 41 ฉบับที่ 492 เดือนกันยายน 2565
     หรือสมัครสมาชิก “วารสารเอกสารภาษีอากร” เพื่อรับสิทธิอ่านและสืบค้นบทความ ผ่านระบบ e- Magazine Index

 
 


FaLang translation system by Faboba