ภาษีกับความมั่งคั่ง (ตอนที่ 15)

โดย

 



รายได้ประเภทใดบ้างที่ “มูลนิธิ” ต้องเสียภาษี

มูลนิธิจัดตั้งขึ้นได้ตามมาตรา 110 ของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งบัญญัติว่า
“มาตรา 110 มูลนิธิได้แก่ทรัพย์สินที่จัดสรรไว้โดยเฉพาะสำหรับวัตถุประสงค์เพื่อการกุศลสาธารณะ การศาสนา ศิลปะ วิทยาศาสตร์ วรรณคดี การศึกษา หรือเพื่อสาธารณประโยชน์อย่างอื่น โดยมิได้มุ่งหาผลประโยชน์มาแบ่งปันกัน และได้จดทะเบียนตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้

การจัดการทรัพย์สินของมูลนิธิ ต้องมิใช่การหาผลประโยชน์เพื่อบุคคลใดนอกจากเพื่อดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของมูลนิธิ
นั้นเอง”

เมื่อจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลเสร็จเรียบร้อยแล้ว จะแบ่งแยกมูลนิธิออกเป็นสองประเภทใหญ่ๆ คือ
1. มูลนิธิประเภทที่กระทรวงการคลังประกาศยกเว้นภาษีให้ ทั้งนี้ เป็นไปตามประกาศกระทรวงการคลังว่าด้วยภาษีเงินได้และภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 531) เรื่อง หลักเกณฑ์การพิจารณาประกาศกำหนดองค์การ สถานสาธารณกุศล สถานพยาบาล และสถานศึกษา ตามมาตรา 47 (7) (ข) แห่งประมวลรัษฎากร และมาตรา 3 (4) (ข) แห่งพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 239) พ.ศ. 2534 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 254) พ.ศ. 2535

2. มูลนิธิซึ่งกระทรวงการคลังยังไม่ได้ประกาศยกเว้นภาษีก็เป็นนิติบุคคลที่เสียภาษีค่อนข้างน้อยกว่าบริษัทและห้างหุ้นส่วน
คือ ไม่ถึงกับได้รับยกเว้นภาษีจากรายได้ทุกประเภท แต่ก็มีเงินรายรับประเภทใหญ่ๆ บางประการของมูลนิธิประเภทนี้ที่ไม่ต้องเสียภาษี คือ เงินได้จากการรับบริจาคจากผู้อุทิศให้ซึ่งมีได้ทั้งการรับบริจาคจากผู้ให้ที่ยังมีชีวิตอยู่ หรือรับบริจาคทางพินัยกรรมของผู้ที่เสียชีวิตแล้วก็ได้ ด้วยเหตุนี้ มูลนิธิประเภทนี้แม้จะไม่ได้รับการประกาศยกเว้นภาษี แต่ถ้ามีรายรับเงินบริจาคแต่เพียงอย่างเดียว ไม่ว่าผู้ให้จะอยู่ในประเทศไทยหรือส่งมาจากต่างประเทศ ก็ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเช่นกัน ปกติแล้วรายรับประการสำคัญของมูลนิธิ คือ เงินรับบริจาค

รายได้ประเภทใดบ้างที่มูลนิธิจะต้องเสียภาษี
(1) เงินได้จากธุรกิจ การพาณิชย์ การเกษตร การอุตสาหกรรม การขนส่ง หรือการอื่นใดซึ่งเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา
40 (8) เสียภาษีในอัตราร้อยละ 2.0 ของยอดรายรับ (ตามพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 250 พ.ศ. 2535)

รายได้ประเภทนี้ประกอบด้วย
(ก) รายได้ที่เป็นดอกเบี้ย ไม่ว่าจะเป็นดอกเบี้ยเงินฝาก ดอกเบี้ยหลักทรัพย์ที่เป็นตราสารหนี้ เช่น พันธบัตร หุ้นกู้
(ข) เงินปันผลที่รับจากบริษัทซึ่งมูลนิธิถือหุ้น มีหลายคนอาจจะสงสัยว่าเมื่อทางราชการไม่ประสงค์จะให้คณะกรรมการของมูลนิธินำเงินไปลงทุนซื้อหุ้นหรือหลักทรัพย์ที่เป็นตราสารทุนเพราะมีความผันผวนและมีความเสี่ยง แล้วมูลนิธิจะได้หุ้นมาอย่างไร ปัจจุบันมีคนจำนวนไม่น้อยที่บริจาคทรัพย์ให้มูลนิธิเป็นหุ้นที่ชำระเต็มมูลค่าแล้ว มูลนิธิก็มีสิทธิรับไว้เพราะไม่มีความเสี่ยงแต่ประการใด ในหลายๆ กรณีเงินปันผลจากหุ้นบางตัวอาจจะมีมากกว่าดอกเบี้ยกรณีที่มูลนิธินำเงินสดไปฝากธนาคาร
ไม่ว่าจะเป็นการฝากออมทรัพย์หรือฝากประจำ เพราะในระยะนี้ดอกเบี้ยเงินฝาก หรือดอกเบี้ยหุ้นกู้ พันธบัตร จะต่ำมาก โอกาสที่จะขยับตัวขึ้นก็น้อย หลายบริษัทซึ่งออกหุ้นทุนขายให้แก่ประชาชนสามารถจ่ายเงินปันผลในอัตราสูงกว่าดอกเบี้ย และมีแนวโน้มในการเติบโตของตัวหุ้นอีกด้วย ทำให้เกิดมีกำไรจากการเพิ่มราคาของหุ้น คือ มี Capital Gain
(ค) ค่าเช่า ในกรณีที่มูลนิธิมีทรัพย์สิน ไม่ว่าจะเป็นอสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ หากมีบุคคลใดมาเช่าและจ่ายค่าเช่า รายได้ค่าเช่าก็ต้องเสียภาษีในนามมูลนิธิด้วย

อัตราภาษีตาม (ก), (ข) และ (ค) ข้างต้น กฎหมายกำหนดให้เสียที่ 10% ของรายรับที่เป็นดอกเบี้ย เงินปันผล และค่าเช่า โดยไม่ยอมให้หักค่าใช้จ่ายใดๆ

(2) เงินได้อื่นนอกจากเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8) เช่น ค่าเช่า ดอกเบี้ย เงินปันผล ฯลฯ เสียภาษีในอัตราร้อยละ
10.0 ของยอดรายรับ

ส่วนรายได้อื่นๆ เช่น มูลนิธิมีการจัดสัมมนาและขายบัตร หรือมูลนิธิมีการขายของที่รับบริจาคจากผู้อื่น หรือมีการจัดงานออกร้านแสดงสินค้า (Exhibition) ต่างๆ รายได้ประเภทนี้ถือเป็น 40 (8) ของประมวลรัษฎากร ถือเป็นเงินได้ กฎหมายให้เสียในอัตรา 2% คือ ลดจากประเภท (ก), (ข) และ (ค) ที่ต้องเสีย 10%


   
         บางส่วนจากบทความ “ภาษีกับความมั่งคั่ง (ตอนที่ 15)” โดย ดร.สุวรรณ วลัยเสถียร เซ็คชั่น
         : การวางแผนภาษี คอลัมน์ : การวางแผนภาษี วารสารเอกสารภาษีอากร ปีที่ 37 ฉบับที่ 439
         เดือนเมษายน 2018 




การวางแผนภาษี : ดร.สุวรรณ วลัยเสถียร
วารสาร : เอกสารภาษีอากร เมษายน 2561



FaLang translation system by Faboba