ภาษีที่มีต่อคู่สมรสสามีและภริยา : บางประเด็นที่ไม่ควรมองข้าม

โดย

 


ปัญหาภาษีมูลค่าเพิ่มกรณีการทำธุรกิจของคู่สมรส

ในการประกอบกิจการร่วมกันของสามีและภริยาที่ได้จดทะเบียนสมรสกันโดยชอบด้วยกฎหมาย คู่สมรสอาจเข้าลักษณะเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มตามที่ประมวลรัษฎากรกำหนด หากกิจการขายสินค้าหรือให้บริการดังกล่าวเป็นกิจการที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม  และคู่สมรสสามีภริยาที่ประกอบการมีรายรับจากการขายสินค้าหรือให้บริการเป็นปกติธุระเกินกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี กรณีดังกล่าวถือว่าสามีและภริยาทั้งสองฝ่ายเป็นบุคคลซึ่งขายสินค้าหรือให้บริการในทางธุรกิจหรือวิชาชีพดังกล่าว เข้าลักษณะเป็นผู้ประกอบการตามมาตรา 77/1 (5) แห่งประมวลรัษฎากร และมีหน้าที่ต้องจดทะเบียนและเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในนามของสามีและภริยาทั้งสองฝ่าย (เป็นหน่วยภาษีเดียวกัน) ตามมาตรา 77/2 มาตรา 82 และมาตรา 85/1 แห่งประมวลรัษฎากร โดยคู่สมรสต้องยื่นคำขอมีเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรในนามของคู่สมรส ในหน่วยภาษี “คู่สมรสสามีและภริยา” และนำเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรดังกล่าวไปใช้ในการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม

เนื่องจากผู้ประกอบการที่เป็นคู่สมรสสามีและภริยาเข้าลักษณะเป็นคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล ดังนั้น ในการยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ตามแบบ ภ.พ.01) สามารถแยกพิจารณาได้ดังนี้
1. กรณีคู่สมรสสามีและภริยายื่นคำขอฯ ด้วยตนเอง คู่สมรสต้องยื่นคำขอฯ ตามแบบ ภ.พ.01 จำนวน 3 ฉบับ โดยแสดงรายการให้ถูกต้องครบถ้วน พร้อมกับแนบภาพถ่ายใบทะเบียนสมรส และกรณีเป็นคนต่างด้าว ให้แนบภาพถ่ายใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ภาพถ่ายหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทาง หรือภาพถ่ายใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว
2. กรณีคู่สมรสมอบอำนาจให้บุคคลอื่นยื่นคำขอฯ แทน ให้แนบหนังสือมอบอำนาจ ภาพถ่ายบัตรประจำตัวประชาชนของผู้มีอำนาจกระทำการแทน และภาพถ่ายบัตรประจำตัวประชาชนของผู้รับมอบอำนาจ
3. กรณีผู้ประกอบการที่เป็นคู่สมรสใช้สถานที่อยู่อาศัยของตนเองหรือบุคคลอื่นเป็นสถานประกอบการ หรือใช้สถานประกอบการของบุคคลอื่นเป็นสถานประกอบการ ให้แนบเอกสารและดำเนินการดังต่อไปนี้
(ก) กรณีใช้สถานที่อยู่อาศัยของตนเองหรือบุคคลอื่นเป็นสถานประกอบการ หรือใช้สถานประกอบการของบุคคลอื่นเป็นสถานประกอบการ ให้ติดป้ายแสดงชื่อผู้ประกอบการที่เป็นคู่สมรสสามีและภริยา ไว้ในที่เปิดเผยซึ่งเห็นได้ง่าย ณ สถานประกอบการดังกล่าว
(ข) กรณีสถานที่อยู่อาศัยหรือสถานประกอบการตาม (ก) ตั้งอยู่ในอาคารชุดตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด ให้แนบภาพถ่ายหนังสือรับรองของผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดที่ระบุว่าสถานที่ดังกล่าวอยู่ในพื้นที่ประกอบการค้าของอาคารชุด ตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด
(ค) กรณีเป็นการเช่าอสังหาริมทรัพย์ ให้แนบภาพถ่ายสัญญาเช่า โดยสัญญาเช่าดังกล่าวต้องระบุชื่อ ที่อยู่ของเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ด้วย และถ้าเป็นกรณีเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ให้ใช้อสังหาริมทรัพย์นั้นโดยไม่มีค่าตอบแทน ให้แนบภาพถ่ายหนังสือยินยอมให้ใช้เป็นที่ตั้งสถานประกอบการ
(ง) ให้แนบแผนที่แสดงที่ตั้งของสถานประกอบการโดยสังเขปพร้อมภาพถ่ายสถานประกอบการ
การยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มพร้อมกับแนบเอกสารข้างต้น ผู้ประกอบการต้องแสดงเอกสารตัวจริงต่อเจ้าพนักงานสรรพากรด้วย

