“ยกเว้นเบี้ยปรับ เงินเพิ่ม ตาม พ.ร.บ. ต้องทำอย่างไร”

โดย

 


คุณสมบัติของบริษัทที่จะได้รับการยกเว้นเบี้ยปรับเงินเพิ่ม ตาม พ.ร.บ.

สำหรับคุณสมบัติของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่จะได้รับการยกเว้นเบี้ยปรับ เงินเพิ่ม ตาม พ.ร.บ. ได้กำหนด
คุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ไว้ด้วยกัน 3 ข้อ (มาตรา 5) คือ

(1) มีรายได้จากกิจการหรือเนื่องจากกิจการที่กระทำในรอบระยะเวลาบัญชีสุดท้าย ซึ่งมีกำหนดครบ 12 เดือน 
โดยวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีสิ้นสุดก่อนหรือในวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2561 ไม่เกินห้าร้อยล้านบาท  ทั้งนี้ 
ตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ตามมาตรา  65  แห่งประมวลรัษฎากร

คุณสมบัติตาม (1) นี้พิจารณาจากรายได้ของบริษัทฯ (ไม่เกิน 500 ล้านบาท) ซึ่งตามปกติเป็นรายได้ตามแบบ ภ.ง.ด.50
ที่ยื่นไว้ในรอบระยะเวลาบัญชี โดยใช้รายได้ที่เป็นรายได้ของรอบระยะเวลาบัญชีมีกำหนดครบ 12 เดือน มาเป็นตัววัด
คุณสมบัติตาม (1) ดังนั้นถ้าเป็นรายได้ของบริษัทฯ ที่เพิ่งเริ่มตั้งบริษัทฯ หรือรายได้ของบริษัทฯ ที่กำหนดรอบระยะเวลา
บัญชีแรกไม่ครบ 12 เดือน หรือบริษัทฯ ที่ได้รับอนุมัติให้เปลี่ยนรอบระยะเวลาบัญชีโดยรอบระยะเวลาบัญชีที่เปลี่ยน
ไม่ครบ 12 เดือน ไม่ให้นำรายได้ดังกล่าวมาเป็นฐานในการเข้าคุณสมบัติตาม (1) นี้ โดยรอบระยะเวลาบัญชีที่จะพิจารณา
คุณสมบัตินี้เป็นรอบระยะเวลาบัญชีที่มีวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีสิ้นสุดก่อนหรือในวันที่ 30 กันยายน  พ.ศ. 2561

ตัวอย่าง บริษัท ก. จำกัด มีรอบระยะเวลาบัญชีตรงตามปีปฏิทิน รายได้ที่จะเป็นตัววัดคุณสมบัติตาม (1) นี้ คือรายได้ของ
รอบระยะเวลาบัญชี 1 มกราคม 2560 – 31 ธันวาคม 2560
บริษัท ข. จำกัด มีรอบระยะเวลาบัญชี 1 เมษายน – 31 มีนาคมของปีถัดไป รายได้ที่จะเป็นตัววัดคุณสมบัติตาม (1) นี้
คือรายได้ของรอบระยะเวลาบัญชี 1 เมษายน 2560 – 31 มีนาคม 2561
บริษัท ค. จำกัด มีรอบระยะเวลาบัญชี 1 ตุลาคม – 30 กันยายนของปีถัดไป รายได้ที่จะเป็นตัววัดคุณสมบัติตาม (1) นี้
คือรายได้ของรอบระยะเวลาบัญชี 1 ตุลาคม 2560 – 30 กันยายน 2561
บริษัท ง. จำกัด มีรอบระยะเวลาบัญชี 1 พฤศจิกายน – 31 ตุลาคมของปีถัดไป รายได้ที่จะเป็นตัววัดคุณสมบัติตาม (1) นี้
คือรายได้ของรอบระยะเวลาบัญชี 1 พฤศจิกายน 2559 – 31 ตุลาคม 2560
บริษัท จ. จำกัด มีรอบระยะเวลาบัญชี 1 มกราคม – 31 ธันวาคม ต่อมาปี 2561 ได้รับอนุมัติให้เปลี่ยนรอบระยะเวลาบัญชี
เป็น 1 เมษายน – 31 มีนาคม ของปีถัดไป  เริ่มรอบฯ ที่เปลี่ยนเป็นรอบฯ ที่เต็มกำหนดเวลา 12 เดือน ตั้งแต่
วันที่ 1 เมษายน 2561 จึงทำให้รอบระยะเวลาบัญชีที่เปลี่ยนมีระยะเวลาเพียง 3 เดือนคือ 1 มกราคม 2561 – 31 มีนาคม
2561 รายได้ที่จะเป็นตัววัดคุณสมบัติตาม (1) นี้ คือรายได้ของรอบระยะเวลาบัญชี 1 มกราคม 2560 – 30 ธันวาคม 2560

