ขั้นตอนจัดทำงบกระแสเงินสด

โดย

 


 
ขั้นตอนจัดทำงบกระแสเงินสด


     การจัดทำงบกระแสเงินสดส่วนมากนิยมจัดทำโดยวิธีทางอ้อม เนื่องจากมีความสะดวกกว่าวิธีทางตรง โดยตั้งต้นจากกำไรสุทธิตามงบกำไรขาดทุนของกิจการ ซึ่งมีขั้นตอนในการจัดทำดังนี้

     1. คํานวณหาการเปลี่ยนแปลงของสินทรัพย์ หนี้สิน และส่วนของเจ้าของในงบฐานะการเงินของวันสิ้นงวดปัจจุบันและวันสิ้นงวดก่อน

     
2. คํานวณหากระแสเงินสดสุทธิจากกิจกรรมดําเนินงาน โดยเริ่มต้นจากกำไรสุทธิจากงบกําไรขาดทุนสำหรับงวดปัจจุบัน แล้วกระทบยอดรายการที่ไม่ใช่เงินสดและการเปลี่ยนแปลงของสินทรัพย์หมุนเวียนและหนี้สินหมุนเวียนในงบฐานะการเงินของวันสิ้นงวดปัจจุบันและวันสิ้นงวดก่อน รวมถึงข้อมูลเพิ่มเติมอื่นที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของกิจการ

     
หลักการคํานวณหากระแสเงินสดจากกิจกรรมดําเนินงานสามารถดำเนินการได้ 2 วิธี คือ 1. วิธีทางตรง และ 2. วิธีทางอ้อม ซึ่งไม่ว่ากิจการจะเลือกใช้วิธีใดก็ตาม กระแสเงินสดสุทธิจากกิจกรรมดําเนินงานจะมีจำนวนเท่ากันเสมอ ซึ่งส่วนใหญ่นิยมวิธีทางอ้อม

     
3. คํานวณหากระแสเงินสดสุทธิจากกิจกรรมลงทุนและกิจกรรมจัดหาเงิน โดยการวิเคราะห์ข้อมูลจากงบฐานะการเงินเปรียบเทียบและข้อมูลเพิ่มเติมอื่นที่เกี่ยวข้อง

     เพื่อให้เกิดความเข้าใจในการจัดทำกระแสเงินสุทธิจากการดำเนินงานซึ่งมี 2 วิธี ขออธิบายประกอบดังนี้
     
วิธีทางตรง (Direct Method) เป็นวิธีที่แสดงรายการเงินสดรับและเงินสดจ่ายตามลักษณะของรายการที่สำคัญในการคํานวณกระแสเงินสดจากกิจกรรมดําเนินงาน เช่น เงินสดรับจากลูกค้า (ขายสด) และลูกหนี้การค้า (ขายเชื่อ), เงินสดจ่ายให้แก่ผู้ขาย (ซื้อสด) และเจ้าหนี้การค้า (ซื้อเชื่อ), เงินสดจ่ายค่าใช้จ่าย เป็นต้น ทั้งนี้ มาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 7 เรื่อง งบกระแสเงินสด สนับสนุนให้กิจการแสดงกระแสเงินสดจากกิจกรรมดําเนินงานด้วยวิธีทางตรง เนื่องจากเป็นวิธีที่ให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการประมาณการหรือพยากรณ์กระแสเงินสดรับและกระแสเงินสดจ่ายจากกิจกรรมดําเนินงานในอนาคตได้ชัดเจนกว่าวิธีทางอ้อม รวมถึงสามารถนําข้อมูลไปเปรียบเทียบกับงบประมาณเงินสดของกิจการเพื่อช่วยในการปรับปรุงการบริหารงานการเงินให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นได้ด้วย

     วิธีทางอ้อม (Indirect Method) เป็นวิธีที่เริ่มต้นจากกำไรสุทธิจากงบกําไรขาดทุนที่จัดทำตามมาตรฐานรายงานทางการเงิน ปรับปรุงด้วยผลกระทบของรายการที่ไม่เกี่ยวข้องกับเงินสด เช่น ค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจําหน่าย หนี้สงสัยจะสูญ (ผลขาดทุนจากการด้อยค่าของลูกหนี้) เป็นต้น รวมทั้งกําไรหรือขาดทุนที่ได้บันทึกไว้ในงบกำไรขาดทุนที่มีแหล่งที่มาจากกระแสเงินสดจากกิจกรรมลงทุนหรือกิจกรรมจัดหาเงิน เช่น กําไรจากการขายที่ดิน ส่วนลดหรือส่วนเกินมูลค่าหุ้นกู้ที่ตัดจําหน่ายในระหว่างงวด เป็นต้น และการปรับปรุงรายการค้างรับ ค้างจ่าย รับล่วงหน้า และจ่ายล่วงหน้าของเงินสดรับและเงินสดจ่ายที่เกี่ยวข้องกับการดําเนินงานตามเกณฑ์คงค้าง และการเปลี่ยนแปลงในลูกหนี้การค้า สินค้าคงเหลือ และเจ้าหนี้การค้าที่เกิดจากการดําเนินงานในระหว่างรอบระยะเวลารายงาน

     เนื่องจากการจัดทำกระแสเงินสดสุทธิจากการดำเนินงานมี 2 วิธี ดังนั้นรูปแบบของการนําเสนองบกระแสเงินสดด้วยวิธีทางอ้อมจึงแตกต่างจากการนําเสนองบกระแสเงินสดด้วยวิธีทางตรงเฉพาะกระแสเงินสดจากกิจกรรมดําเนินงานเท่านั้น

     และดังที่ทราบกัน กิจการมักจัดทำงบกระแสเงินสดโดยวิธีทางอ้อมมากกว่าวิธีทางตรง เนื่องจากเป็นวิธีที่จัดทำได้ง่ายและสะดวกรวดเร็ว และยังช่วยให้ผู้ใช้งบการเงินสามารถทราบถึงสาเหตุของความแตกต่างระหว่างกําไรขาดทุนตามมาตรฐานรายงานทางการเงินกับกระแสเงินสดสุทธิจากกิจกรรมดําเนินงาน

 

จากบทความ งบกระแสเงินสด งบการเงินที่ควรจัดทำเพื่อการบริหารกิจการ
Section: Smart Accounting / Column: Accounting Update
อ่านบทความฉบับสมบูรณ์ได้ที่...วารสารเอกสารภาษีอากร ปีที่ 43 ฉบับที่ 512
เดือนพฤษภาคม 2567 หรือสมัครสมาชิก “วารสารเอกสารภาษีอากร”
เพื่อรับสิทธิอ่านและสืบค้นบทความ ผ่านระบบ e- Magazine Index

 
 

 

FaLang translation system by Faboba