สิทธิประกันสังคม “เริ่มต้น” คุ้มครองผู้ประกันตน เมื่อใด?

โดย

 


 
สิทธิประกันสังคม “เริ่มต้น” คุ้มครองผู้ประกันตน เมื่อใด?


     มาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 บัญญัติว่า “ผู้ประกันตน” หมายความว่า ผู้ซึ่งจ่ายเงินสมทบอันก่อให้เกิดสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนตามพระราชบัญญัตินี้ ดังนั้น เมื่อผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมครบตามเงื่อนเวลาอันก่อให้เกิดสิทธิตามที่กฎหมายประกันสังคมกำหนดไว้ จึงถือว่าเป็นผู้มีสิทธิได้รับความคุ้มครองจากกองทุนประกันสังคมโดยสมบูรณ์
     (1) กรณีการประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยที่ไม่เนื่องจากการทำงานให้กับนายจ้าง (ถ้าประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงาน ต้องใช้สิทธิจากกองทุนเงินทดแทน) ผู้ประกันตนมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทน “เมื่อภายในระยะเวลา 15 เดือน ก่อนวันรับบริการทางการแพทย์ ผู้ประกันตนได้จ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 เดือน (3/15)” (มาตรา 62)
     (2) กรณีคลอดบุตร ผู้ประกันตนมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทน “ต่อเมื่อภายในระยะเวลา 15 เดือน ก่อนวันรับบริการทางการแพทย์ ผู้ประกันตนได้จ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 เดือน (5/15)” (มาตรา 65)
     (3) กรณีทุพพลภาพ หมายความว่า การสูญเสียอวัยวะ หรือสูญเสียสมรรถภาพของอวัยวะ หรือของร่างกาย หรือสูญเสียสภาวะปกติของจิตใจจนทำให้ความสามารถในการทำงานลดลง ถึงขนาดไม่อาจประกอบการงานตามปกติได้ตามหลักเกณฑ์ที่เลขาธิการประกาศกำหนดโดยคำแนะนำของคณะกรรมการการแพทย์ ผู้ประกันตนมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทน “ต่อเมื่อภายในระยะเวลา 15 เดือน ก่อนวันรับบริการทางการแพทย์ ผู้ประกันตนได้จ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 เดือน (3/15)” (มาตรา 69)
     (4) กรณีตาย ผู้ประกันตนมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทน “ถ้าภายในระยะเวลา 6 เดือน ก่อนถึงแก่ความตาย ผู้ประกันตนได้จ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 เดือน (1/6)” (มาตรา 73)
     (5) กรณีสงเคราะห์บุตร ผู้ประกันตนมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทน “เมื่อภายในระยะเวลา 36 เดือน ก่อนเดือนที่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทน ผู้ประกันตนได้จ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 12 เดือน (12/36)” (มาตรา 74)
     (6) กรณีว่างงาน ผู้ประกันตนมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทน “เมื่อผู้ประกันตนได้จ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน และต้องอยู่ภายในระยะเวลา 15 เดือน ก่อนการว่างงาน (6/15)” (มาตรา 76)
     สิทธิประโยชน์ทั้ง 6 กรณีข้างต้น กำหนดเงื่อนเวลาจ่ายเงินสมทบเพื่อกำหนดวัน “เริ่มต้น” และ “กรอบเวลาสิ้นสุด” ในความคุ้มครองผู้ประกันตนต่างกัน เช่น กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย และกรณีทุพพลภาพ ต้องจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 เดือน และกรอบเวลาสิ้นสุด คือ ภายใน 15 เดือน หมายความว่า เมื่อนับย้อนหลังนับแต่วันที่เข้ารับบริการทางการแพทย์ไป 15 เดือน ผู้ประกันตนต้องมีการจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 เดือน ผู้ประกันตนจะได้รับบริการทางการแพทย์หรือได้รับความคุ้มครองจากกองทุนประกันสังคม หรือกรณีคลอดบุตร ถ้านับย้อนหลังไป 15 เดือน นับแต่วันที่เข้ารับบริการทางการแพทย์ ผู้ประกันตนต้องจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 เดือน ผู้ประกันตนจะได้รับความคุ้มครองในกรณีคลอดบุตร หรือกรณีตาย ถ้านับย้อนหลังไป 6 เดือน นับแต่วันที่ผู้ประกันตนถึงแก่ความตาย ผู้ประกันตนต้องจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 เดือน เป็นต้น

     

 

บางส่วนจากบทความ : สิทธิประกันสังคม “เริ่มต้น” คุ้มครองผู้ประกันตน เมื่อใด?
โดย : ปรานี สุขศรี / Section : กฎหมายแรงงาน / Column : ประกันสังคม
อ่านบทความฉบับเต็มได้ที่...วารสาร HR Society ปีที่ 22 ฉบับที่ 257 เดือนพฤษภาคม 2567

 
 

 

FaLang translation system by Faboba