3 ประเภทส่งออกที่มีสิทธิขอยกเว้นหรือคืนภาษี

โดย

 


 
3 ประเภทส่งออกที่มีสิทธิขอยกเว้นหรือคืนภาษี

1. ผู้ประกอบอุตสาหกรรม

           โดยหลักแล้วผู้ส่งออกที่มีสิทธิขอยกเว้นหรือคืนภาษี คือ “ผู้ประกอบอุตสาหกรรมตามกฎหมายว่าด้วยภาษีสรรพสามิต” ตามกฎกระทรวงฯ ข้อ 4 (1) ซึ่งหมายถึงผู้ผลิตสินค้าที่ต้องเสียภาษีสรรพสามิตตามที่กำหนดไว้ในบัญชีพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิตท้ายพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 แล้วเป็นผู้ส่งสินค้านั้นออกไปยังต่างประเทศหรือนำเข้าไปในเขตปลอดอากรในนามของผู้ประกอบอุตสาหกรรมเอง เช่น บริษัท A เป็นผู้ผลิตสินค้ารถจักรยานยนต์แล้วส่งออกไปยังต่างประเทศหรือนำเข้าไปในเขตปลอดอากรในนามของบริษัท A เอง บริษัท A ย่อมมีสิทธิขอยกเว้นหรือคืนภาษี

          ในการนี้ แม้กฎหมายจะมิได้กำหนดไว้เป็นการเฉพาะว่าผู้ประกอบอุตสาหกรรมดังกล่าวต้องจดทะเบียนสรรพสามิตเท่านั้น แต่ในทางปฏิบัติแล้ว ผู้ประกอบอุตสาหกรรมดังกล่าวจะต้องผ่านการจดเบียนสรรพสามิตมาก่อนเสมอ หากมิได้จดทะเบียนก็จะไม่สามารถขอใช้สิทธินี้ได้

2. ผู้ซื้อหรือผู้ที่ได้รับสินค้าจากผู้ประกอบอุตสาหกรรมเพื่อส่งออกหรือนำเข้าไปในเขตปลอดอากร

          ในบางกรณีผู้ผลิตสินค้าอาจจะมิได้ส่งสินค้าออกไปด้วยตนเอง แต่ผู้ประกอบอุตสาหกรรมอาจจะขายสินค้าให้แก่ผู้ซื้อ เพื่อให้ผู้ซื้อส่งสินค้านั้นออกไปยังต่างประเทศหรือนำเข้าไปในเขตปลอดอากรโดยได้รับความยินยอมจากผู้ประกอบอุตสาหกรรม หรืออาจจะเป็นกรณีที่ผู้ประกอบอุตสาหกรรมส่งมอบสินค้าให้แก่บุคคลหนึ่ง แล้วบุคคลที่ได้รับมอบนั้นได้ส่งสินค้าออกไปยังต่างประเทศหรือนำเข้าไปในเขตปลอดอากรโดยได้รับความยินยอมจากผู้ประกอบอุตสาหกรรม เช่น บริษัท A ซึ่งเป็นผู้ประกอบอุตสาหกรรมได้ขายหรือส่งมอบสินค้าให้บริษัท B เพื่อให้บริษัท B เป็นผู้ส่งรถจักรยานยนต์ที่บริษัท A ผลิตขึ้นนั้น ออกไปยังต่างประเทศหรือนำเข้าไปในเขตปลอดอากร กรณีเช่นนี้ “ผู้ซื้อหรือผู้ที่ได้รับสินค้าจากผู้ประกอบอุตสาหกรรมเพื่อส่งออกหรือนำเข้าไปในเขตปลอดอากรโดยได้รับความยินยอมจากผู้ประกอบอุตสาหกรรม” ย่อมมีสิทธิที่จะได้รับคืนภาษีหรือยกเว้นภาษี แล้วแต่กรณี

          มีข้อสังเกตว่าเงื่อนไขประการสำคัญของผู้ซื้อหรือผู้ที่ได้รับสินค้าดังกล่าว คือ ต้อง “ได้รับความยินยอมจากผู้ประกอบอุตสาหกรรม” ก่อนเสมอ เหตุผลที่ต้องได้รับความยินยอมเป็นเพราะแท้จริงแล้วบุคคลที่เป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีสรรพสามิตตามกฎหมายคือผู้ประกอบอุตสาหกรรม แต่ผู้รับภาระภาษีคือผู้บริโภค ดังนั้นการขอยกเว้นภาษีหรือขอคืนภาษีดังกล่าวโดยบุคคลซึ่งมิใช่ผู้ประกอบอุตสาหกรรม จึงควรได้รับความยินยอมจากผู้ประกอบอุตสาหกรรมก่อน

