ผู้นำในยุค Digital Economy

โดย

 


บริษัทเทคโนโลยี (Tech Company) ที่เริ่มกิจการตั้งแต่ยังเป็น Start up จนธุรกิจเติบโตประสบความสำเร็จ ผู้ก่อตั้งจะมีวิสัยทัศน์ชัดเจนว่าธุรกิจของตนเองนั้นมีเป้าหมายอย่างไร ผลิตภัณฑ์หรือบริการจะก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงต่อสังคมได้อย่างไร แม้ว่าผู้ก่อตั้งจะมีความเชื่อมั่นและมีระดับความคิดสร้างสรรค์ที่สูง แต่ข้อเท็จจริงกลับพบว่า ในบริษัทเทคโนโลยีเหล่านี้ผู้ก่อตั้งส่วนใหญ่ไม่ได้ทำหน้าที่บริหารองค์กรเอง แต่จะไปอยู่เบื้องหลังหรือยังคงดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าทีมด้านนวัตกรรม และจ้างมืออาชีพเข้ามาทำหน้าที่เป็น Chief Executive Officer (CEO) เนื่องจากมีทักษะและประสบการณ์ สามารถนำพาองค์กรไปสู่ความสำเร็จท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วได้

ที่ผ่านมา ผู้นำที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นมืออาชีพในการสร้างการเปลี่ยนแปลง บางครั้งจะแสดงภาวะผู้นำในลักษณะที่ขัดแย้งกันเอง (Leadership Paradox) เช่น บุคลิกภายนอกเป็นคนมีเมตตา เคารพความคิดเห็นของผู้อื่น แต่เวลาทำงานจะจริงจังและเข้มงวดในการบรรลุเป้าหมาย บางคนก็สามารถนำข้อบกพร่องหรือความไม่สมบูรณ์แบบของตนเองมาเป็นเครื่องมือในการแสดงออกถึงความกล้าหาญได้อย่างมีพลัง ผู้นำบางคนเน้นการเป็นผู้ให้บริการมากกว่าเป็นผู้ออกคำสั่ง และจะผลักดันอยู่เบื้องหลังโดยที่ผู้ตามคิดว่ากำลังนำอยู่ข้างหน้า

ในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) เรามักจะนึกถึงโมเดลธุรกิจลักษณะเดียวกับที่เกิดขึ้นในบริษัทเทคโนโลยี เช่น Facebook, Uber, Netflix หรือ Airbnb ซึ่งจะเติบโตเร็ว สินทรัพย์ส่วนใหญ่จับต้องไม่ได้ แต่ก็สามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้ และรู้ว่าผู้ใช้บริการต้องการอะไรเป็นอย่างดี การสร้างการเปลี่ยนแปลงในองค์กรที่เติบโตเร็ว ผู้นำจะอาศัยแค่ความรู้และภาวะผู้นำแบบเดิมๆ ดูจะไม่เพียงพอที่จะขับเคลื่อนธุรกิจที่ต้องการให้มีการเติบโตแบบก้าวกระโดด ทักษะที่ผู้นำในยุคดิจิทัลต้องมีเพิ่มเติมในการบริหารก็คือ สามารถนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาสร้างความโดดเด่นแบบแตกต่าง ให้ประสบการณ์ที่เหนือความคาดหมายกับลูกค้า (Beyond Customer Experience) และมีวิสัยทัศน์ในการใช้ข้อมูลให้เกิดประโยชน์ในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์และบริการ โฮวาร์ด ชูลท์ส (Howard Schultz) ผู้ก่อตั้งและ CEO ของสตาร์บัคส์ ได้กล่าวไว้ว่า ในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล งานที่ยากที่สุดไม่ใช่การแก้ปัญหาทางการเงิน หรือพัฒนานวัตกรรมใหม่ แต่คือการปลุกเร้าให้พนักงานทุกระดับเข้าใจวิสัยทัศน์และเป้าหมายในการสร้างประสบการณ์ที่ดีที่สุดให้กับลูกค้าที่มาใช้บริการ

ผู้นำที่เรียกว่า Digital Leader ในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล จะมีบทบาทและหน้าที่ในการผลักดันองค์กรที่แตกต่างจากเดิมในหลายมิติ เช่น

