ใบกำกับภาษีเต็มรูปแบบไหนถูกต้อง

โดย

 


 
ใบกำกับภาษีเต็มรูปแบบไหนถูกต้อง


     ผู้ประกอบการที่มีสิทธิออกใบกำกับภาษี ซึ่งใบกำกับภาษีมีทั้งประเภทที่เป็นแบบเต็มรูปและแบบย่อ รวมทั้งใบเพิ่มหนี้ ใบลดหนี้ ตลอดจนใบเสร็จรับเงินค่าภาษีมูลค่าเพิ่มที่ส่วนราชการเป็นผู้ออก ผู้ประกอบการจดทะเบียนจะมีสิทธิออกใบกำกับภาษีแบบใดขึ้นอยู่กับลักษณะของการประกอบกิจการ ผู้ประกอบการจดทะเบียนโดยทั่วไปต้องออกใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปซึ่งจะมีข้อความคล้ายกับใบส่งของหรือใบเสร็จรับเงิน ผู้ประกอบการจึงอาจปรับปรุงใบส่งของหรือใบเสร็จรับเงินให้เป็นใบกำกับภาษีในฉบับเดียวกันได้ กล่าวคือ ในกรณีขายสินค้าเป็นเงินเชื่อ ผู้ประกอบการอาจใช้ใบส่งของและใบกำกับภาษีให้อยู่ในฉบับเดียวกัน แล้วออกเอกสารให้กับผู้ซื้อเพียง 1 ฉบับ สำหรับกรณีของการขายสินค้าเป็นเงินสดหรือกรณีของการให้บริการ เมื่อรับชำระค่าสินค้าหรือบริการแล้วผู้ประกอบการก็อาจปรับปรุงใบเสร็จรับเงินและใบกำกับภาษีเพื่อใช้เป็นฉบับเดียวกันได้

     ใบกำกับภาษีเต็มรูป
     ใบกำกับภาษีเต็มรูปตามมาตรา 86/4 ต้องมีรายการครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด คือ
     (1) คำว่า “ใบกำกับภาษี”
     (2) เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ขาย
     (3) ชื่อ ที่อยู่ของผู้ขาย
     (4) ชื่อ ที่อยู่ของผู้ซื้อ
     (5) เลขที่ เล่มที่ (ถ้ามี) ของใบกำกับภาษี
     (6) วัน เดือน ปี ที่ออกใบกำกับภาษี
     (7) ชื่อ ชนิด ประเภท ปริมาณ และราคาของสินค้าหรือบริการ
     (8) จำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มโดยให้แยกออกจากราคาของสินค้าหรือบริการให้ชัดแจ้ง
     รายการในใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/4 และ 86/6 ให้ทำเป็นภาษาไทย เป็นหน่วยเงินตราไทย และใช้ตัวเลขไทยหรืออารบิก ผู้ประกอบการจดทะเบียนซึ่งจัดทำรายการในใบกำกับภาษีเป็นภาษาอังกฤษและเป็นหน่วยเงินตราไทยตามมาตรา 86/4 และมาตรา 86/6 ให้ถือว่าได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากร เว้นแต่ในกิจการบางประเภทที่มีความจำเป็นต้องทำเป็นภาษาต่างประเทศอื่นที่ไม่ใช่ภาษาอังกฤษหรือเป็นหน่วยเงินตราต่างประเทศ ให้กระทำได้แต่จะต้องได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากร
     ในกรณีที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนประสงค์จะจัดทำรายการในใบกำกับภาษีเป็นภาษาต่างประเทศที่มิใช่ภาษาอังกฤษหรือหน่วยเงินตราต่างประเทศ ให้ยื่นคำขออนุมัติต่ออธิบดีกรมสรรพากรก่อนจัดทำรายการในใบกำกับภาษีเป็นภาษาต่างประเทศหรือหน่วยเงินตราต่างประเทศ โดยให้ยื่นตามแบบที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด ดังนี้
     1. ในกรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนมีสถานประกอบการตั้งอยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร ให้ยื่นคำขออนุมัติต่ออธิบดีกรมสรรพากรผ่านสรรพากรเขตพื้นที่ที่สถานประกอบการตั้งอยู่
     2. ในกรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนมีสถานประกอบการตั้งอยู่ในเขตจังหวัดอื่น ให้ยื่นคำขออนุมัติต่ออธิบดีกรมสรรพากรผ่านสรรพากรจังหวัดที่สถานประกอบการตั้งอยู่ ณ ที่ว่าการอำเภอท้องที่ที่สถานประกอบการตั้งอยู่
     ถ้าผู้ประกอบการจดทะเบียนมีสถานประกอบการหลายแห่ง ให้ยื่นคำขออนุมัติต่ออธิบดีกรมสรรพากรผ่านสรรพากรเขตพื้นที่หรือสรรพากรจังหวัดที่สถานประกอบการที่เป็นสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่แล้วแต่กรณี
     ผู้ประกอบการจดทะเบียนจะจัดทำรายการในใบกำกับภาษีเป็นภาษาต่างประเทศที่มิใช่ภาษาอังกฤษหรือหน่วยเงินตราต่างประเทศได้จะต้องได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากรก่อน โดยใบกำกับภาษีที่ขออนุมัติจัดทำเป็นภาษาต่างประเทศหรือหน่วยเงินตราต่างประเทศนั้น จะต้องมีรายการอย่างน้อยตามมาตรา 86/4
     การจัดทำรายการในใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/4 หรือใบกำกับภาษีอย่างย่อตามมาตรา 86/6 ผู้ประกอบการจดทะเบียนจะจัดทำเป็นภาษาอังกฤษก็ได้ โดยให้ถือว่าได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากรแล้ว ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากรให้ใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงินเพื่อออกใบกำกับภาษีอย่างย่อ รายการในใบกำกับภาษีอย่างย่อที่ออกโดยใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงินนั้น ผู้ประกอบการจดทะเบียนจะจัดทำเป็นภาษาอังกฤษก็ได้ โดยให้ถือว่าได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากรแล้ว
     ในการออกใบกำกับภาษีเต็มรูปให้กับผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ ผู้ประกอบการจดทะเบียนจะต้องออกใบกำกับภาษีทุกครั้งที่จุดความรับผิดเกิดขึ้น
     กรณีการขายสินค้า : จุดความรับผิดเกิดขึ้นเมื่อมีการส่งมอบสินค้า
     กรณีให้บริการ : จุดความรับผิดเกิดขึ้นเมื่อได้รับเงิน
     ดังนั้นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มจะต้องออกใบกำกับภาษีทันทีที่จุดความรับผิดเกิดขึ้น ยกเว้นผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ขายสินค้าชนิดและประเภทเดียวกันให้แก่ผู้ซื้อสินค้ารายหนึ่งรายใดเป็นจำนวนหลายครั้งใน 1 วันทำการ ผู้ประกอบการจดทะเบียนสามารถจัดทำใบกำกับภาษีรวมเพียงครั้งเดียวใน 1 วันทำการ สำหรับผู้ซื้อสินค้ารายนั้นได้

 

  จากบทความ : ใบกำกับภาษีเต็มรูป ใช้หน่วยเงินตราต่างประเทศได้หรือไม่
โดย : สมเดช โรจน์คุรีเสถียร / Section : Accounting Style / Column : Tax & Accounting
อ่านบทความฉบับเต็มได้ที่...วารสาร CPD & Account ปีที่ 21 ฉบับที่ 246 เดือนมิถุนายน 2567

 
 
FaLang translation system by Faboba