วางแผนภาษีจากมอบของขวัญปีใหม่ให้พนักงานหรือลูกจ้าง

โดย

 


4 ภาระภาษีที่ต้องพิจารณา เมื่อซื้อของขวัญ ของรางวัล มาจับสลากแจกปีใหม่ให้พนักงาน


ปกติในงานเลี้ยงปีใหม่ของบริษัทหรือร้านค้ามักจะต้องมีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการซื้อของต่างๆ เช่น ตู้เย็น โทรทัศน์ ทองคำ
นาฬิกา เครื่องคอมพิวเตอร์ เป็นต้น เพื่อนำมาให้พนักงานหรือลูกจ้างของตนจับสลากเพื่อความรื่นเริงและเป็นขวัญกำลัง
ใจให้แก่พนักงานในการทำงาน ซึ่งในการแจกของขวัญนั้น บริษัทหรือร้านค้าได้กำหนดและระบุไว้ในระเบียบสวัสดิการ
ของพนักงานอย่างชัดเจนว่า พนักงานหรือลูกจ้างทุกคนมีสิทธิจับสลากทุกคน ไม่ได้เลือกปฏิบัติกับพนักงานหรือลูกจ้าง
รายใดรายหนึ่งเป็นการเฉพาะ โดยพนักงานหรือลูกจ้างรายใดจะได้รับของขวัญของรางวัลหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการจับสลาก
ในงานเลี้ยง 

ทั้งนี้ ในการที่บริษัทหรือร้านค้ามีการซื้อของขวัญ ของรางวัล มาจับสลากแจกเป็นของขวัญปีใหม่ให้พนักงาน
นั้น บริษัทหรือร้านค้าจะมีภาระภาษีที่ต้องพิจารณา 4 กรณี ดังนี้


1. ภาษีเงินได้นิติบุคคล บริษัทหรือร้านค้าที่กำหนดในระเบียบหรือข้อบังคับของบริษัทหรือร้านค้าในการซื้อของมา
จับสลาก บริษัทหรือร้านค้าดังกล่าวมีสิทธินำรายจ่ายที่ได้จ่ายไปนั้นไปถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสีย
ภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (3) และ (13) แห่งประมวลรัษฎากร

2. ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา การแจกรางวัลให้แก่พนักงานของบริษัทหรือร้านค้า ถือเป็นประโยชน์เพิ่มของพนักงาน
เข้าลักษณะเป็นเงินได้เนื่องจากการจ้างแรงงานตามมาตรา 40 (1) แห่งประมวลรัษฎากร พนักงานที่ได้รับรางวัลต้อง
นำเงินรางวัลดังกล่าวมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และบริษัทหรือร้านค้าผู้จ่ายมีหน้าที่
หักภาษี ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50 (1) แห่งประมวลรัษฎากร กรณีไม่เข้าลักษณะเป็นเงินได้ที่ได้รับจากการให้โดย
เสน่หาเนื่องในพิธีหรือตามโอกาสแห่งขนบธรรมเนียมประเพณีตามมาตรา 42 (10) แห่งประมวลรัษฎากร

3. ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย พนักงานที่ได้รับรางวัลจากการจับสลากจะต้องถูกบริษัทหรือร้านค้า (นายจ้าง) หักภาษี
เงินได้ ณ ที่จ่ายตามมาตรา 50 (1) แห่งประมวลรัษฎากร

4. ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีบริษัทหรือร้านค้าซื้อของขวัญมาให้พนักงานจับสลากในวันขึ้นปีใหม่ โดยกำหนดระเบียบเกี่ยว
กับสวัสดิการของพนักงานอย่างชัดเจน ภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภาษีซื้อ) ที่เกิดจากการซื้อของขวัญดังกล่าวย่อมเป็นภาษีซื้อที่
เกี่ยวข้องโดยตรงกับการประกอบกิจการขายสินค้าหรือให้บริการของผู้ประกอบการ บริษัทหรือร้านค้ามีสิทธินำภาษีซื้อมา
คำนวณออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร โดยบริษัทหรือร้านค้า
มีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7.0 ของมูลค่าของรางวัลที่บริษัทหรือร้านค้าจัดหามา (ต้นทุนที่ซื้อมา)
เพื่อแจกรางวัลให้กับพนักงาน เพราะเข้าลักษณะเป็นการขายตามมาตรา 77/1 (8) แห่งประมวลรัษฎากร ความรับผิด
ในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นเมื่อมีการส่งมอบสินค้า ซึ่งบริษัทหรือร้านค้าไม่จำต้องจัดทำใบกำกับภาษีสำหรับการมอบ
ของรางวัลดังกล่าวก็ได้ ตามข้อ 2 (10) ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. 86/542ฯ แต่ต้องนำรายการดังกล่าวไปลงใน
รายงานภาษีขายตามข้อ 7(6) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 89)ฯ ด้วย

ข้อพึงสังเกต
หากบริษัทหรือร้านค้าไม่ประสงค์จะเสียภาษีมูลค่าเพิ่มจากของขวัญที่ซื้อมาจับสลาก บริษัทหรือร้านค้าต้องให้รางวัล
เป็น “เงิน” หรือ “บัตรกำนัล” ให้พนักงานหรือลูกจ้างแทนการให้ของขวัญ

   
      บางส่วนจากบทความ “วางแผนภาษีจากมอบของขวัญปีใหม่ให้พนักงานหรือลูกจ้าง” 
      อ่านบทความฉบับเต็มได้ใน... วารสารเอกสารภาษีอากร ปีที่ 38 ฉบับที่ 447 เดือนธันวาคม 2018




ภาษีสรรพากร : ดร. เพชรรัตน์ ศุภนิมิตรกุลกิจ 
วารสาร : เอกสารภาษีอากร ธันวาคม  2561



FaLang translation system by Faboba