ดอกเบี้ยออมทรัพย์กับภาษีและเรื่องที่นักบัญชีต้องใส่ใจ

โดย

 


อะไรนะ! ดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ต้องเสียภาษีด้วยเหรอ? เชื่อว่าใครหลายคนคงต้องได้ยินแบบนี้เมื่อช่วงปลายเดือน
เมษายนที่ผ่านมา หลังจากที่ประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ฉบับที่ 344 ได้เริ่มบังคับใช้ตั้งแต่
วันที่ 4 เมษายนเป็นต้นไป 

ในช่วงเวลาที่ท่านผู้อ่านที่กำลังอ่านบทความนี้อยู่ ผมเชื่อว่าเรื่องทั้งหมดก็คงเงียบลงแล้วล่ะครับ แต่สิ่งหนึ่งที่ค้างคาอยู่
ในใจของผมก็คือ เรื่องทั้งหมดนี้ เราควรเรียนรู้อะไรจากมัน และในฐานะนักบัญชี มีอะไรที่เราต้องใส่ใจบ้าง ขออนุญาต
ทวนกฎหมายสั้น ๆ ตามนี้ครับ
• ที่ผ่านมากฎหมายให้สิทธิยกเว้นภาษีดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ที่ไม่เกิน 20,000 บาท ตามประกาศอธิบดี
กรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ฉบับที่ 55 ซึ่งระบุหมายถึง ดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ "รวมกันทุกธนาคาร" ต้องไม่เกิน
20,000 บาท แต่เนื่องจากธนาคารไม่ได้เชื่อมโยงข้อมูลกัน มันเลยมีปัญหาและช่องโหว่ของกฎหมายอยู่ เลยทำให้บางธนาคารอาจจะมีการชี้ช่องทางให้ลูกค้าว่า ถ้าดอกเบี้ยจะครบ 20,000 บาทให้มาปิดบัญชีแล้วเปิดใหม่ จะได้ไม่ต้อง
เสียภาษี
• แต่กฎหมายใหม่ออกมาบอกว่า ธนาคารต้องส่งข้อมูลการคิดดอกเบี้ยและการจ่ายดอกเบี้ยออมทรัพย์ให้สรรพากรปีละ
4 ครั้ง นั่นแปลว่าต่อจากนี้สรรพากรจะรู้ว่าใครที่มีเงินฝากเยอะ หลายบัญชี ดอกเบี้ยออมทรัพย์ได้รับเกิน 20,000 บาท
แต่ไม่ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% ไว้ จะได้ให้ธนาคารแต่ละธนาคารหักภาษีและนำส่งถูกต้องต่อไป
• ฟังดูแล้วก็ไม่น่าจะเกิดปัญหา แต่ปัญหาที่มันเกิดตามมาก็คือ กฎหมายฉบับนี้มีการระบุประเด็นสำคัญไว้ว่า ถ้าหาก
เจ้าของบัญชีคนไหนที่ได้รับดอกเบี้ยออมทรัพย์ไม่เกิน 20,000 บาท (ได้รับสิทธิยกเว้นภาษี) แต่ไม่ยินยอมให้ธนาคาร
ส่งข้อมูลให้สรรพากร จะต้องถูกธนาคารหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้เลย 15% ทันที

