10 คำถาม เกี่ยวกับการลาออก

โดย

 


 
10 คำถาม เกี่ยวกับการลาออก


     1. ลาออกคืออะไร?
     ก่อนอื่นต้องเข้าใจในเบื้องต้นเสียก่อนว่า จ้างแรงงานเป็นสัญญาในทางแพ่งประเภทหนึ่ง คู่สัญญาอาจบอกเลิกสัญญาจ้างแรงงานที่มีอยู่แก่กันได้ โดยทั่วไป หากนายจ้างเป็นฝ่ายบอกเลิกสัญญาโดยไม่ให้ลูกจ้างทำงาน และไม่จ่ายค่าจ้าง ถือว่านายจ้างเลิกจ้าง (Dismissal) หากลูกจ้างเป็นฝ่ายบอกเลิกสัญญา ไม่ทำงานให้แก่นายจ้างอีกต่อไป ถือว่าลูกจ้างลาออก (Resignation) การลาออก จึงเป็นการแสดงเจตนาบอกเลิกสัญญาจ้างโดยลูกจ้าง อันมีผลทำให้สัญญาจ้างเป็นอันสิ้นสุดลง

     2. การลาออกต้องทำเป็นหนังสือ หรือลาออกด้วยวาจาก็ได้?
     กฎหมายแรงงาน ไม่ได้กำหนดรูปแบบของการแสดงเจตนาลาออกไว้ ดังนั้น โดยทั่วไปลูกจ้างสามารถบอกเลิกสัญญาจ้างแรงงานด้วยการลาออก อาจทำด้วยวาจาหรือทำเป็นลายลักษณ์อักษรก็ได้

     3. การลาออกจะมีผลได้ ต่อเมื่อนายจ้างยินยอมหรืออนุมัติการลาออก จริงหรือไม่?
     คำตอบคือ ไม่จริง เพราะการลาออกกรณีที่ลูกจ้างแสดงเจตนาขอบอกเลิกสัญญาจ้าง ถือเป็นการแสดงเจตนาฝ่ายเดียว ไม่ใช่เป็นข้อตกลงสองฝ่าย ดังนั้น ลูกจ้างสามารถแสดงเจตนาลาออกได้ โดยไม่จำเป็นต้องได้รับความยินยอมจากนายจ้างซึ่งเป็นคู่สัญญาอีกฝ่าย เมื่อนายจ้างได้รับทราบการแสดงเจตนาลาออกแล้ว สัญญาจ้างเป็นอันสิ้นสุดลง

     4. ลาออกไม่ถูกต้องตามสัญญาจ้างหรือข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน มีผลเช่นใด?
     หากนายจ้างมีข้อตกลงกับลูกจ้างในเรื่องการลาออก โดยอาจตกลงไว้ในสัญญาจ้างหรือระเบียบข้อบังคับฯ ของนายจ้าง เช่น นายจ้างกำหนดให้ลาออกโดยใช้แบบฟอร์มใบลาออกของนายจ้าง หรือการลาออกจากงาน ลูกจ้างต้องยื่นใบลาออกล่วงหน้าก่อนออกจากงานไม่น้อยกว่า 30 วัน และอยู่ทำงานจนครบ ฯลฯ หากลูกจ้างไม่ได้ลาออกโดยใช้แบบฟอร์มใบลาออก ลาออกด้วยวาจา หรือยื่นใบลาออกโดยแจ้งล่วงหน้าน้อยกว่าระยะเวลาที่กำหนดไว้ในระเบียบข้อบังคับฯ สัญญาจ้างก็มีผลสิ้นสุดลงตามการแสดงเจตนาของลูกจ้าง แม้นายจ้างไม่อนุมัติการลาออก สัญญาจ้างเป็นอันสิ้นสุดลง

     5. การลาออกที่ถูกต้อง ลูกจ้างต้องยื่นใบลาออกล่วงหน้านานเท่าใด?
     กรณีแรก นายจ้างมีระเบียบหรือข้อบังคับการทำงานกำหนดระยะเวลายื่นใบลาออกไว้ การลาออกก็ถือตามที่ได้ตกลงกันไว้นั้น
     กรณีที่สอง หากนายจ้างและลูกจ้างไม่ได้กำหนดระยะเวลาการบอกกล่าวล่วงหน้าก่อนการลาออกมีผลไว้เป็นการเฉพาะ ระยะเวลาบอกกล่าวล่วงหน้าจะต้องเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด

     6. เมื่อลูกจ้างแสดงเจตนาลาออกต่อนายจ้างแล้ว หากใบลาออกยังไม่มีผล ลูกจ้างถอนใบลาออกได้หรือไม่?
     ดังที่กล่าวมาข้างต้น การลาออกเป็นการแสดงเจตนาขอบอกเลิกสัญญาจ้างโดยลูกจ้าง การแสดงเจตนาดังกล่าวเมื่อแสดงต่อนายจ้างแล้ว แม้ใบลาออกยังไม่เป็นผล ลูกจ้างจะถอนการแสดงเจตนาลาออกไม่ได้

