เตรียมพร้อมกับการจดทะเบียนบริษัทจำกัด (คนเดียว)

โดย

 


ในช่วงที่ผ่านมา คนที่ตัดสินใจจดทะเบียนบริษัทมักจะมีข้อจำกัดเรื่องของการที่ต้องมีหุ้นส่วนไม่น้อยกว่า 3 คน
ประกอบกับความรู้สึกไม่มั่นใจว่าจะจดดีไหม วันนี้ถือว่าโอกาสมาแล้วครับ เพราะว่าทางกรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้
ออกร่างพระราชบัญญัติบริษัทจำกัดคนเดียวฉบับล่าสุดมาให้เราได้ให้ความเห็นกัน (สำหรับคนที่อ่านบทความใน
ตอนนี้ ต้องบอกว่าน่าเสียดายมากๆ ครับ เพราะว่าการให้ความเห็นเรื่องนี้สิ้นสุดไปตั้งแต่เดือนธันวาคมปีที่แล้วครับ) 
แต่ไม่เป็นไรครับ ไม่ว่าจะอย่างไร ผมก็ยังทำหน้าที่เหมือนเช่นเดิม คือ สรุปหลักการจดทะเบียนบริษัทคนเดียวมา
ฝากกันแบบง่ายๆ โดยอ้างอิงจากร่างกฎหมายที่เปิดให้ความเห็นฉบับล่าสุดนี้ เอาละ! ถ้าพร้อมแล้ว เริ่มกันเลย
ดีกว่าครับผม

1. เจ้าของคนเดียวก็จดทะเบียนได้ แต่จดได้แค่บริษัทเดียวนะ
โดยร่างกฎหมายฉบับนี้เขียนไว้ตามมาตรา 11 ว่า บริษัทจำกัดคนเดียวคือบริษัทที่ตั้งขึ้นด้วยความประสงค์จะแสวง
หากำไรโดยมีเจ้าของทุนเป็นบุคคลธรรมดาคนเดียวซึ่งรับผิดจำกัดไม่เกินทุนจดทะเบียนของบริษัท ซึ่งหลักการ
ตรงนี้เหมือนกันกับการจดบริษัทจำกัดทั่วไปครับ
ส่วนมาตรา 12 ระบุไว้ว่า บุคคลจะเป็นเจ้าของทุนในบริษัทเกินกว่าหนึ่งบริษัทในเวลาเดียวกันไม่ได้ เว้นแต่เป็นไป
ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง นั่นแปลว่า คนหนึ่งคนจะมีได้เพียงแค่หนึ่งบริษัทเท่านั้น
ถ้าหากจะมีบริษัทใหม่ก็ต้องปิดบริษัทเดิมก่อนครับ
จะเห็นว่า ประโยชน์ของการมีบริษัทจำกัดคนเดียวนั้น ทำให้สามารถจดทะเบียนได้ง่ายขึ้นครับ และลดปัญหา
การทะเลาะกันหรือตกลงกันไม่ได้ระหว่างผู้ถือหุ้น รวมถึงจูงใจให้คนเข้าสู่ระบบภาษีได้อย่างถูกต้องมากขึ้นอีกด้วยครับ

2. จดแล้วจะได้รับชื่อว่า บริษัท...จำกัด (คนเดียว)
การจดทะเบียนแบบเจ้าของคนเดียวนั้น เราสามารถตั้งชื่อบริษัทยังไงก็ได้ครับ แต่จะมีคำลงท้ายในชื่อบริษัทจำกัด
(คนเดียว) อย่างเช่น นาย A อยากจดบริษัทของตัวเองขึ้นมา แล้วตั้งชื่อว่า บริษัท A จำกัด (คนเดียว) แบบนี้ก็ได้
เลยครับผม