มีข้อสังเกตว่า พ.ร.บ. ให้ใช้รายได้ของรอบระยะเวลาบัญชีสุดท้ายที่ครบกำหนด 12 เดือน มาเป็นตัววัดคุณสมบัติ โดย
ไม่ได้คำนึงถึงรายได้ของรอบระยะเวลาบัญชีก่อนๆ หรือรอบระยะเวลาบัญชีอื่นๆ 

(2)ได้มีการยื่นรายการภาษีเงินได้สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีตาม (1) ไว้แล้วก่อนวันที่ พระราชบัญญัตินี้
ใช้บังคับ 

คุณสมบัติตาม (2) นี้  เป็นข้อกำหนดในการพิจารณาการที่จะได้รับสิทธิยกเว้นเบี้ยปรับ เงินเพิ่มนั้น บริษัทหรือ
ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลต้องได้มีการยื่นแบบ ภ.ง.ด.50 สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีตามคุณสมบัติตาม (1) แล้วด้วย โดยแบบ
ภ.ง.ด.50 ดังกล่าว ต้องเป็นการยื่นก่อนวันที่ 26 มีนาคม 2562 ซึ่งเป็นวันที่ พ.ร.บ. มีผลใช้บังคับ ถ้ายังไม่ได้ยื่นแบบ
ภ.ง.ด.50 แล้วก็ไม่ได้รับสิทธิยกเว้นเบี้ยปรับ เงินเพิ่มแต่อย่างใด  เช่น บริษัท ก. จำกัด มีรอบระยะเวลาบัญชี  1 ตุลาคม
– 30 กันยายน ของปีถัดไป ซึ่งต้องยื่นแบบ ภ.ง.ด.50 ของรอบระยะเวลาบัญชี 1 ตุลาคม 2560 – 30 กันยายน 2561
ภายในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2562 แต่บริษัทฯ ยังไม่ได้ยื่นแบบ ภ.ง.ด.50 สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีดังกล่าว บริษัทฯ ย่อม
ไม่ได้รับสิทธิยกเว้นเบี้ยปรับ เงินเพิ่ม ตาม พ.ร.บ. แต่อย่างใด ทั้งนี้มีข้อสังเกตว่า การยื่นแบบ ภ.ง.ด.50 ของรอบระยะ
เวลาบัญชีตามคุณสมบัติตาม (1) แม้จะเป็นการยื่นแบบ ภ.ง.ด.50 เกินเวลาที่กฎหมายกำหนดก็ไม่ได้ผิดเงื่อนไข ขอให้
เป็นการยื่นแบบ ภ.ง.ด. 50 ก่อนวันที่ 26 มีนาคม 2562 

(3) ไม่เป็นผู้ออกใบกำกับภาษีหรือผู้ใช้ใบกำกับภาษีที่กรมสรรพากรได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนว่าได้มี
การกระทำความผิดอาญาเกี่ยวกับใบกำกับภาษีตามประมวลกฎหมายอาญาไว้แล้วก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้
ใช้บังคับ

เงื่อนไขตาม (3) นี้ เป็นลักษณะต้องห้ามของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่จะได้รับสิทธิยกเว้นเบี้ยปรับ เงินเพิ่มตาม
พ.ร.บ. นั้น ต้องยังไม่เป็นผู้ถูกกล่าวหาโดยการร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนซึ่งเป็นคดีอาญา ในข้อหาเป็นผู้ออกใบกำกับ
ภาษีปลอมตามมาตรา 264 ประกอบกับมาตรา 265 แห่งประมวลกฎหมายอาญา หรือผู้ใช้ใบกำกับภาษีปลอมตาม
มาตรา 268 แห่งประมวลกฎหมายอาญา อย่างไรก็ดี ถ้าการกระทำความผิดดังกล่าวยังไม่มีการร้องทุกข์ต่อพนักงาน
สอบสวนไว้ก่อนวันที่ 26 มีนาคม 2562 ซึ่งเป็นวันที่ พ.ร.บ.มีผลใช้บังคับ บริษัทฯ ก็ยังมีสิทธิได้รับยกเว้นเบี้ยปรับ เงินเพิ่ม
ตาม พ.ร.บ.
สำหรับการกระทำความผิดอื่นเกี่ยวกับใบกำกับภาษีที่มีโทษทางอาญาตามประมวลรัษฎากร เช่น การออกใบกำกับภาษี
โดยไม่มีสิทธิออก ไม่อยู่ในเงื่อนไขที่จะเข้าลักษณะต้องห้ามตาม พ.ร.บ.

   
      บางส่วนจากบทความ “ยกเว้นเบี้ยปรับ เงินเพิ่ม ตาม พ.ร.บ. ต้องทำอย่างไร”
      อ่านบทความฉบับเต็มได้ใน... วารสารเอกสารภาษีอากร ปีที่ 38 ฉบับที่ 453 เดือนมิถุนายน 2562




Tax Talk : ภาษีสรรพากร : ชุมพร เสนไสย
วารสาร : เอกสารภาษีอากร มิถุนายน  2562



FaLang translation system by Faboba