วิธีตรวจสอบภาษีของกรมสรรพากร

โดย

 


 
วิธีตรวจสอบภาษีของกรมสรรพากร


     สำหรับท่านที่ได้รับจดหมายจากสรรพากร สิ่งแรกคือ ให้ตั้งสติก่อน อ่านจดหมายฉบับนั้นให้ถี่ถ้วน และทางที่ดีควรตรวจสอบให้ชัดเจนว่าจดหมายที่ส่งมานั้นระบุความผิดในระดับใด เพราะในบางครั้งอาจจะเป็นการเข้ามาแนะนำข้อมูล เข้ามาตรวจสอบ ขอให้ชี้แจงบางประเด็นเท่านั้น หรือหากเป็นการแจ้งความผิดจริงก็ควรตรวจสอบให้ดีว่ามีโทษอย่างไรกันแน่
     ส่วนสาเหตุที่กรมสรรพากรจะส่งจดหมายมานั้น อาจเกิดจากมีเอกสารหรือการดำเนินงานที่ผิดพลาด ไม่ถูกต้องตามหลักการของการเก็บภาษีอากร ข้อมูลอาจจะไม่ครบ ข้อมูลไม่ตรงตามบทบัญญัติของกฎหมายภาษี งบการเงินไม่สามารถสะท้อนข้อเท็จจริง เป็นต้น ทั้งนี้ กรมสรรพากรมีหน้าที่ตรวจสอบให้ธุรกิจเข้ามาสู่ระบบภาษีที่ถูกต้อง ไม่หลบเลี่ยงภาษี และตรวจสอบการยื่นภาษีให้ถูกต้องนั่นเอง
     แต่ในเบื้องต้น เรื่องสำคัญคือผู้ประกอบการควรทำบัญชีให้ถูกต้องไว้ก่อนจะดีที่สุด เพราะหากถูกเรียกเก็บภาษีเพิ่มเติม เบี้ยปรับจะสูงถึง 2 เท่า หากคำนวณจากเงินต้นและภาษีที่ต้องเสียอีก อาจสูญเสียเงินมากขึ้นอีกหลายเท่า หากมีภาษีที่ต้องจ่ายสูงเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว บทลงโทษก็นับว่าเป็นเงินจำนวนมหาศาลที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจในระดับหนึ่งเลยทีเดียว ฉะนั้นเริ่มต้นอย่างถูกต้องไว้จะดีที่สุด
     วิธีตรวจสอบภาษีของกรมสรรพากร ประกอบด้วย
     1. การสำรวจ เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่สรรพากรที่ประจำอยู่ที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา ซึ่งอยู่ในท้องที่ที่ผู้ประกอบการประกอบกิจการอยู่ หรือพูดง่าย ๆ คือ ใกล้ชิดกับการประกอบการในท้องที่ที่อาศัยอยู่ โดยเจ้าหน้าที่สรรพากรจะออกสำรวจการประกอบกิจการของผู้ประกอบการ สำรวจแหล่งภาษีอากรด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น เดินเคาะประตูบ้าน สังเกตการณ์ และค้นหากิจการที่มีรายได้แล้วยังไม่ยื่นภาษี หรือมีการเปิดหน้าร้านแต่ยังไม่มีประวัติหรือข้อมูลการยื่นภาษี โดยเจ้าหน้าที่สรรพากรจะเข้าไปพบ สอบถามรายละเอียดการยื่นภาษีและขอเอกสารการยื่นภาษี และแนะนำมายื่นภาษีให้ถูกต้อง
     2. การตรวจแนะนำ คือการที่เจ้าหน้าที่สรรพากรที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่โดยจะเป็นนักตรวจสอบภาษี ซึ่งมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องภาษีอากร ออกไปตรวจเยี่ยมผู้เสียภาษีด้วยตัวเอง ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นผู้ประกอบกิจการที่เข้ามาในระบบแล้ว มีการจัดตั้งบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนจำกัดแล้ว แต่ยังไม่เข้าใจในเรื่องภาษีหรือยังปฏิบัติงานในเรื่องเกี่ยวกับภาษีอากรไม่ครบถ้วน เจ้าหน้าที่สรรพากรจึงต้องออกไปให้คำแนะนำการเสียภาษีให้ถูกต้อง โดยจะมีการส่งหนังสือแจ้งการเข้าตรวจหรือเข้าพบล่วงหน้าก่อนการเข้าตรวจจริง การที่เจ้าพนักงานสรรพากรออกไปให้คำปรึกษาแนะนำ ตลอดจนชี้แจงและตอบข้อซักถามต่าง ๆ แก่ผู้ประกอบการ ณ สถานประกอบการของผู้ประกอบการ จะมีการแนะนำวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่ผู้ประกอบการในส่วนที่เกี่ยวกับตัวบทกฎหมาย ระเบียบปฏิบัติ ตลอดจนวิธีการจัดทำบัญชีและการเก็บรักษาเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้อง และเพื่อให้คำปรึกษาแนะนำผู้ประกอบการในด้านต่าง ๆ อันจะทำให้ผู้ประกอบการสามารถกรอกแบบแสดงรายการภาษี และชำระภาษี หรือขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มได้อย่างถูกต้องภายในระยะเวลาที่กำหนด โดยอาจมีการขอเอกสารหลักฐานเพื่อนำมาตรวจสอบความถูกต้อง และหากพบความผิดพลาดจะแจ้งให้ผู้ประกอบการปรับปรุงแก้ไขให้ถูกต้องต่อไป
     นอกจากนี้ ในการออกตรวจแนะนำนั้นจะทำให้เจ้าพนักงานสรรพากรสามารถรวบรวมข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับกิจการของผู้ประกอบการ ซึ่งจะสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการบริหารการจัดเก็บภาษีและควบคุมตรวจสอบภาษีมูลค่าเพิ่มของผู้ประกอบการได้เป็นอย่างดีในโอกาสต่อไป
