คำสั่งทำงานล่วงเวลาและทำงานในวันหยุดอย่างไร ถือเป็นคำสั่งที่ชอบ

โดย

 


 
คำสั่งทำงานล่วงเวลาและทำงานในวันหยุดอย่างไร
ถือเป็นคำสั่งที่ชอบ


     ในทางปฏิบัติ นายจ้างมักให้ลูกจ้างทำงานเกินไปจากเวลาทำงานปกติ ปัญหาว่านายจ้างจะออกคำสั่งให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลา และทำงานในวันหยุดได้หรือไม่ เพียงใด นายจ้างต้องพิจารณาตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน 2541 มาตรา 24 และมาตรา 25 ซึ่งกฎหมายคุ้มครองแรงงานดังกล่าวได้บัญญัติให้ความคุ้มครองลูกจ้าง ห้ามนายจ้างสั่งให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาและสั่งให้ลูกจ้างทำงานในวันหยุด เว้นแต่จะเข้าข้อยกเว้นตามที่กฎหมายกำหนด หากมีการทำงานล่วงเวลาและทำงานในวันหยุด ชั่วโมงทำงานล่วงเวลาและทำงานในวันหยุดสัปดาห์หนึ่งรวมแล้วต้องไม่เกิน 36 ชั่วโมง ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน 2541 มาตรา 26 และกฎกระทรวงฉบับที่ 3
     สำหรับข้อยกเว้นที่นายจ้างสามารถสั่งให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาได้ ได้แก่
     ประการแรก เมื่อได้รับความยินยอมจากลูกจ้าง นายจ้างจึงบังคับให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาไม่ได้ แต่หากลูกจ้างยินยอมทำงานล่วงเวลา ซึ่งลูกจ้างจะได้ค่าตอบแทนการทำงานเป็นค่าล่วงเวลาในอัตราที่มากกว่าค่าจ้างปกติ นายจ้างสามารถให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาได้ เมื่อนายจ้างสั่งให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาโดยลูกจ้างไม่ยินยอมไม่ได้ การที่ลูกจ้างปฏิเสธไม่ทำงานล่วงเวลา ไม่ถือว่าลูกจ้างขัดคำสั่งโดยชอบด้วยกฎหมายของนายจ้าง (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5888/2530) การให้ความยินยอม กฎหมายมิได้บังคับว่าต้องทำเป็นหนังสือ การแสดงความยินยอมของลูกจ้างจึงอาจทำด้วยวาจาหรือเป็นหนังสือก็ได้ อย่างไรก็ดี ในทางปฏิบัติ ฝ่ายจัดการมักทำหลักฐานการยินยอมเป็นหนังสือเพื่อไม่เกิดปัญหาโต้เถียงกันว่า ลูกจ้างตกลงยินยอมทำงานล่วงเวลาหรือไม่ แต่การให้ความยินยอมนี้ต้องทำเป็นคราวๆ ไป จะยินยอมเพียงครั้งเดียวแล้วมีผลทำให้ลูกจ้างต้องทำงานล่วงเวลาตลอดไปไม่ได้

     ประการที่สอง ลักษณะหรือสภาพของงานต้องทำติดต่อกันไป ถ้าหยุดจะเสียหายแก่งาน คำว่า “ลักษณะหรือสภาพของงานต้องทำติดต่อกันไป ถ้าหยุดจะเสียหายแก่งาน” หมายความว่า งานที่ลูกจ้างทำอยู่ในเวลาทำงานปกติ มีลักษณะหรือสภาพของงานต้องทำต่อเนื่องกันไปจนกว่างานจะเสร็จ หากหยุดก่อนงานที่ทำนั้นเสร็จ งานที่ทำจะเสียหาย (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2985-2986/2543) งานที่นายจ้างมีสิทธิสั่งให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาได้ฝ่ายเดียว โดยไม่ต้องได้ความยินยอม ในข้อนี้จะต้องเป็นงานที่มีลักษณะหรือสภาพต้องทำเป็นขั้นเป็นตอน เช่น งานมี 3 ขั้นตอน ขั้นตอนที่ 1 ขั้นตอนที่ 2 และขั้นตอนที่ 3 ตามลำดับ อีกทั้งแต่ละขั้นตอนต้องทำต่อเนื่องติดต่อกันไป หยุดไม่ได้ ถ้าหยุดจะเสียหายแก่งาน หากเสร็จขั้นตอนที่ 1 แล้ว สามารถหยุดพักและทำขั้นตอนที่ 2 ต่อในวันรุ่งขึ้นได้ ไม่ถือว่าเข้าข้อยกเว้นข้อนี้

     ประการที่สาม งานฉุกเฉิน คำว่า “งานฉุกเฉิน” หมายถึง งานที่เกิดขึ้นทันทีโดยไม่อาจคาดหมายได้ล่วงหน้า และงานนั้นต้องทำให้เสร็จสิ้นในทันที มิฉะนั้น งานที่เกิดขึ้นนั้นจะเสียหาย เป็นกรณีที่มีงานหนึ่งงานใดเกิดขึ้น ต้องทำงานนั้นให้แล้วเสร็จเดี๋ยวนั้น มิฉะนั้น งานนั้นจะเสียหาย เช่น ในระหว่างดำเนินกระบวนการผลิต เกิดไฟฟ้าลัดวงจรในเครื่องจักร หากไม่ซ่อมแซมเครื่องจักรเดี๋ยวนั้นจะเกิดเพลิงไหม้ เกิดระเบิด งานที่ทำจะเสียหาย นับว่าเป็นงานฉุกเฉิน หรือในระหว่างผลิตสินค้ามีน้ำท่วมล้นเข้ามาในนิคมอุตสาหกรรม หากไม่ป้องกันน้ำ การผลิตจะทำไม่ได้ งานที่กำลังทำอยู่จะได้รับความเสียหายอย่างมาก ถือว่ามีเหตุฉุกเฉินที่นายจ้างอาจสั่งให้พนักงานดูแลด้านความปลอดภัยทำงานล่วงเวลาเพื่อป้องกันน้ำท่วมได้

     สำหรับการสั่งให้ทำงานในวันหยุด กฎหมายคุ้มครองแรงงาน ห้ามนายจ้างสั่งให้ลูกจ้างทำงานในวันหยุด โดยมีข้อยกเว้นทำนองเดียวกับข้อยกเว้นของการทำงานล่วงเวลา 3 ประการ ดังที่กล่าวมาข้างต้น เพียงแต่มีข้อยกเว้นเพิ่มขึ้นอีก 1 ประการ โดยให้นายจ้างอาจออกคำสั่งให้ลูกจ้างทำงานในวันหยุดได้ ในกรณีนายจ้างประกอบกิจการโรงแรม สถานมหรสพ งานขนส่ง ร้านขายอาหาร ร้านขายเครื่องดื่ม สโมสร สมาคม สถานพยาบาล หรือกิจการอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง มีอำนาจสั่งให้ลูกจ้างทำงานในวันหยุดได้ โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากลูกจ้าง

 

  บางส่วนจากบทความ : คำสั่งของนายจ้างในการบริหารงานบุคคล กับผลทางกฎหมายแรงงาน
โดย : พงษ์รัตน์ เครือกลิ่น / Section : กฎหมายแรงงาน / Column : กฎหมายคุ้มครองแรงงาน
อ่านบทความฉบับเต็มได้ที่...วารสาร HR Society ปีที่ 22 ฉบับที่ 258 เดือนมิถุนายน 2567

 
 
FaLang translation system by Faboba