ความท้าทายของการบริหาร องค์กรสื่อในยุคดิจิทัล

โดย

 


 
ความท้าทายของการบริหาร องค์กรสื่อในยุคดิจิทัล


     Cover Story ฉบับเดือนมิถุนายนนี้ คุณหนุ่ย-พงศ์สุข หิรัญพฤกษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โชว์ไร้ขีด จำกัด ผู้ให้กำเนิดแบรนด์ “BT Beartai” องค์กรสื่อชั้นนำระดับแนวหน้าของเมืองไทย มาพูดคุยถึงจุดเริ่มต้นในการก้าวสู่เส้นทางสาย IT รวมถึงการบริหารพนักงานในองค์กร การทำงานในยุคที่เทคโนโลยีเติบโตอย่างไม่หยุดยั้ง และการ Upskill พนักงานเพื่อสร้างทักษะสู่อนาคต

     “BT Beartai” for a Better Tomorrow
     “แบไต๋กำลังเตรียมเข้าตลาดหลักทรัพย์ เรามีเป้าหมายในการเติบโตมากกว่าธุรกิจสื่อ และเราเพิ่งรีแบรนด์เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เปลี่ยนชื่อเป็น BT Beartai มีสโลแกนว่า For a Better Tomorrow คือ เราจะเป็นผู้สื่อสารความรู้ที่ดูสนุกและไปได้กับโลกปัจจุบัน ซึ่งมีสื่อสาระเหลือน้อยลง ต้องยอมรับว่าความแซ่บเขาดุเดือดกว่าเรา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความฉาว อาชญากรรม ดราม่า รายการทีวีเขาอยากได้เรตติ้ง รายการในออนไลน์ก็ต้องการ Views ซึ่งการจะทำให้ได้ยอด Views สูงๆ ก็ต้องทำเรื่องที่แซ่บแบบนี้

     ตอนนี้ BT Beartai มีธุรกิจ 2 ด้าน ด้านแรกเป็นสื่อแบบออนไลน์ 100% ผ่านช่องทางเว็บไซต์ของเรา Facebook และ YouTube ซึ่งมีคอนเทนต์หลายหมวด ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง IT เรื่องรถยนต์ เกม ข่าวบันเทิง การสัมภาษณ์ แล้วก็มีรายการใน PPTV ช่อง 36 กำลังจะออนแอร์อีก 1 รายการ ชื่อ DigiHealth เป็นรายการสุขภาพสำหรับคนในยุคดิจิทัล แล้วก็มีรายการ “ป๋าเต็ดทอล์ก” ที่เราผลิตให้แบบมีโมเดลธุรกิจแบ่งรายได้กัน

     อีกด้านเป็นธุรกิจงานอีเวนต์ เรามี “Thailand Game Show” เป็นมหกรรมด้าน Gaming Event ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ถึงตอนนี้จัดมา 18 ครั้งแล้ว และเราเพิ่งขึ้นงานใหม่ชื่อ CAF (Cosplay Art Festival) ซึ่งแตกออกมาจากส่วน Cosplay ของงาน Thailand Game Show ให้เป็นงานของ Cosplay โดยเฉพาะ เราก็เจอความสนุกอีกแบบ แค่เราเตรียมพื้นที่ไว้ให้เขา เขาก็มา Random Dance กัน แต่งตัวมาประชันกัน สนุกมากครับ”

     คัดคนทำงานที่มี DNA แบบเดียวกัน
     “ระบบการคัดเลือกพนักงาน มีมาตรวัดว่าการคัดเลือกต้องตรง DNA ของเรา คือ ต้องการ Better Tomorrow เราต้องการสร้างสื่อสาระที่สนุก เราต้องการเป็นคนอารมณ์ดี เราเป็นคนชอบสนทนา คนยุคนี้อาจจะชอบ Introvert (โลกส่วนตัวค่อนข้างสูง) แต่สมัยผมเด็กๆ มันไม่มีชื่อเรียก และผู้ใหญ่บอกให้ฝึกพูด ดังนั้น เราต้องการคน Extrovert (มนุษยสัมพันธ์ดี) เพราะเราเป็นนักสื่อสาร ถ้าไม่คุยกันมันก็จบ

     เราจึงหาคนที่รู้จัก DNA ของบริษัทจริงๆ มารับสมัคร งานสื่อต้องมี Talent หรือคนที่เก่งจริงๆ เกิน 50% เพราะกฎของสังคมคือคนกลุ่มใหญ่จะลากคนกลุ่มเล็ก พอเรามีคนธรรมดาเต็มออฟฟิศ A Player จะอยู่ไม่ได้ และจะไปลากคนที่กำลังจะเก่งให้ถอยลงมาด้วย เพราะมาตรฐานคนหมู่มากเป็นอย่างนั้น”

     Upskill สร้างทักษะไปสู่อนาคต
     “เมื่อก่อน พนักงานอยากเรียนอะไรก็มาเสนอแล้วให้เบิกค่าคอร์ส จนวันหนึ่งผมตั้งคำถามว่าเราต้องดูแลกันถึงขนาดว่าให้เรียนคอร์สปูพื้นฐานภาษาอังกฤษเลยเหรอ ผมว่าแบบนั้นมันต้องเรียนรู้ด้วยตัวเอง ไม่ใช่รอบริษัท ผมเห็นด้วยกับการฝึกอบรมความรู้ที่เกี่ยวกับงาน ดังนั้น ในวันข้างหน้า ผมก็จะเลือกการเทรนนิ่งที่เป็นเรื่อง Futuristic หรือ Resilience คอร์สที่สร้างทักษะการยืดหยุ่นได้ เพื่อให้คนมั่นใจว่าต่อไปจะเจอการ Disrupt อีกกี่ครั้ง เจอการเปลี่ยนผ่านอีกกี่ครั้ง เขาจะอยู่รอดได้”

 

  บางส่วนจากบทความ : ความท้าทายของการบริหารองค์กรสื่อในยุคดิจิทัล
โดย : กองบรรณาธิการ / Section : - / Column : Cover Story
อ่านบทความฉบับเต็มได้ที่...วารสาร HR Society ปีที่ 22 ฉบับที่ 258 เดือนมิถุนายน 2567

 
 
FaLang translation system by Faboba