     7. หลังยื่นใบลาออกแล้ว ลูกจ้างกระทำผิดหรือทิ้งงาน ไม่กลับมาทำงานอีกเลย ผลเป็นเช่นใด?
     ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า เมื่อลูกจ้างยื่นใบลาออก แม้นายจ้างอนุมัติการลาออกไปแล้ว ในระหว่างที่ยังไม่ถึงกำหนดเวลาพ้นสภาพจากการเป็นลูกจ้าง ตามที่กำหนดไว้ในใบลาออก ลูกจ้างยังคงสถานภาพเป็นลูกจ้าง นายจ้างยังคงเป็นนายจ้าง ดังนั้น แต่ละฝ่ายย่อมมีสิทธิและหน้าที่ตามที่กฎหมายบัญญัติ หรือตามที่ตกลงกันไว้

     8. หากนายจ้างให้ลูกจ้างออกจากงานก่อนครบกำหนดในใบลาออก โดยจ่ายค่าจ้างให้จนครบ ถือว่านายจ้างเลิกจ้างหรือผิดสัญญาจ้างหรือไม่?
     ในกรณีที่ลูกจ้างยื่นใบลาออก โดยขอให้สัญญาจ้างสิ้นสุดลงตามวันที่ระบุในใบลาออก หากนายจ้างให้ลูกจ้างออกจากงานก่อนครบกำหนดในใบลาออก จะถือเป็นการเลิกจ้างหรือลาออก กรณีนี้ศาลฎีกาเคยตัดสินว่า สัญญาสิ้นสุดลงเพราะการลาออกไม่ถือเป็นการเลิกจ้าง ทั้งนี้ เพราะลูกจ้างเป็นฝ่ายแสดงเจตนาขอบอกเลิกสัญญาจ้างก่อน แม้นายจ้างไม่ได้แสดงเจตนาอะไร สัญญาจ้างย่อมสิ้นสุดลงเมื่อถึงวันที่ระบุให้ใบลาออกมีผล นายจ้างเป็นเพียงยืนยันการแสดงเจตนาของลูกจ้างเท่านั้น

     9. ลาออกโดยสมัครใจหรือถูกข่มขู่ มีผลทางกฎหมายเช่นใด?
     การแสดงเจตนาลาออกที่จะมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย จะต้องเป็นการแสดงเจตนาโดยสมัครใจปราศจากการถูกบังคับข่มขู่ หากลูกจ้างเป็นฝ่ายสมัครใจลาออกเอง การลาออกมีผลทำให้สัญญาจ้างเป็นอันสิ้นสุดลงด้วยการลาออก ปัญหามักเกิดขึ้นในกรณีที่ลูกจ้างเขียนใบลาออกกับนายจ้างแล้ว มาอ้างในภายหลังว่าไม่ได้สมัครใจลาออก แต่ถูกนายจ้างข่มขู่จึงยอมเขียนใบลาออก ปัญหาว่ากรณีเช่นใดที่จะถือเป็นการข่มขู่ที่จะมีผลทำให้การแสดงเจตนาลาออกเสียไปหรือไม่สมบูรณ์ หลักในทางกฎหมายแพ่งการข่มขู่ที่จะมีผลทำให้นิติกรรมตกเป็นโมฆียะ จะต้องร้ายแรงถึงขนาดที่จะจูงใจให้ผู้ถูกข่มขู่มีมูลต้องกลัว และเป็นการข่มขู่ที่จะเกิดภัยอันใกล้จะถึง (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164) ลำพังการที่นายจ้างว่ากล่าว ตำหนิการทำงานของลูกจ้างและเสนอให้ลูกจ้างลาออกก็ดี ขู่ว่าหากลูกจ้างไม่เขียนใบลาออกจะถูกสอบสวนทางวินัยก็ดี หรือจะถูกเลิกจ้างก็ดี โดยทั่วไปยังไม่ถือว่าเป็นการข่มขู่ตามกฎหมาย

     10. ลูกจ้างที่ลาออกเอง มีสิทธิอย่างไรบ้าง?
     กฎหมายคุ้มครองแรงงาน ไม่ได้บัญญัติคุ้มครองสิทธิของลูกจ้างในกรณีที่ลูกจ้างสมัครใจลาออกไว้ ลูกจ้างที่ลาออกจึงไม่มีสิทธิได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ไม่ได้รับค่าชดเชย และไม่ได้รับค่าเสียหายจากการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม เพราะลูกจ้างที่จะได้รับเงินเหล่านี้ก็ต่อเมื่อถูกนายจ้างเลิกจ้างเท่านั้น

     

 

บางส่วนจากบทความ : 10 คำถาม เกี่ยวกับการลาออก โดย : พงษ์รัตน์ เครือกลิ่น / Section :
กฎหมายแรงงาน / Column : กฎหมายคุ้มครองแรงงาน
อ่านบทความฉบับเต็มได้ที่...วารสาร HR Society ปีที่ 22 ฉบับที่ 257 เดือนพฤษภาคม 2567

 
 

 

FaLang translation system by Faboba