ลาป่วย ลากิจบ่อยๆ ยังไงคือหย่อนสมรรถภาพ แล้วเลิกจ้าง จะเป็นธรรมหรือไม่?

โดย

 


 
ลาป่วย ลากิจบ่อยๆ ยังไงคือหย่อนสมรรถภาพ
แล้วเลิกจ้าง จะเป็นธรรมหรือไม่?

         

         “การที่ลูกจ้างลาป่วย ลากิจบ่อยๆ นายจ้างเขาก็ตักก็เตือนกันไป แต่ลูกจ้างก็ยังไม่ปรับปรุงตัว พฤติการณ์ดังกล่าวถือว่าเป็นการหย่อนสมรรถภาพในการทํางานไหม? นายจ้างเลิกจ้างด้วยเหตุนี้ได้ไหม เป็นเหตุผลอันสมควรและเพียงพอที่จะไม่ให้เป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรมหรือเปล่า? มาดูกันว่า…

         (1) การหย่อนสมรรถภาพในหน้าที่การทํางานนั้น ต้องดูหน้าที่ลูกจ้างด้วยว่า ความสามารถในการทํางาน กับการย่อหย่อนของขีดความสามารถนั้น มันหล่นมากี่ขีด อย่างเคสลูกจ้างทำหน้าที่เดินเครน ต้องใช้เวลาและความสามารถในการทํางานตามที่นายจ้างเขาได้มอบหมายให้สําเร็จเต็มกำลังความสามารถ ดังนั้น การลาป่วย ลากิจบ่อยๆ จนต้องออกหนังสือเตือน ดูแล้วจ้างมาทำงานไม่คุ้มค่า เอาแต่จะหนีงาน ลาไปเรื่อย

         (2) การลาหยุดงาน แม้ว่าลูกจ้างมีสิทธิที่จะอ้าง และนายจ้างใจดีอนุญาตให้ไป ก็ต้องเกรงใจกันหน่อย อย่ามองเรื่องสิทธิที่มีตะพึดตะพือว่าจะใช้ให้เกลี้ยง ซึ่งถ้าคิดจะเป็นมนุษย์เงินเดือน สำนึกต้องมีและอายต่อความถี่ในการใช้สิทธิไว้บ้างก็ดี เมื่อเราอยากได้เงินเดือนค่าจ้างเต็มตามสัญญาจ้าง เราก็ต้องทำงานเต็มที่ เต็มวันและเวลาด้วย จึงจะแฟร์และสมเหตุสมผล

         (3) การประเมินผลการปฏิบัติงาน อยู่ในระดับที่ต้องปรับปรุง (บริษัทนี้ ถือว่าเกรด C ไม่เข้าตากรรมการ ซึ่งแต่ละนายจ้างต้องไปกำหนดเกณฑ์เอาเอง) ติดต่อกัน มันสะท้อนถึงอาการสาละวันเตี้ยลงของผลงาน และแสดงถึงความไม่สามารถในการทํางานที่พลอยลดน้อยถอยลงไปอย่างต่อเนื่องเสมอๆ ด้วย

         (4) นายจ้างเขาให้โอกาส ไม่ได้คิดเลิกจ้างโดยทันทีหลังจากที่มีผลการประเมินดังกล่าวออกมา แต่ยังมอบโอกาสให้แสดงความสามารถ ให้แก้ไขฟื้นฟู แถมเปิดเป็นโครงการพัฒนาปรับปรุงประสิทธิภาพการทํางานของพนักงาน เพื่อหวังให้การทํางานดีขึ้น

         (5) การจะเลิกจ้างใครด้วยเหตุนี้ ควรมีเขียนไว้ในระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทํางานให้ชัดเจน ก็ยิ่งเพิ่มความหนักแน่นในการพิจารณาเลิกจ้าง หรือให้พ้นสภาพการเป็นพนักงานง่ายขึ้น จึงเป็นการตอกย้ำการเลิกจ้างที่มีน้ำหนัก และเหตุผลอันสมควรและเพียงพอ มิใช่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ตรงนี้แนะนำให้อยู่ในหมวด หรือเรื่อง “ให้ออก” โดยนายจ้างต้องยอมจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้ากับค่าชดเชย ฉะนั้น ลูกจ้างมาฟ้องเรียกร้องขอค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม จึงเป็นเรื่องที่ไม่มีทางเป็นไปได้อย่างแน่นอน

         ดังนั้น จับหลักให้แม่นว่า การเลิกจ้างเป็นธรรมหรือไม่เป็นธรรม ให้ดูกันที่มูลเหตุแห่งการเลิกจ้างเป็นสําคัญ ไม่ว่าจะเป็นเหตุทางฝ่ายนายจ้าง หรือเหตุทางฝ่ายลูกจ้าง โดยพิจารณาว่านายจ้างมีเหตุผลอันสมควร และเพียงพอที่จะเลิกจ้างลูกจ้างหรือไม่ ถ้าไม่อ่านกฎหมายให้ทะลุ ไม่เข้าใจบริบทแห่งพฤติการณ์ ไม่แม่นงาน HR ปรับใช้ไม่เป็น แถมไม่ขยันอ่านฎีกาหรือคำพิพากษาคดีแรงงานเยอะๆ ก็ไม่สามารถปั้นน้ำให้เป็นตัว (น้ำแข็ง) หรือปั้นนามธรรมให้เป็นรูปธรรมไปได้หรอก

 

บางส่วนจากบทความ : “ลาป่วย ลากิจบ่อยๆ ยังไงคือหย่อนสมรรถภาพ แล้วเลิกจ้าง จะเป็นธรรมหรือไม่?”
โดย :
กฤษฎ์ อุทัยรัตน์ / Section : กฎหมายแรงงาน / Column : คลายปมปัญหาแรงงาน

อ่านบทความฉบับเต็มได้ที่...วารสาร HR Society Magazine ปีที่ 20 ฉบับที่ 238 เดือนตุลาคม 2565

 
 


FaLang translation system by Faboba