ดังนั้น ประเด็นที่เป็นปัญหาสำคัญมีอยู่ 2 เรื่อง เรื่องแรก คือ ความยากลำบากในการแจ้งข้อมูลกับทางธนาคาร เพราะ
ยังไม่รู้ว่าแนวทางการแจ้งข้อมูลจะเป็นอย่างไร จะต้องไปแจ้งข้อมูลกับธนาคารไหม หรือ ไม่ต้องไปแจ้งข้อมูล ซึ่งตรงนี้
ต้องรอดูกันต่อไปครับ (ณ วันที่เขียนบทความยังไม่มีแนวทางที่ชัดเจน) 
เรื่องที่สอง คือ ถ้าไม่ยอมให้ธนาคารแจ้งข้อมูล แต่ยอมให้หักภาษี ณ ที่จ่าย 15% ไปเลยจากดอกเบี้ยออมทรัพย์ที่ได้
ปัญหาอาจจะตกกับทางผู้มีเงินได้เช่นเดียวกัน นั่นคือ ถ้าเราเสียภาษีเงินได้ในฐาน 20% แล้ว การถูกหักภาษี 15%
ไว้แบบนี้ก็ไม่สามารถขอคืนได้ เพราะถ้าเอามารวมเป็นเงินได้ตอนปลายปีก็จะเสียภาษีเพิ่ม ดังนั้น มันก็มีผลกระทบกับ
คนส่วนหนึ่งที่ต้องเสียภาษีส่วนนี้ไปฟรี ๆ แม้จะไม่ใช่จำนวนเงินมากก็ตาม (คิดเป็นจำนวนภาษีที่ถูกหัก ณ ทีจ่ายสูงสุด
ไม่เกิน 3,000 บาท เมื่อคิดจากฐานดอกเบี้ย 20,000 บาท)

ดังนั้น ในมุมมองของเรื่องภาษีที่มีผลกระทบอาจจะมีเพียงเท่านี้ แต่ถ้าหากเรามองต่อของมุมนักบัญชี เราควรจะแนะนำ
เรื่องนี้กับผู้รับบริการของเราอย่างไรแบบไหน ว่าจริง ๆ แล้วควรจะกลัวไหมเรื่องเสียภาษี 
หรือถ้าหากคิดว่าจะเป็นปัญหา และไม่อยากเสียภาษีบัญชีออมทรัพย์ เราควรแนะนำต่อไปว่าให้หาช่องทางอื่นฝากเงิน
แทนที่พอจะทดแทนกันได้ เช่น เงินฝากเผื่อเรียกออมสิน เงินฝากออมทรัพย์ ธ.ก.ส หรือไปใช้เงินฝากประเภทอื่นที่
อาจจะมีสภาพคล่องน้อยกว่า เช่น ฝากประจำปลอดภาษี เงินฝากออมทรัพย์สหกรณ์ สลากออมสิน สลาก ธกส. อะไร
พวกนี้ 
หรือถ้าเห็นว่าผู้รับบริการมีความเครียดมาก อาจจะแนะนำให้หาบัญชีเงินฝากที่ไม่มีดอกเบี้ยกันไปเลยก็ได้ แต่อันนี้จะออก
แนวประชดประชันและตลกร้ายไปหน่อยครับ (โดยส่วนตัวไม่แนะนำวิธีนี้นะครับ มันคนละเรื่องกัน) 

นอกจากนั้น ยังต้องอธิบายเพิ่มเติมในส่วนของกฎหมายอีกว่า ผลกระทบที่ว่านี้มีเฉพาะบัญชีเงินฝากออมทรัพย์เท่านั้น
และไม่มีผลกระทบกับนิติบุคคล เพราะว่ากฎหมายนี้บังคับกับบุคคลธรรมดา ดังนั้น กิจการที่ดูแลอยู่ในรูปแบบนิติบุคคล
ไม่ได้รับผลกระทบอะไรใด ๆ รวมถึงอธิบายเพิ่มเติมว่า ข้อมูลที่ธนาคารส่งไปไม่ใช่ข้อมูลทั้งหมด หรือรายการเคลื่อนไหว
ในบัญชี แต่มันเป็นข้อมูลที่เกี่ยวกับการคำนวณดอกเบี้ยและการจ่ายดอกเบี้ย แถมยังต้องย้ำอีกทีว่ามันเกี่ยวข้องเฉพาะ
บัญชีเงินฝากออมทรัพย์เท่านั้น ไม่ได้กระทบบัญชีประเภทอื่น ๆ แต่อย่างใด

  บางส่วนจากบทความ ดอกเบี้ยออมทรัพย์กับภาษีและเรื่องที่นักบัญชีต้องใส่ใจ
  อ่านบทความฉบับเต็มได้ใน... วารสาร CPD & Account 16 ฉบับที่ 186 เดือนมิถุนายน 2562


Tax Knowledge : TAX Bugnoms
วารสาร : CPD&ACCOUNT มิถุนายน 2562


FaLang translation system by Faboba