ของที่ได้รับการยกเว้นอากรโดยใช้ A.T.A. Carnet

โดย

 


 
ของที่ได้รับการยกเว้นอากรโดยใช้ A.T.A. Carnet


           ของที่ได้รับการยกเว้นอากรโดยใช้ A.T.A. Carnet “หรือเอกสารค้ำประกัน ซึ่งมักจะเรียกกันอีกชื่อหนึ่งว่า “หนังสือเดินทางสำหรับสินค้า” (A.T.A. Carnet Passport of Your Goods) เมื่อแบ่งเป็น 2 กรณีคือ

          กรณีที่ 1 หมายถึง “ของที่นำเข้ามาเป็นการชั่วคราว” โดยจะส่งกลับออกไปนอกราชอาณาจักรภายในไม่เกิน 6 เดือน นับแต่วันที่นำเข้ามา ซึ่งในกรณีนี้มีสิทธิได้รับการยกเว้นอากรตามพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 ภาค 4 ประเภทที่ 3
          กรณีที่ 2 หมายถึง “ของที่ส่งออกเป็นการชั่วคราว” และภายหลังนำกลับเข้ามาในราชอาณาจักรภายใน 1 ปี โดยไม่เปลี่ยนแปลงลักษณะหรือรูปแต่อย่างใด และในเวลาที่ส่งออกนั้นได้รับใบสุทธิสำหรับนำกลับเข้ามาแล้ว ซึ่งในกรณีนี้มีสิทธิได้รับการยกเว้นอากรตามพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 ภาค 4 ประเภทที่ 1 ทั้งนี้ ในการปฏิบัติพิธีการศุลกากรเพื่อยกเว้นอากรสามารถใช้เอกสารค้ำประกัน A.T.A. Carnet ได้ โดยจะต้องไม่เกินอายุของเอกสารค้ำประกันดังกล่าว

          นอกจากนี้ ของที่ได้รับการยกเว้นอากรดังกล่าว ต้องอยู่ภายใต้หลักเกณฑ์ที่กำหนดในอนุสัญญา ดังนี้
          (1) อนุสัญญาระหว่างประเทศเพื่ออำนวยความสะดวกสำหรับการนำเข้าตัวอย่างสินค้าทางการค้าและวัตถุในการโฆษณา พ.ศ. 2495 (ค.ศ. 1952) ซึ่งมักพบว่าใช้กับการนำเข้าตัวอย่างสินค้าเป็นหลัก

          (2) อนุสัญญาศุลกากรว่าด้วยการนำเครื่องมือสำหรับใช้ในวิชาชีพเข้าชั่วคราว พ.ศ. 2504 (ค.ศ. 1961) โดยมีอุปกรณ์วิชาชีพต่าง ๆ ยกตัวอย่างได้ ดังนี้
               (2.1) เครื่องมือสำหรับใช้ในวิชาชีพการสร้างภาพยนตร์ ได้แก่ กล้องถ่ายภาพยนตร์ กล้องถ่ายภาพ
               (2.2) เครื่องมือสำหรับใช้ในวิชาชีพด้านความบันเทิง ได้แก่ วงดนตรีออร์เคสตรา รวมทั้งอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ใช้ประกอบการแสดงดนตรีนั้น
               (2.3) เครื่องมือสำหรับใช้ในวิชาชีพด้านการสำรวจภูมิประเทศหรืองานสำรวจทางภูมิศาสตร์ต่าง ๆ
               (2.4) เครื่องมือและเครื่องใช้ที่จำเป็นสำหรับแพทย์ ศัลยแพทย์ สัตวแพทย์ หรือการผดุงครรภ์
               (2.5) เครื่องมือสำหรับใช้ในวิชาชีพอื่น ๆ ที่จำเป็นแก่วิชาชีพ เช่น เครื่องมือในการควบคุม บำรุงรักษา การซ่อมแซม หรือเครื่องมือที่จำเป็นในทางธุรกิจ

          (3) อนุสัญญาศุลกากรเกี่ยวกับการอำนวยความสะดวกสำหรับการนำของเข้าเพื่อนำออกแสดงหรือใช้ในงานนิทรรศการ งานแสดงสินค้า งานประชุม หรือเหตุการณ์อื่น ๆ ที่คล้ายคลึงกัน พ.ศ. 2504 (ค.ศ. 1961) คือ การนำของมาใช้เพื่อประโยชน์ในการจัดนิทรรศการ งานแสดงสินค้าหรือการจัดประชุม ได้แก่
               (3.1) ของที่นำเข้ามาเพื่อนำออกแสดงหรือสาธิตในงานนิทรรศการ งานแสดงสินค้า หรืองานประชุม
               
(3.2) ของที่นำเข้ามาเพื่อใช้เกี่ยวข้องกับการนำสินค้าต่างประเทศออกแสดงในงานนิทรรศการ งานแสดงสินค้า หรืองานประชุม
               (3.3) เครื่องมือเครื่องใช้ต่าง ๆ รวมถึงอุปกรณ์การแปล เครื่องมือสำหรับการบันทึกเสียงและภาพยนตร์เกี่ยวกับการศึกษา วิทยาศาสตร์ หรือวัฒนธรรม สำหรับใช้ในการประชุมระหว่างประเทศ
               (3.4) ฟิล์มภาพยนตร์โฆษณาโพสิทีฟ ขนาดไม่เกิน 16 มม. ที่มีภาพแสดงให้เห็นถึงลักษณะหรือการทำงานของผลิตภัณฑ์หรือเครื่องมืออุปกรณ์ที่ไม่สามารถสาธิตได้โดยเพียงการดูจากตัวอย่างสินค้าหรือแค็ตตาล็อก

          (4) อนุสัญญาศุลกากรว่าด้วยการนำเข้าชั่วคราว ซึ่งบริภัณฑ์ทางวิทยาศาสตร์ พ.ศ. 2511 (ค.ศ. 1968) ได้แก่
               (4.1) เครื่องมือวิทยาศาสตร์ที่ใช้ในการวิจัยหรือการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ และเครื่องอะไหล่ของเครื่องมือดังกล่าว
               (4.2) เครื่องมือทางช่างที่ใช้บำรุงรักษา ทดสอบ วัด หรือซ่อมแซม เครื่องมือวิทยาศาสตร์ที่ใช้ในการวิจัย หรือการศึกษาทางวิทยาศาสตร์
          ทั้งนี้ ของหรือสินค้าตามที่กล่าวมาข้างต้นนั้น ต้องเป็นไปตามคุณสมบัติ หลักเกณฑ์ และเงื่อนไขตามที่อนุสัญญาฯ ที่เกี่ยวข้องกำหนดไว้ด้วย

จากบทความ : “การนำของเข้าและส่งของออก โดยใช้เอกสารค้ำประกัน : A.T.A. Carnet” 
Section: Tax Talk / Column: Customs Duty

อ่านบทความฉบับสมบูรณ์ได้ที่...วารสารเอกสารภาษีอากร ปีที่ 41 ฉบับที่ 492 เดือนกันยายน 2565 หรือสมัครสมาชิก “วารสารเอกสารภาษีอากร” เพื่อรับสิทธิอ่านและสืบค้นบทความ ผ่านระบบ e- Magazine Index

 
 


FaLang translation system by Faboba