แนวโน้มการใช้ IT ในการตรวจสอบข้อมูลดอกเบี้ยเงินฝาก

โดย

 


แนวโน้มการใช้ IT ในการตรวจสอบข้อมูลดอกเบี้ยเงินฝาก


ในปัจจุบัน ผู้มีเงินได้ที่ได้รับดอกเบี้ยเงินฝากเกินจำนวนที่กฎหมายกำหนด (โดยเฉพาะกรณีเงินฝากประเภท
ออมทรัพย์) จะต้องถูกธนาคารผู้จ่ายดอกเบี้ย หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 15 ซึ่งในทางปฏิบัติ ผู้มี
เงินได้ซึ่งเป็นผู้ฝากเงินอาจเปิดบัญชีเงินฝากกับหลายธนาคารและมีรายได้จากดอกเบี้ยเงินฝากรวมกันเกิน
จำนวนที่กฎหมายกำหนด กรณีดังกล่าว ผู้มีเงินได้มีหน้าที่ต้องแจ้งธนาคารผู้จ่ายดอกเบี้ยให้หักภาษี
เงินได้ ณ ที่จ่ายตามอัตราที่กฎหมายกำหนด แต่ปัญหาที่เกิดขึ้น คือ เนื่องจากปัจจุบันข้อมูลการฝากเงินของลูกค้า
ต่างธนาคารไม่มีการเชื่อมโยงกันในแต่ละธนาคาร ทำให้ธนาคารผู้รับฝากเงินแต่ละแห่งไม่สามารถตรวจสอบข้อมูล
จำนวนดอกเบี้ยเงินฝากของผู้ฝากเงินของธนาคารอื่นได้ นอกจากธนาคารของตนเองประกอบกับผู้ฝากเงิน (ซึ่ง
เป็นผู้รู้ว่าตนเองได้รับดอกเบี้ยจากธนาคารที่ตนมีเงินฝากรวมกันทั้งหมดเท่าใด) ไม่ได้แจ้งธนาคารผู้จ่ายดอกเบี้ย
(ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม) ให้หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ทำให้ธนาคารแต่ละแห่งที่จ่ายดอกเบี้ยเงินฝาก
ไม่เกินจำนวนที่กฎหมายกำหนด (2,0000 บาท) ไม่ได้หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย จากผู้ฝากเงินแต่อย่างใด หรือใน
บางกรณี อาจพบว่า ผู้ฝากเงินได้เปิดบัญชีเงินฝากกับธนาคารเพียงแห่งเดียว แต่เพื่อรักษาลูกค้าของตน พนักงาน
ธนาคารบางแห่งจึงเสนอแนะแนวทางหลบเลี่ยงภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ให้แก่ลูกค้าของตน เช่น กรณีดอกเบี้ย
เงินฝากประเภทออมทรัพย์ ประมวลรัษฎากรกำหนดให้ยกเว้นภาษีจากดอกเบี้ยเงินฝาก หากผู้มีเงินได้มีจำนวน
ดอกเบี้ยเงินฝากรวมกันไม่เกิน 20,000 บาทซึ่งในทางปฏิบัติ ธนาคารจะจ่ายดอกเบี้ยให้ผู้ฝากเงินปีละ 2 ครั้ง และ
เมื่อใกล้ถึงวันที่ดอกเบี้ยจะครบกำหนดเงื่อนไขที่ต้องเสียภาษี พนักงานธนาคารจะทำการแจ้งให้ลูกค้าให้มาทำ
การปิดบัญชีและเปิดบัญชีเงินฝากเล่มใหม่กับธนาคาร การกระทำดังกล่าวถือเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่ลูกค้าของ
ธนาคารแต่ทำให้รัฐสูญเสียรายได้จำนวนมากและเป็นเรื่องที่พนักงานธนาคารไม่ควรกระทำเป็นอย่างยิ่ง

ด้วยสาเหตุดังกล่าว ในอนาคตอันใกล้นี้ กรมสรรพากรจะได้มีการนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่ได้พัฒนาขึ้น
เฉพาะเพื่อใช้รวบรวมข้อมูลจำนวนดอกเบี้ยเงินฝาก เช่น ประเภทออมทรัพย์ ของผู้ฝากเงินที่ได้เปิดบัญชีเงินฝาก
ดังกล่าวไว้กับธนาคารต่างๆ โดยข้อมูลของจำนวนดอกเบี้ยที่รวบรวมได้ กรมสรรพากรจะทำการแจ้งให้ธนาคาร
แต่ละแห่งทราบก่อนถึงกำหนดวันจ่ายดอกเบี้ยเงินฝากของธนาคาร เพื่อธนาคารจะได้หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตาม
ที่กฎหมายกำหนดต่อไป

หลายท่านสงสัยว่า ปัจจุบันธนาคารแต่ละแห่งได้ส่งข้อมูลดอกเบี้ยเงินฝากของผู้ฝากเงินให้กรมสรรพากรหรือไม่
ซึ่งเมื่อพิจารณากฎหมายตามประมวลรัษฎากรตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรฉบับต่างๆ ที่เกี่ยวกับการยกเว้นภาษี
เงินได้สำหรับดอกเบี้ยเงินฝาก เห็นว่า กฎหมายได้กำหนดหน้าที่ให้ธนาคาร (รวมทั้งสหกรณ์ออมทรัพย์ (สำหรับ
เงินฝากประเภทการฝากประจำที่มีระยะเวลาการฝากตั้งแต่ 24 เดือน ขึ้นไป)) แจ้งกรมสรรพากร สรุปได้ดังนี้