1. เพื่อขับเคลื่อนองค์กรให้เติบโตอย่างรวดเร็ว ผู้นำต้องผสมผสานปัจจัย “3C” เข้าด้วยกัน คือ Climate สภาพแวดล้อมการทำงาน, Culture วัฒนธรรมองค์กร และ Creativity ความคิดสร้างสรรค์ ตัวอย่างเช่น Google ใช้การออกแบบสถานที่ทำงานเพื่อช่วยสร้างบรรยากาศให้พนักงานเกิดความคิดสร้างสรรค์ได้ตลอดเวลา เอื้อต่อการทำงานเป็นทีม รวมทั้งสร้างวัฒนธรรมการยอมรับความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ใน “Googleplex” พนักงานแต่ละคนมี “เต็นท์” ส่วนตัว แต่ใช้วัสดุโปร่งใสทำให้แต่ละคนรู้สึกถึงความเป็นอิสระในการทำงาน ขณะเดียวกันก็ยังสามารถสบตาในลักษณะ “Eye Contact” ทำให้รู้สึกเสมือนตนเองเป็นส่วนหนึ่งของทีมงานอยู่ตลอดเวลา นอกจากนั้นการดีไซน์เครื่องตกแต่งในสำนักงานให้เป็นลักษณะสตูดิโอที่มีผนังและประตูเป็นอะคริลิกโปร่งใส ยังให้ความรู้สึกทั้งเป็นส่วนตัวและเปิดรับต่อความคิดใหม่ๆ จากภายนอก

2. ผู้นำในยุคดิจิทัลต้องผลักดันให้หน่วยงานคิดค้นผลิตภัณฑ์หรือบริการใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง หากไม่มี S-Curve ใหม่ หรือมี "ช้าเกินไป" การเติบโตจะหยุดนิ่งและดิ่งลงอย่างรวดเร็ว เพราะธุรกิจในยุคดิจิทัลจะอยู่ได้ยาวผู้นำจะ "ชนะครั้งเดียว" ไม่พอ สตีฟ จอบส์ (Steven Jobs) เป็นตัวอย่างของผู้นำที่ผลักดันบริษัทแอปเปิลให้สร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่สร้างประสบการณ์ให้ผู้ใช้งานที่แตกต่างกว่าเดิมออกสู่ตลาดทุกปี

3. เมื่อถึงเวลาต้องมีการเปลี่ยนแปลง ผู้นำในยุคดิจิทัลสามารถปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ขององค์กรโดยการสร้างรูปแบบธุรกิจใหม่ทั้งหมด หรือเปลี่ยนไปทำธุรกิจที่ใกล้เคียง สามารถใช้ประโยชน์จากความรู้ ความเชี่ยวชาญ และศักยภาพของบุคลากรที่มีอยู่ เช่น บริษัท IBM ที่มุ่งเน้นการเป็นที่ปรึกษาทางธุรกิจ (IBM Business Consulting) จนสามารถสร้างการเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง ฟูจิฟิล์มที่ใช้กลยุทธ์ในการแตกไลน์สินค้าใหม่ โดยใช้ความรู้เดิมที่มีอยู่ โดยเฉพาะในด้านเคมีและนาโนเทคโนโลยีจนสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่คือเครื่องสำอางบำรุงผิวและลบริ้วรอย ในบางครั้งเมื่อเห็นว่าไม่สามารถแข่งขันต่อไปได้ ผู้นำต้องตัดสินใจที่จะหยุดและออกจากการแข่งขันโดยทันที ซึ่งอาจจะขายธุรกิจเพื่อดึงเงินทุนกลับมาในขณะที่ธุรกิจยังมีมูลค่าอยู่ เช่น บริษัทอีสต์แมน โกดัก ขายสิทธิบัตรด้านภาพถ่ายดิจิทัลให้กับกูเกิลและแอปเปิล เพื่อนำเงินที่ได้ไปผ่อนชำระหนี้และคงธุรกิจบางส่วนไว้ เป็นต้น

4. การทำธุรกิจในยุคดิจิทัลต้องเผชิญกับแรงกดดันจากเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและทำลายธุรกิจที่ปรับตัวไม่ทันจนล่มสลาย (Disruptive Technology) ผู้นำในยุคดิจิทัลต้องกล้าที่จะพัฒนาสินค้าหรือบริการใหม่ๆ มาแทนที่สินค้าหรือบริการเดิมที่เริ่มล้าสมัย เช่น อเมซอน สามารถรักษาอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง เพราะมีการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ มาแทนที่ผลิตภัณฑ์เดิมของตนเอง เช่น Kindle e-book มาแทนการจำหน่ายหนังสือทางออนไลน์ Amazon Prime ให้บริการดูภาพยนตร์จำนวนมากทางอินเตอร์เน็ต แทนการจำหน่าย DVD ทางออนไลน์ เป็นต้น