3. ทุนของบริษัทไม่จำกัด จะเป็นเงินหรือทรัพย์สินก็ได้
ทุนของบริษัทจะเป็นแบบไหนยังไงก็ได้ครับ ทั้งเงินหรือทรัพย์สิน แต่ถ้าเป็นเงินต้องมีการชำระเต็มจำนวนเท่านั้น
ส่วนถ้าเป็นทรัพย์สิน ทางเจ้าของต้องมีการตีราคาตามเกณฑ์ที่ถูกต้องด้วยครับ
เนื่องจากมาตรา 14 ระบุไว้ว่า กรณีชำระทุนจดทะเบียนเป็นตัวเงิน เจ้าของทุนต้องชำระเต็มจำนวนก่อนการขอ
จดทะเบียนจัดตั้งบริษัท ซึ่งกรณีชำระทุนจดทะเบียนเป็นทรัพย์สินอื่นนอกจากตัวเงิน เจ้าของทุนต้องโอนทรัพย์สิน
นั้นให้แก่บริษัทภายใน 90 วันนับแต่วันที่นายทะเบียนรับจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทอีกด้วยครับ ซึ่งถ้าหากทำไม่ถูกต้อง
ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ก็อาจจะมีปัญหาได้ครับผม

4. สามารถแปรสภาพเป็น ‘บริษัทจำกัด’ ในอนาคตได้
หากต้องการมีหุ้นส่วนเพิ่ม ก็สามารถแปรสภาพเป็นบริษัทจำกัดได้ แต่องค์ประกอบต้องครบตามเงื่อนไขของ
บริษัทจำกัดตามกฎหมายครับ โดยมาตรา 38 ระบุไว้ว่า บริษัทอาจแปรสภาพเป็นบริษัทจำกัดได้โดยแบ่งทุนเป็น
หุ้นมีมูลค่าเท่าๆ กัน และจัดให้มีผู้จองหุ้นให้ครบเป็นองค์ประกอบในการจัดตั้งบริษัทจำกัดครับ และต้องมีหนังสือ
บอกกล่าวไปยังบรรดาผู้ซึ่งบริษัทรู้ว่าเป็นเจ้าหนี้ของบริษัท บอกให้ทราบถึงความประสงค์ที่จะแปรสภาพอีกด้วยครับ
และหากแปรสภาพจากบริษัทจำกัดคนเดียวเป็นบริษัทจำกัดแล้ว ให้บริษัทเดิมหมดสภาพไปได้เลย และตัว
บริษัทจำกัดจะได้ทั้งทรัพย์สิน หนี้ สิทธิ และความรับผิดของบริษัทเดิมทั้งหมดเลยครับ (ตามมาตรา 43)

5. จดแล้วต้องทำบัญชี สอบบัญชี และมีการส่งงบการเงินตามกฎหมาย
ร่างกฎหมายยังระบุให้ต้องมีการจัดทำบัญชี สอบบัญชี และนำส่งงบการเงินตามกฎหมายเหมือนกับบริษัทจำกัด
ทั่วไปเลยครับ โดยมีการเปิดช่องไว้เล็กๆ ในมาตรา 28 และ 29 ในกรณีที่จะมีข้อยกเว้นไม่ต้องนำส่งได้ แต่ตรงนี้
ต้องดูแนวปฏิบัติและข้อบังคับของกฎหมายอีกทีหนึ่งครับ
นอกจากนั้น ตัวเจ้าของบริษัทจำกัดคนเดียว สามารถกำหนดให้มีผู้จัดการดูแลกี่คนก็ได้ครับ ทั้งจะบริหารจัดการเอง
แต่งตั้งคนอื่นบริหารร่วม หรือให้คนบริหารร่วมกันอีกกี่คนก็ได้ครับ (มาตรา 22 และ 23) 

โดยรวมแล้วในมุมมองของผม คิดว่ามีประโยชน์กับทางนักบัญชีในแง่หนึ่งตรงที่เป็นการเพิ่มโอกาสใน
การหาลูกค้าและยกระดับการประกอบธุรกิจของนิติบุคคลไทย อย่างไรก็ดี เราต้องรอกฎหมายฉบับเต็ม
ออกมาอีกทีหลังจากผ่านร่างแล้วว่าจะเป็นอะไรยังไงแบบไหน ซึ่งถ้าหากมีอะไรใหม่ๆ ผมจะรีบมาแจ้ง
ให้ทราบกันนะครับ 



ภาษี : Tax Knowledge : TAXBugnoms
วารสาร : CPD&ACCOUNT มกราคม 2562


FaLang translation system by Faboba