ปัญหาที่อาจเกิดขึ้น คือ หากสามีและภริยาได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นหน่วยภาษี “คู่สมรสสามีและภริยา” แล้ว ต่อมา สามีหรือภริยา ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด มีรายได้จากการประกอบกิจการขายสินค้าหรือให้บริการประเภทอื่นด้วย เช่น ค่าตอบแทนจากการเป็นตัวแทนนายหน้า เป็นต้น โดยการประกอบกิจการดังกล่าวมีมูลค่าของฐานภาษีเกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี สามีหรือภริยาฝ่ายนั้นมีหน้าที่ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มในนามของตนเองภายใน 30 วัน นับแต่วันที่มูลค่าของฐานภาษีในการประกอบกิจการของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเกินมูลค่าของฐานภาษีขนาดย่อม

ปัญหาที่อาจเกิดขึ้นอีกประการหนึ่ง คือ หากสามีและภริยาได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นหน่วยภาษี “คู่สมรสสามีและภริยา” แล้ว ต่อมาภายหลัง สามีและภริยาดังกล่าวได้จดทะเบียนหย่าระหว่างปีภาษี ถือว่าผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มในหน่วยภาษี “คู่สมรสสามีและภริยา” ได้เลิกประกอบกิจการ ให้ผู้ประกอบการดังกล่าวแจ้งเลิกกิจการภายใน 15 วัน นับจากวันเลิกประกอบกิจการ ตามมาตรา 85/15 แห่งประมวลรัษฎากร และหลังจากเลิกการประกอบกิจการแล้ว หากปรากฏว่าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดยังคงประกอบกิจการที่เคยร่วมทำกันมาแต่เพียงฝ่ายเดียว และการประกอบกิจการดังกล่าวมีมูลค่าของฐานภาษีเกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี ให้บุคคลนั้นจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มในนามของตนเอง

ข้อพึงสังเกต ถึงแม้ว่าสามีและภริยาจะเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มและเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในนามของสามีและภริยาซึ่งเป็นหน่วยภาษีเดียวกันแล้วก็ตาม แต่ในด้านของภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เนื่องจากมาตรา 57 ฉ แห่งประมวลรัษฎากร ได้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการไว้เป็นการเฉพาะ ดังนั้น รายรับทั้งหมดที่ได้จากการประกอบกิจการของคู่สมรสสามีและภริยาในฐานะเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม จึงถือเป็นเงินได้พึงประเมินของสามีและภริยาทั้งสองฝ่าย ซึ่งสามีและภริยายังคงมีสิทธิแยกยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามมาตรา 57 ฉ แห่งประมวลรัษฎากร ได้ตามปกติ

การเสียภาษีของคู่สมรสที่เป็นสามีภริยาที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายมีปัญหาอยู่หลายประการที่คู่สมรสต้องร่วมกันศึกษากฎหมายตามประมวลรัษฎากร เนื่องจากการยื่นภาษีของคู่สมรสดังกล่าวมีถึง 3 วิธีด้วยกัน ได้แก่ ยื่นรวมเงินได้ทุกประเภท แยกยื่นเฉพาะเงินเดือน และแยกยื่นเงินได้ของแต่ละฝ่าย ซึ่งการที่คู่สมรสจะเลือกยื่นแบบไหนขึ้นอยู่กับเงื่อนไขหลายประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเภทเงินได้พึงประเมินของคู่สมรสแต่ละฝ่ายที่ได้รับ อย่างไรก็ดี สิ่งที่คู่สมรสต้องศึกษาให้ถ่องแท้อีกประการหนึ่ง คือ กรณีคู่สมรสประกอบกิจการร่วมกันและได้ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มในหน่วยภาษีคู่สมรสสามีภริยาแล้ว คู่สมรสต้องร่วมกันศึกษารายละเอียดและเงื่อนไขของกฎหมายภาษีมูลค่าเพิ่มอย่างละเอียด ตั้งแต่จุดความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม หลักเกณฑ์การจัดทำเอกสารภาษีอากร เช่น ใบกำกับภาษี ใบเพิ่มหนี้ ใบลดหนี้ รายงานต่างๆ เป็นต้น ซึ่งต้องยอมรับว่าภาษีสำหรับคู่สมรสที่เป็นบุคคลธรรมดาไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไม่ใช่เรื่องยากที่จะเรียนรู้ โดยปัจจุบันกรมสรรพากรได้เผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับภาษีอากรผ่านทางเว็บไซต์ของกรมสรรพากร http://www.rd.go.th โดยใช้รูปภาพ ภาษาที่เข้าใจได้ง่ายและน่าสนใจแก่การเรียนรู้ เพื่อคู่สมรสสามีและภริยาจะได้เสียภาษีให้ถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด  


   
      บางส่วนจากบทความ “ภาษีที่มีต่อคู่สมรสสามีและภริยา : บางประเด็นที่ไม่ควรมองข้าม” โดย
      ดร.เพชรรัตน์ ศุภนิมิตรกุลกิจ Section : ภาษีอากร Column : ภาษีสรรพากร วารสารเอกสารภาษีอากร
      ปีที่ 37 ฉบับที่ 440 เดือนพฤษภาคม 2018 





ภาษีที่มีต่อคู่สมรสสามีและภริยา : ดร.เพชรรัตน์ ศุภนิมิตรกุลกิจ
วารสาร : เอกสารภาษีอากร พฤษภาคม 2561



FaLang translation system by Faboba