5. ผู้นำในยุคดิจิทัลต้องเข้าใจคุณลักษณะของ “Digital Worker” เชื่อมั่นในทักษะการใช้เทคโนโลยี (Digital Native) ที่คนเหล่านี้มี และเปิดโอกาสให้สามารถแสดงความคิด มีอิสระในการตัดสินใจ สร้างผลงานเต็มที่ ซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ คิดนอกกรอบ กล้าทดลอง นำไปสู่นวัตกรรมใหม่ๆ แนวทางที่ผู้นำในยุคดิจิทัลควรนำมาใช้คือการมีส่วนร่วม เรียกว่ากรอบการทำงานแบบ I-C-T ซึ่งประกอบด้วย 3 ระดับ คือ ขั้นที่ 1 Influence + Co-operate + Engage ขั้นที่ 2 Initiate + Collaborate + Enhance และขั้นที่ 3 Integrate + Co-create + Empower ตัวอย่างเช่น บริษัท Honda สนับสนุนการทำงานของพนักงานโดยการมอบอำนาจเด็ดขาด (Empowerment) ให้อิสระทางความคิด ตัดสินใจได้เอง ทำให้นำไปสู่ความคิดสร้างสรรค์ จนสามารถผลิตหุ่นยนต์ Asimo ที่ทำงานได้คล้ายมนุษย์ ก่อนหน้าบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำอื่นๆ เป็นต้น

6. องค์กรในยุคดิจิทัลเริ่มมีการนำระบบ Automation หรือหุ่นยนต์ (Robot) เข้ามาทำงานร่วมกับมนุษย์มากขึ้น เรียกว่า “Collaborative Robot” หรือ “CoBot” ตามกฎ 3 ข้อของไอแซค อาซิมอฟ (Isaac Asimov) บิดาแห่งนิยายวิทยาศาสตร์ ที่ใช้เป็นกรอบในการอยู่ร่วมกันระหว่างมนุษย์และหุ่นยนต์ คือ 1) หุ่นยนต์มิอาจกระทำการอันตรายต่อผู้ที่เป็นมนุษย์หรือนิ่งเฉยปล่อยให้ผู้ที่เป็นมนุษย์ตกอยู่ในอันตรายได้ 2) หุ่นยนต์ต้องเชื่อฟังคำสั่งที่ได้รับจากผู้ที่เป็นมนุษย์ เว้นแต่คำสั่งนั้นๆ ขัดแย้งกับกฎข้อแรก และ 3) หุ่นยนต์ต้องปกป้องสถานะความมีตัวตนของตนไว้ ตราบเท่าที่การกระทำนั้นมิได้ขัดแย้งต่อกฎข้อแรกหรือข้อที่สอง ในการนำ “CoBot” มาใช้ หุ่นยนต์ต้องออกแบบให้ปลอดภัย มีหน้าที่ช่วยเหลือการทำงานของมนุษย์ น้ำหนักเบา เคลื่อนย้ายและดูแลรักษาได้ง่าย ผู้นำในยุคดิจิทัลต้องบริหารองค์กรที่มีการใช้ “CoBot” ซึ่งรวมถึงการพัฒนาทักษะของพนักงานให้ใช้หรือควบคุมระบบ Automation และหุ่นยนต์ได้เป็นอย่างดี

องค์กรในยุค Digital Economy ต้องมีโครงสร้างที่ไม่ซับซ้อน มีการจ้างบุคลากรที่มีความรู้ ความคิดเชิงนวัตกรรม เพื่อการทำงานสำหรับอนาคต ต้องมีผู้นำ (Digital Leader) ที่สามารถปรับเปลี่ยนองค์กรและบุคลากรให้ทำงานได้ดีภายใต้ Digital Environment ติดตามแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ผสมผสานกับการสร้างวัฒนธรรมที่เน้นการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับบุคลากร ใช้การวิเคราะห์ข้อมูลให้เกิดประโยชน์สูงสุด ให้โอกาสทดลองโครงการใหม่ๆ และมีความรวดเร็วในการตัดสินใจ นอกจากนี้ผู้นำยังต้องเข้าใจขีดความสามารถของเทคโนโลยีและการนำมาใช้ ซึ่งจะช่วยสร้างความโดดเด่นแบบแตกต่าง และให้ประสบการณ์ (Customer Experience) ที่เหนือความคาดหมายกับลูกค้าที่เลือกใช้ผลิตภัณฑ์หรือบริการ



HR TREND : HR Champion : บทความ ดร. ณัฐวุฒิ พงศ์สิริ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายทรัพยากรบุคคลและพัฒนาองค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย, นายกสมาคมการจัดการงานบุคคลแห่งประเทศไทย
วารสาร : HR Society Magazine เมษายน 2560
FaLang translation system by Faboba