Quality Control Process ในการจัดทำบัญชี

โดย

 


 
Quality Control Process ในการจัดทำบัญชี


     กระบวนการควบคุมคุณภาพ (Quality Control Process) ที่มีความสำคัญต่อการจัดทำบัญชี ซึ่งสามารถพิจารณาเรียงลำดับดังนี้
     1. เข้าใจในลักษณะของธุรกิจ
     การจัดทำบัญชีได้อย่างถูกต้องหรือไม่ นักบัญชีต้องเข้าในในลักษณะธุรกิจก่อนเป็นอันดับแรก สิ่งสำคัญคือต้องมั่นติดตามว่าธุรกิจขององค์กรที่เราเป็นผู้ทำบัญชีนั้นมีการเปลี่ยนแปลงธุรกิจอย่างไรบ้าง หรือไม่ ซึ่งเราต้องประเมินและวิเคราะห์เผื่อว่าอาจจำเป็นต้องปรับปรุงกระบวนการ การติดตามรวบรวมข้อมูล
     2. เข้าใจกระบวนการปฏิบัติงาน
     นักบัญชีเข้าใจดีอยู่แล้วว่างานของเราคือการติดตาม รวบรวมข้อมูลและเอกสารหลักฐานจากหน่วยงานต่าง ๆ นั้นหมายความว่าการที่เราจะติดตามรวบรวบข้อมูลและเอกสารหลักฐานได้อย่างครบถ้วนหรือไม่ จึงมีความจำเป็นต้องเข้าใจกระบวนการปฏิบัติงานของแต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เทคนิคที่น่าจะนำมาใช้คือการเขียน Work Flow เพื่อสร้างความเข้าใจและประเมินจุดอ่อน
     3. ต้องทบทวนปัญหาที่เคยเกิดขึ้น/หรืออาจจะเกิดขึ้น
     จากข้อ 1. และ 2. สิ่งนักบัญชีต้องทำต่อเนื่องคือการทบทวนปัญหาที่เคยเกิดขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อการจัดทำงบการเงิน หรือเหตุการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นที่จะส่งผลกระทบในทางลบ
     4. ออกแบบกระบวนการ/วิธีการปฏิบัติ การกำหนดเอกสารหลักฐาน
     นักบัญชีก็ควรออกแบบกระบวนการ/วิธีการปฏิบัติงานที่ควรปรับปรุงใหม่ รวมถึงการสรุปข้อมูลและเอกสารหลักฐานสำคัญที่ควรได้รับจากหน่วยงานต่าง ๆ ซึ่งประเด็นนี้นักบัญชีควรนำเสนอเพื่อให้ผู้บริหารได้รับทราบ พิจารณา และขออนุมัติเป็นลำดับต่อไป สิ่งสำคัญคือภายหลังการได้รับการอนุมัติ นักบัญชีควรต้องสื่อสารให้กับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องภายในองค์กรเพื่อรับทราบและขอความร่วมมือ อันจะนำประโยชน์มาสู่องค์กรร่วมกัน
     5. กำหนดแนวการตรวจสอบข้อมูลและเอกสารหลักฐาน
     การตรวจสอบควรกำหนดแนวการตรวจสอบให้ชัดเจน ควรใช้เทคนิคตรวจสอบอย่างไร ข้อแนะนำในการจะใช้เทคนิคในการตรวจสอบ เราควรกำหนดเกณฑ์ในการพิจารณาดังนี้ คือ 1. เพียงพอ เหมาะสม 2. มีความน่าเชื่อถือ 3. มีความถูกต้อง 4. มีความครบถ้วน และเกณฑ์ข้อสุดท้าย 5. ผู้อนุมัติตามระเบียบ
     6. ประยุกต์เนื้อหาสาระ/หลักการบัญชี/หลักการภาษี
     สิ่งที่ต้องทำต่อมาคือ การประยุกต์เนื้อหาสาระที่รวบรวมมาได้กับหลักการบัญชีตามมาตรฐานการรายงานทางการเงิน เพื่อนำไปสู่การรับรู้รายการบัญชีต่อไป ซึ่งนักบัญชีควรต้องตอบได้ว่าเนื้อหาสาระของข้อมูล/เอกสารหลักฐานที่ปรากฏเกี่ยวกับมาตรฐานรายงานทางการเงินฉบับไหน เกณฑ์การรับรู้รายการกำหนดให้ปฏิบัติอย่างไร และในทางภาษีก็เช่นเดียวกัน นักบัญชีก็ควรพิจารณาร่วมด้วยว่าภาษีที่เกี่ยวข้องกำหนดให้ปฏิบัติอย่างไร และเราได้ปฏิบัติอย่างถูกต้องหรือไม่ ภาษีที่เกี่ยวข้องในการพิจารณามีดังนี้ 1. ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 2. ภาษีเงินได้นิติบุคคล 3. ภาษีมูลค่าเพิ่ม 4. ภาษีธุรกิจเฉพาะ 5. ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย และ 6. อากรแสตมป์ (หากบันทึกบัญชีผิด การแก้ไขก็เพียงปรับปรุงรายการ แต่ถ้าทางภาษีปฏิบัติไม่ถูกต้อง การแก้ไขก็จะต้องเสียเบี้ยปรับ เงินเพิ่ม) ดังนั้นหากบริษัทมีค่าใช้จ่ายเบี้ยปรับ เงินเพิ่ม ปรากฏอยู่ก็แสดงให้เห็นภาพได้ว่าบริษัทยังคงมีข้อบกพร่องทางภาษี
     7. กำกับติดตามอย่างใกล้ชิด มั่นทบทวน กำกับดูแลอย่างสม่ำเสมอ
     คุณภาพงานบัญชีที่สำคัญต้องมีการกำกับติดตามอย่างใกล้ชิดว่ายังมีปัญหาเกิดขึ้นอย่างไร หรือไม่ และมั่นทบทวน อย่างน้อยที่สุดภายหลังการปิดงบการเงินประจำปี ควรมีบทสรุปภาพรวมสิ่งที่ควรปรับปรุงกระบวนการควบคุมคุณภาพต่อการจัดทำบัญชีเพิ่มเติม ประกอบกับการนำเสนอรายงานทางการเงิน

     

 

จากบทความ : Quality Control Process ความสำคัญต่อการจัดทำบัญชี
โดย : Mr.knowing / Section : Accounting Style / Column : CPD Coach
อ่านบทความฉบับเต็มได้ที่...วารสาร CPD & Account ปีที่ 21 ฉบับที่ 245 เดือนพฤษภาคม 2567

 
 

 

FaLang translation system by Faboba