          นอกจากนี้ มีประเด็นว่าผู้ซื้อหรือผู้ที่ได้รับสินค้าดังกล่าวนั้นจำกัดเฉพาะผู้ที่ได้ซื้อหรือได้รับสินค้าจากผู้ประกอบอุตสาหกรรมเป็นทอดแรกเท่านั้นใช่หรือไม่ เช่นกรณีตามตัวอย่าง หากมีการขายรถจักรยานยนต์ต่อไปให้บริษัท C แล้วส่งออกไปยังต่างประเทศหรือนำเข้าไปในเขตปลอดอากร บริษัท C จะมีสิทธิขอยกเว้นหรือคืนภาษีได้หรือไม่ ในกรณีนี้เมื่อพิจารณากฎหมายอนุบัญญัติที่ออกตามความในพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2527 ซึ่งเป็นช่วงก่อนวันที่ 16 กันยายน 2560 ที่กฎหมายเก่ายังคงมีผลใช้บังคับ ได้กำหนดให้เฉพาะผู้ที่ได้ซื้อหรือได้รับสินค้าจากผู้ประกอบอุตสาหกรรมเป็นทอดแรกเท่านั้นที่จะมีสิทธิ และเมื่อพิจารณาจากกฎหมายอนุบัญญัติของกรมสรรพสามิตในปัจจุบันตามพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 ไม่ปรากฏว่าได้มีการกำหนดไว้ในลักษณะเช่นนี้ด้วย อย่างไรก็ตาม แม้กฎหมายจะมิได้กำหนดว่าต้องเป็นทอดแรก แต่ถ้อยคำตามกฎกระทรวงฯ ข้อ 4 (2) ที่กำหนดว่า “ผู้ซื้อหรือผู้ที่ได้รับสินค้าที่ผลิตในราชอาณาจักรจากผู้ประกอบอุตสาหกรรมเพื่อส่งออกนอกราชอาณาจักรหรือนําเข้าไปในเขตปลอดอากรโดยได้รับความยินยอมจากผู้ประกอบอุตสาหกรรมนั้น” ย่อมสามารถแยกได้เป็น 2 กรณี คือ “ผู้ซื้อสินค้าที่ผลิตในราชอาณาจักรจากผู้ประกอบอุตสาหกรรม ...” กรณีหนึ่ง และ “ผู้ที่ได้รับสินค้าที่ผลิตในราชอาณาจักรจากผู้ประกอบอุตสาหกรรม ...” อีกกรณีหนึ่ง ดังนั้นผู้ที่ขอยกเว้นหรือคืนภาษีสรรพสามิตในกรณีนี้จึงหมายถึงผู้ซื้อสินค้าทอดแรกจากผู้ประกอบอุตสาหกรรมเท่านั้น กรณีตามตัวอย่าง บริษัท C จึงไม่มีสิทธิขอยกเว้นหรือคืนภาษี

3. บุคคลอื่น

          การที่กฎกระทรวงฯ กำหนดผู้มีสิทธิขอยกเว้นหรือคืนภาษีสรรพสามิตไว้ในข้อ 4 (1) “ผู้ประกอบอุตสาหกรรมตามกฎหมายว่าด้วยภาษีสรรพสามิต” และ ข้อ 4 (2) “ผู้ซื้อหรือผู้ที่ได้รับสินค้าที่ผลิตในราชอาณาจักรจากผู้ประกอบอุตสาหกรรม ...” ทำให้ดูเหมือนว่าสิทธิประโยชน์เกี่ยวกับการส่งออกตามกฎหมายภาษีสรรพสามิต ให้สิทธิเฉพาะสินค้าที่ผลิตในประเทศเท่านั้น อาจทำให้เกิดข้อสงสัยว่าหากเป็นสินค้าที่นำเข้ามาแล้วส่งกลับออกไป จะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีสรรพสามิตในเรื่องนี้หรือไม่ ในกรณีนี้ นอกจากผู้ประกอบอุตสาหกรรมผู้ซื้อหรือผู้ที่ได้รับสินค้าจากผู้ประกอบอุตสาหกรรมดังกล่าวแล้ว กฎกระทรวงฯ และประกาศกรมสรรพสามิตฯ ยังได้กำหนดให้ “บุคคลอื่น” มีสิทธิขอคืนภาษีได้ด้วย ดังนั้นผู้ที่นำสินค้าเข้ามาแล้วและได้เสียภาษีไว้แล้ว หากจะส่งสินค้านั้นกลับออกไปก็มีสิทธิที่จะได้รับคืนภาษี

          อนึ่ง ผู้ส่งออกที่มีสิทธิได้รับยกเว้นหรือคืนภาษีดังที่กล่าวมาตามข้อ 1 - 3 อาจเป็นบุคคลธรรมดา นิติบุคคล กิจการร่วมค้า กิจการร่วมทุน หรือคณะบุคคลก็ได้ ต่างจากกฎหมายเก่าที่กำหนดให้สิทธิเฉพาะนิติบุคคลเท่านั้น

จากบทความ : “สิทธิประโยชน์ทางภาษีสรรพสามิต สินค้าส่งออก” 
Section: Tax Talk / Column: Excise Tax

อ่านบทความฉบับสมบูรณ์ได้ที่...วารสารเอกสารภาษีอากร ปีที่ 41 ฉบับที่ 492 เดือนกันยายน 2565 หรือสมัครสมาชิก “วารสารเอกสารภาษีอากร” เพื่อรับสิทธิอ่านและสืบค้นบทความ ผ่านระบบ e- Magazine Index

 
 


FaLang translation system by Faboba