1. ธนาคารซึ่งจ่ายดอกเบี้ยเงินฝากประเภทออมทรัพย์ (รวมทั้งสหกรณ์ออมทรัพย์ (สำหรับเงินฝากประเภทการ
ฝากประจำที่มีระยะเวลาการฝากตั้งแต่ 24 เดือน ขึ้นไป)) ต้องส่งข้อมูลของผู้ฝากเงินด้วยสื่อบันทึกข้อมูลในรูปแบบ
ต่างๆ เช่น CD หรือ กระดาษ (กรณีไม่มีเครื่องคอมพิวเตอร์) พร้อมกับรายละเอียดที่ผู้ฝากเงินแจ้งต่อธนาคารให้
สำนักงานสรรพากรพื้นที่ในเขตท้องที่ที่ธนาคารซึ่งเป็นผู้จ่ายดอกเบี้ยตั้งอยู่ (กรณีดอกเบี้ยเงินฝากประเภท
ออมทรัพย์ และประเภทประจำปลอดภาษีที่มีระยะเวลาการฝากตั้งแต่ 24 เดือน ขึ้นไป) 

2. ธนาคารผู้จ่ายดอกเบี้ยเงินฝากประจำไม่เกิน 30,000 บาท ตลอดปีภาษี เฉพาะดอกเบี้ยเงินฝากประจำที่มีระยะ
เวลาการฝากตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไปและผู้มีเงินได้มีอายุไม่ต่ำกว่า 55 ปีบริบูรณ์ให้แจ้งข้อมูลต่อกองเทคโนโลยีสารสนเทศ
กรมสรรพากร โดยให้ส่งเป็นสื่อบันทึกข้อมูล เช่น CD, Handy Drive เป็นต้น ตามระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด 

เนื่องจากกฎหมายเกี่ยวกับดอกเบี้ยเงินฝากได้มีการใช้มาเป็นระยะเวลานานแล้ว ซึ่งในเวลาที่ออกกฎหมายนั้น ระบบ
เทคโนโลยีสารสนเทศยังไม่ได้พัฒนาเฉกเช่นปัจจุบัน อีกทั้ง สถานที่ที่ให้ส่งข้อมูลดอกเบี้ยเงินฝากให้กรมสรรพากร
มี 2 แห่ง ได้แก่ สำนักงานสรรพากรพื้นที่ และกองเทคโนโลยีสารสนเทศ (ตามประเภทของเงินที่ฝาก) ดังนั้น
การเชื่อมโยงข้อมูลดอกเบี้ยเงินฝากของสถาบันการเงินแต่ละแห่งจึงทำได้ค่อนข้างยากและต้องใช้ระยะเวลาใน
การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล แต่อย่างไรก็ดี เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว กรมสรรพากรจึงจำเป็นต้องทำหน้าที่เป็น
ตัวกลางในการรวบรวมข้อมูลดอกเบี้ยเงินฝากของผู้ฝากเงิน โดยอาจต้องให้สถาบันการเงินแต่ละแห่งส่งข้อมูล
ดอกเบี้ยเงินฝากให้กองเทคโนโลยีสารสนเทศ กรมสรรพากร แห่งเดียว เพื่อความรวดเร็วและถูกต้องของข้อมูล
โดยวิธีการส่งข้อมูลอาจให้ส่งด้วยวิธีการที่กรมสรรพากรกำหนด และใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ได้พัฒนาขึ้นมาเป็น
การเฉพาะ ซึ่งสถาบันการเงินสามารถส่งข้อมูลได้ทันที โดยไม่ต้องบันทึกข้อมูลลงสื่อบันทึกข้อมูลอีกต่อไป แต่
อย่างไรก็ดี หากสถาบันการเงินหรือสหกรณ์ออมทรัพย์บางแห่งที่ยังไม่มีความพร้อมในระบบการส่งข้อมูลดังกล่าว
ก็สามารถส่งข้อมูลด้วยสื่อบันทึกข้อมูลตามระยะเวลาที่กำหนดให้แก่กองเทคโนโลยีสารสนเทศ กรมสรรพากร
ได้เช่นกัน การดำเนินการในรูปแบบใหม่ดังกล่าวจะทำให้การจัดเก็บภาษีมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะทำให้
ปัญหาต่างๆ ลดน้อยลงหรือหมดไปในที่สุด


   
      บางส่วนจากบทความ “ความเป็นไปได้ในการใช้ IT ในการตรวจสอบดอกเบี้ยเงินฝากของบุคคลธรรมดาของ
      กรมสรรพากร” 

      อ่านบทความฉบับเต็มได้ใน... วารสารเอกสารภาษีอากร ปีที่ 38 ฉบับที่ 451 เดือนเมษายน 2019




ภาษีอากร : ภาษีสรรพากร : ดร. เพชรรัตน์ ศุภนิมิตรกุลกิจ
วารสาร : เอกสารภาษีอากร เมษายน 2562



FaLang translation system by Faboba