Carbon Accounting คืออะไร?

โดย

 


 
Carbon Accounting คืออะไร?


     Carbon Accounting การบัญชีคาร์บอนหรือบัญชีก๊าซเรือนกระจก คือ กระบวนการวัด บันทึก และรายงานปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gas Emissions : GHGs) ขององค์กรหรือหน่วยงานต่าง ๆ เป็นการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมต่าง ๆ ขององค์กร (Carbon Footprint) ในวัฏจักรของผลิตภัณฑ์หรือบริการของหน่วยงาน เช่น การใช้พลังงาน การผลิต การขนส่ง การจัดการของเสีย เป็นต้น เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจในการวางแผนโครงการเพื่อลดการปล่อยหรือดูดกลับของก๊าซเรือนกระจกดังกล่าว แต่ด้วยความที่เรื่องนี้เรายกให้ C02 เป็นพระเอก เพราะเป็นก๊าซที่สร้างผลกระทบในปริมาณมากที่สุด จึงให้ชื่อว่า Carbon Accounting และการจดบันทึกดังกล่าวก็ควรจะได้คิดถึงกิจกรรมอื่น ๆ ที่เป็นส่วนหนึ่งของการปล่อย GHGs ซึ่งปัจจุบันมี 7 ชนิดก๊าซด้วยกัน จึงมีหน่วยวัดปริมาณเป็นหน่วยที่ให้ชื่อว่า “คาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า” (CO2e - Carbon Dioxide Equivalent) โดยวัดและรายงานเป็นปริมาณ “ตัน” โดย 1 ตัน = 1,000 kgCO2e (ว่าไปก็คล้าย ๆ หลักการทำรายงานการเคลื่อนไหวสินค้าคงเหลือนั่นเอง)

     อย่างไรก็ดี การลดการเกิดขึ้นของปริมาณ GHGs ย่อมมีต้นทุนทั้งในแง่ของการจัดการหรือการใช้พลังงานทางเลือกอื่นที่อาจมีต้นทุนที่สูงกว่า และการหาเทคโนโลยีทางเลือกต่าง ๆ ก็ต้องใช้เงินและเวลาในการค้นคว้า ความคุ้มค่าของการลงทุนในเรื่องของการเงินก็ต้องไตร่ตรอง แนวคิดหรือมาตรการต่าง ๆ เช่น การให้เงินสนับสนุน การซื้อขายคาร์บอนเครดิต หรือการใช้มาตรการ Non-tariff Barriers (NTBs) หรือการกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษี ฯลฯ ถูกนำออกมาใช้ การวัดมูลค่าออกมาเป็นตัวเงินเพื่อใช้ในการตัดสินใจถึงความคุ้มค่านั้นจึงเริ่มมีความสำคัญ จึงต้องเริ่มหันมาจดบันทึกการเกิดขึ้นหรือลดลงของปริมาณ GHGs และยังใช้ในการกำหนดเป้าหมายและแผนงานในการลดการปล่อยก๊าซ GHGs ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นเพราะกฎหมาย หรือข้อบังคับเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม หรือภาคสมัครใจเอง การบัญชีคาร์บอนจึงช่วยให้องค์กรสามารถระบุแหล่งที่มาของการปล่อยก๊าซ GHGs และพิจารณาแนวทางในการลดการปล่อยก๊าซ GHGs ได้อย่างเหมาะสมต่อไป อีกทั้ง ปัจจุบันการสื่อสารกับผู้มีส่วนได้เสียและสังคมมีส่วนสำคัญ เพราะอาจส่งผลต่อความสามารถในการดำเนินงานของกิจการจากการขายสินค้าหรือบริการของกิจการได้ ดังนั้นการที่องค์กรจะสื่อสารกับหน่วยงานและสาธารณชนเกี่ยวกับความมุ่งมั่นในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การบัญชีคาร์บอนจะช่วยสร้างความน่าเชื่อถือของข้อมูลที่จะรายงานผ่านสื่อต่าง ๆ เช่น บริษัทจดทะเบียนในไทยขณะนี้ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. ก็ส่งเสริมให้บริษัทจดทะเบียนได้มีการรายงานเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวด้วย ทั้งนี้ ในขณะนี้มาตรฐานเกี่ยวกับการรายงานเพื่อความยั่งยืน ไม่ว่าโดย IFRS, GRI, ESRS ก็กำลังเดินหน้าอยู่

     Carbon Accounting ต้องทำอย่างไร

ปริมาณ GHGs = กิจกรรมที่ปลดปล่อย GHGs x อัตราการปล่อย GHGs ต่อหน่วย

     อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้น ในทุก ๆ กิจกรรมทางธุรกิจขององค์กรล้วนมีส่วนร่วมในการปลดปล่อย GHGs หรือหากเป็นกิจกรรมที่มีการดูดซับ GHGs จะสามารถดูดซับปริมาณของ GHGs ได้เท่าใดนั้น หลักการของการคำนวณและจดบันทึกปริมาณของ GHGs ที่ถูกปลดปล่อยหรือดูดซับทั้งหมด เกิดจากองค์ประกอบ 2 ตัวสำคัญ คือ กิจกรรมและอัตราการปลดปล่อยหรืออัตราการดูดซับ ซึ่งในปัจจุบันการให้ความสำคัญในด้านการลดการปล่อย GHGs ดูจะเห็นเป็นรูปธรรมมากกว่า

 

  จากบทความ : Carbon Accounting บัญชีเพื่อโลกสะอาด
โดย : วิทยา เอกวิรุฬห์พร / Section : Accounting Style / Column : CPD Talk
อ่านบทความฉบับเต็มได้ที่...วารสาร CPD & Account ปีที่ 21 ฉบับที่ 246 เดือนมิถุนายน 2567

 
 
FaLang translation system by Faboba