ผู้ประกันตน “อุทิศร่างกาย” จะได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีตายหรือไม่?

โดย

 


 
ผู้ประกันตน “อุทิศร่างกาย”
จะได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีตายหรือไม่?


     ในยุคปัจจุบัน หลายคนได้แสดงเจตนาอุทิศร่างกาย หรืออวัยวะบางส่วนของตนให้กับโรงพยาบาล ด้วยเจตนาที่จะสร้างประโยชน์ให้กับวงการแพทย์ หรือช่วยเหลือผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับสภาพร่างกาย และเป็นการสร้างกุศลผลบุญให้กับตนเอง แต่การอุทิศร่างกายให้โรงพยาบาล อาจจะมีเงื่อนไขต่างๆ ตามที่โรงพยาบาลกำหนด เช่น
     ทายาทผู้รับมรดก มีสิทธิที่จะคัดค้านการมอบศพให้กับโรงพยาบาลได้ โดยไม่มีความผิดทางกฎหมาย และโรงพยาบาลจะไม่เรียกร้องสิทธิใดๆ ในร่างนั้น แต่หากทายาทผู้รับมรดกยินยอมพร้อมใจมอบศพให้โรงพยาบาล โรงพยาบาลก็จะสามารถรับร่างของผู้อุทิศร่างกายได้เมื่อมีหลักฐาน ได้แก่ สำเนาใบมรณะบัตร หรือสำเนาหลักฐานการชันสูตรจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของทายาทผู้มอบร่างของผู้อุทิศร่างกาย และเมื่อโรงพยาบาลรับร่างของผู้อุทิศร่างกายแล้ว โรงพยาบาลสงวนสิทธิที่จะไม่อนุญาตให้ญาตินำร่างกลับไปบำเพ็ญกุศลก่อน เพราะจะทำให้ร่างไม่อยู่ในสภาพที่เหมาะสมสำหรับการเรียนรู้เพื่อการศึกษาอย่างสมบูรณ์ แต่ก็อาจเป็นข้อยกเว้นสำหรับโรงพยาบาลบางแห่ง ที่อนุญาตให้ญาติประกอบพิธีทางศาสนาได้ภายใน 3 วัน หรือ 5 วัน ซึ่งทายาทก็ต้องเก็บรักษาหรือดำเนินการตามที่โรงพยาบาลนั้นๆ กำหนดอย่างเคร่งครัด
     ปัญหาว่า เมื่อผู้ประกันตน “อุทิศร่างกาย” ให้โรงพยาบาลแล้ว บุตร สามีหรือภรรยา หรือบิดา มารดา จะได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีตายตามกฎหมายประกันสังคม หรือไม่?
     พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2558 กำหนดว่า ถ้าผู้ประกันตนถึงแก่ความตาย ผู้มีสิทธิหรือทายาท มีสิทธิจะได้รับประโยชน์ทดแทนเฉพาะที่เป็นตัวเงิน มี 3 ประเภท คือ
     1) เงินค่าทำศพ
     2) เงินสงเคราะห์กรณีตาย
     3) เงินบำเหน็จชราภาพ
     เงินค่าทำศพ ปัจจุบัน คือ 50,000 บาท (ณ เมษายน 2567) โดยกฎหมายประกันสังคม กำหนดเงื่อนไขการจ่ายค่าทำศพและผู้มีสิทธิได้รับค่าทำศพว่า ให้จ่ายแก่บุคคลตามลำดับ คือ
     ลำดับที่ 1 บุคคลที่ผู้ประกันตนทำหนังสือไว้ให้เป็นผู้มีสิทธิได้รับค่าทำศพ และได้เป็นผู้จัดการศพ
     ลำดับที่ 2 สามีภริยา (สมรส) บิดา มารดา หรือบุตร (ตามความเป็นจริง หรือผู้สืบสันดานตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์) ของผู้ประกันตน และมีหลักฐานแสดงว่าเป็นผู้จัดการศพ (ถ้าผู้ประกันตนไม่ได้ทำหนังสือไว้ให้บุคคลใดเป็นผู้จัดการศพ)
     ลำดับที่ 3 บุคคลอื่นที่มีหลักฐานแสดงว่าเป็นผู้จัดการศพ (ถ้าไม่มีสามี ภริยา บิดา มารดา หรือบุตรของผู้ประกันตน หรือมีสามี ภริยา บิดา มารดา หรือบุตร แต่ไม่ได้เป็นผู้จัดการศพ)
     ส่วนหลักฐานในการขอรับเงินค่าทำศพที่สำคัญ คือ
     (1) ใบมรณะบัตรของผู้ประกันตน และ
     (2) หลักฐานการจัดการศพของผู้จัดการศพ
     แต่การขอรับประโยชน์ทดแทนในกรณีตาย หรือกรณีอื่นๆ ตามกฎหมายประกันสังคมนั้น ผู้ประกันตนหรือผู้มีสิทธิจะต้องยื่นคำขอ “ภายใน 2 ปี นับแต่วันที่มีสิทธิ” (วันที่มีสิทธิ หมายถึง วันที่ผู้ประกันตนถึงแก่ความตาย)
     โดยสรุป คือ ผู้ประกันตน “อุทิศร่างกาย” จะได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีตายหรือไม่?
     คำตอบ คือ ได้รับประโยชน์ทดแทนตามสิทธิที่พึงได้ คือ เงินสงเคราะห์กรณีตาย เงินบำเหน็จชราภาพ และค่าทำศพ ซึ่งแม้ว่าการจัดการศพของผู้ประกันตนจะไม่ถึงขั้นตอนการเผาหรือฝังร่างกายของผู้ประกันตน หากได้ประกอบพิธีกรรมในขั้นตอนที่สำคัญ ผู้มีสิทธิตามที่กฎหมายกำหนดก็มีสิทธิได้รับเงินค่าทำศพ ซึ่งต้องมีหลักฐานการจัดการศพและได้รับประโยชน์ทดแทนอื่นๆ ตามที่กล่าวมาแล้ว โดยให้ยื่นคำขอรับเงินประโยชน์ทดแทนได้ภายใน 2 ปี นับแต่วันที่มีสิทธิ แต่หากไม่สามารถยื่นได้ทันตามเวลาที่กฎหมายกำหนด จะต้องชี้แจงเหตุผลความจำเป็นที่ไม่สามารถยื่นคำขอได้ทันตามเวลานั้น เพื่อให้เจ้าหน้าที่ได้พิจารณาว่ามีเหตุผลสมควรหรือไม่ หากไม่มีเหตุผลสมควร เจ้าหน้าที่ก็มีอำนาจที่จะวินิจฉัยไม่จ่ายเงินให้ก็ได้

 

  บางส่วนจากบทความ : ผู้ประกันตน “อุทิศร่างกาย” จะได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีตายหรือไม่?
โดย : ปรานี สุขศรี / Section : กฎหมายแรงงาน / Column : ประกันสังคม
อ่านบทความฉบับเต็มได้ที่...วารสาร HR Society ปีที่ 22 ฉบับที่ 258 เดือนมิถุนายน 2567

 
 

 

FaLang translation system by Faboba