     การตรวจแนะนำจะกระทำในกรณีที่ผู้ประกอบการเริ่มประกอบการใหม่ หรือในกรณีที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคลมานานแล้ว แต่จากการวิเคราะห์ข้อมูลของสรรพากรในระบบพบว่ามีข้อมูลบางอย่างไม่ถูกต้อง หรือมีประเด็นต้องสงสัย ผู้ประกอบการต้องการคำปรึกษาแนะนำเป็นพิเศษ การแนะนำถือเป็นความจำเป็นที่ต้องการเข้าไปแนะนำให้ผู้ประกอบการมีความรู้ความเข้าใจในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีอื่น ๆ อย่างกว้างขวางและทั่วถึง
     3. การตรวจปฏิบัติการ เป็นการตรวจสถานประกอบการของผู้ประกอบการทุกรายอย่างเป็นระบบตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 88/3 ที่กำหนดให้เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจเข้าไปในสถานประกอบการของผู้ประกอบการ ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนหรือไม่ หรือในสถานที่อื่นที่เกี่ยวข้องระหว่างพระอาทิตย์ขึ้นและพระอาทิตย์ตก หรือระหว่างเวลาทำการของผู้ประกอบการ และทำการตรวจสอบเพื่อให้ทราบว่าผู้ประกอบการได้ปฏิบัติการโดยถูกต้องตามบทบัญญัติในหมวดนี้หรือไม่
     ในการนี้เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจสั่งผู้ประกอบการหรือบุคคลที่อยู่ในสถานที่นั้นให้ปฏิบัติการเท่าที่จำเป็น เพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบเอกสารหลักฐานต่าง ๆ อันควรแก่เรื่อง และมีอำนาจยึดเอกสารหลักฐานเหล่านั้นมาตรวจสอบไต่สวนได้ ทั้งนี้ เจ้าพนักงานประเมินต้องแสดงบัตรประจำตัว พร้อมทั้งหนังสือหรือหลักฐานต่อผู้ที่เกี่ยวข้องเมื่อเข้าไปทำการตรวจสอบ
     ความถี่ของการตรวจปฏิบัติการสำหรับผู้ประกอบการแต่ละรายจะแตกต่างกันไป และเรื่องที่จะตรวจปฏิบัติการมีด้วยกันหลายเรื่อง เช่น การตรวจปฏิบัติการสอบยันใบกำกับภาษี การตรวจปฏิบัติการตรวจนับสินค้าคงเหลือ การตรวจปฏิบัติการทั่วไป
     ในการตรวจปฏิบัติการแต่ละครั้งจะต้องมีการตรวจเอกสารหลักฐานต่าง ๆ กับรายการที่ปรากฏในแบบแสดงรายการเพื่อยืนยันว่าการยื่นแบบแสดงรายการเป็นไปอย่างถูกต้องและครบถ้วน การตรวจปฏิบัติการทั่วไปจะเป็นการตรวจสอบแบบแสดงรายการของงวดภาษีงวดในงวดหนึ่งเท่านั้น แต่ถ้ามีปัญหาเกี่ยวข้องกับเดือนภาษีอื่น ๆ ก็จะมีการตรวจโยงไปถึงเดือนภาษีนั้นด้วย ในการออกตรวจปฏิบัติการแต่ละครั้งนั้นจะได้มีการตรวจการจัดทำบัญชี การเก็บรักษาเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ว่าเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ ขณะเดียวกันเจ้าพนักงานสรรพากรก็จะได้ให้คำปรึกษา และแนะนำแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่ผู้ประกอบการด้วย รวมทั้งจะได้มีการรวบรวมข้อมูลต่าง ๆ ของผู้ประกอบการ เพื่อใช้พิจารณากำหนดความถี่ของการตรวจปฏิบัติการครั้งต่อ ๆ ไปด้วย
     ระยะเวลาที่ใช้ในการตรวจปฏิบัติการจะขึ้นอยู่กับขนาดและประเภทของกิจการ ซึ่งโดยทั่วไปจะใช้เวลาในการเข้าตรวจ ณ สถานประกอบการโดยเฉลี่ยประมาณ 2 วันต่อราย จะมีการบันทึกคำให้การ (ต.6) ณ ขณะเข้าตรวจ และจะมีการเรียกเอกสารเพื่อนำมาตรวจและวิเคราะห์ตามหลักของประมวลรัษฎากร
     ในการตรวจปฏิบัติการครั้งหนึ่ง ๆ หากตรวจสอบพบการกระทำความผิดที่เป็นความเล็กน้อยที่ผู้ประกอบการมิได้มีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษีเงินได้/ภาษีมูลค่าเพิ่ม ก็ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ให้คำแนะนำและแนวทางปฏิบัติที่ถูกต้อง ถ้าเป็นความผิดในส่วนที่เป็นสาระสำคัญที่ผู้ประกอบการมีเจตนาหลีกเลี่ยงก็จะทำการประเมินภาษีเพิ่มเติมหรือดำเนินการตรวจสอบอย่างละเอียดต่อไป

 

  จากบทความ “สรรพากร” เรียกพบ ควรปฏิบัติตัวอย่างไร Section: TaxTalk / Column: Tax Tips
อ่านบทความฉบับสมบูรณ์ได้ที่...วารสารเอกสารภาษีอากร ปีที่ 43 ฉบับที่ 513
เดือนมิถุนายน 2567หรือสมัครสมาชิก “วารสารเอกสารภาษีอากร”
เพื่อรับสิทธิอ่านและสืบค้นบทความผ่านระบบ e- Magazine Index

 
 
FaLang translation system by Faboba