ทำไมกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศจึงเป็นรายได้

โดย

 



กำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศถือเป็นรายได้


กำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนที่เกิดจากการคำนวณค่าหรือราคาเงินตราต่างประเทศเป็นเงินตราไทยตามมาตรา 65 ทวิ (5)
แห่งประมวลรัษฎากร เป็นรายได้ที่ต้องนำมารวมคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล

1. ข้อกฎหมายและแนวคำพิพากษาของศาลฎีกา
บทบัญญัติในประมวลรัษฎากรที่เกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีเงินได้ได้มีการกำหนดอยู่ในหมวด 3 ภาษีเงินได้ โดยในหมวด
ดังกล่าวได้แยกเป็น 3 ส่วน เป็น ส่วน 1 ข้อความทั่วไป ส่วน 2 การเก็บภาษีจากบุคคลธรรมดา ส่วน 3 การเก็บภาษี
จากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล
จากบทบัญญัติดังกล่าว ได้กำหนดไว้อย่างชัดเจนว่า ทรัพย์สินหรือประโยชน์อย่างอื่นที่ได้รับซึ่งอาจคิดคำนวณได้เป็น
เงินอยู่ในความหมายที่ถือเป็นเงินได้อันเข้าลักษณะที่ต้องเสียภาษีในหมวดภาษีเงินได้ (การเก็บภาษีจากบริษัทหรือ
ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลอยู่ในหมวดของภาษีเงินได้ โดยอยู่ในส่วนที่ 3 ของหมวดภาษีเงินได้) 
ดังนั้น กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลใดได้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดที่อาจคิดคำนวณได้เป็นเงิน  ก็ต้องนำมา
คำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลด้วย ซึ่งในการคำนวณหาเงินได้ที่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล จะต้องคำนวณหา
กำไรสุทธิที่ได้จากรายได้จากกิจการหรือเนื่องจากกิจการที่กระทำในรอบระยะเวลาบัญชีหักด้วยรายจ่าย...ซึ่งทรัพย์สิน
หรือประโยชน์อื่นใดที่ได้รับที่อาจคิดคำนวณได้เป็นเงินดังกล่าวเป็นเงินได้ที่ต้องเสียภาษีเงินได้ด้วยก็ต้องถือเป็น
รายได้เพื่อนำมารวมคำนวณกำไรสุทธิตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร

2 การยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคล (แบบ ภ.ง.ด.50) กับรายการ “กำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน”
เมื่อบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลได้จดทะเบียนจัดตั้งขึ้นมา ตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร ได้กำหนดเงินได้
ที่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล (กำไรสุทธิ) ซึ่งคำนวณได้จากรายได้จากกิจการหรือเนื่องจากกิจการที่กระทำในรอบ
ระยะเวลาบัญชีหักด้วยรายจ่ายตามมาตรา 65 ทวิ และมาตรา 65 ตรี และรอบระยะเวลาบัญชีดังกล่าวให้มีกำหนด
12 เดือนเว้นแต่ในกรณีดังต่อไปนี้จะน้อยกว่า 12 เดือนก็ได้ คือ
(ก) บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเริ่มตั้งใหม่จะถือวันเริ่มตั้งถึงวันหนึ่งวันใดเป็นรอบระยะเวลาบัญชีแรกก็ได้
(ข) บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลอาจยื่นคำร้องต่ออธิบดีขอเปลี่ยนวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีในกรณีเช่นว่า
นี้ให้อธิบดีมีอำนาจสั่งอนุญาต หรือไม่อนุญาตสุดแต่จะเห็นสมควรคำสั่งเช่นว่านั้นต้องแจ้งให้บริษัทหรือ
ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลผู้ยื่นคำร้องทราบภายในเวลาอันสมควร และในกรณีที่อธิบดีสั่งอนุญาตให้บริษัทหรือ
ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นถือปฏิบัติตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชีที่อธิบดีกำหนด
ดังนั้น บริษัทหรือห้างหุ้นหุ้นนิติบุคคลจึงต้องคำนวณหากำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลทันที โดยนำรายได้ที่
เกิดขึ้นตั้งแต่เริ่มตั้งบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลมาคำนวณเพื่อเสียภาษีโดยคำนวณเป็นแต่ละรอบระยะเวลาบัญชี
ตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชีแรกที่เริ่มตั้งบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล โดยในการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลนั้นตาม
มาตรา 69 แห่งประมวลรัษฎากร ได้กำหนดไว้ว่า “ภายใน 150 วันนับแต่วันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี ให้บริษัท
หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลยื่นรายการจำเป็นที่ต้องใช้ในการคำนวณภาษีในรอบระยะเวลาบัญชีตามแบบที่อธิบดีกำหนด
พร้อมทั้งชำระภาษีต่ออำเภอ” และอธิบดีกรมสรรพากรได้กำหนดให้แบบ ภ.ง.ด.50 เป็นแบบแสดงรายการเกี่ยวกับ
ภาษีเงินได้ของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ใช้สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย
ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 16) เรื่อง กำหนดแบบแสดงรายการเกี่ยวกับภาษีเงินได้
ของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ลงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2525

3. การคำนวณรายได้ที่เป็นกำไรอัตราแลกเปลี่ยนจากการคำนวณค่าหรือราคาอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา
ต่างประเทศเป็นเงินตราไทยตามมาตรา 65 ทวิ (5) แห่งประมวลรัษฎากร จะต้องคำนวณเป็นรายได้เป็นของรอบระยะ
เวลาบัญชีใด
การคำนวณรายได้และรายจ่ายตามวรรค 1 ให้ใช้เกณฑ์สิทธิ์โดยให้นำรายได้ที่เกิดขึ้นในรอบระยะเวลาบัญชีใดแม้ว่าจะ
ยังไม่ได้รับชำระในรอบระยะเวลาบัญชีนั้นมารวมคำนวณเป็นรายได้ในรอบระยะเวลาบัญชีนั้นและให้นำรายจ่ายทั้งสิ้นที่
เกี่ยวกับรายได้นั้นแม้จะยังมิได้จ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีนั้นมารวมคำนวณเป็นรายจ่ายของรอบระยะเวลาบัญชีนั้น
กำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนเป็นรายได้ที่ต้องนำมารวมคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล จึงต้องคำนวณ
รายได้ตามเกณฑ์สิทธิ์ตามมาตรา 65 วรรค 2 ซึ่งกำหนดไว้ว่า...ให้นำรายได้ที่เกิดขึ้นในรอบระยะเวลาบัญชีใดแม้ว่า
จะยังไม่ได้รับชำระในรอบระยะเวลาบัญชีนั้นมารวมคำนวณเป็นรายได้ในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น... ดังนั้น ผู้เขียน
จึงเห็นว่า เมื่อกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนเกิดจากการคำนวณค่าหรือราคาเงินตราต่างประเทศเป็นเงินตราไทยตาม
มาตรา 65 ทวิ (5) แห่งประมวลรัษฎากร เกิดขึ้นในรอบระยะเวลาบัญชีใดก็ต้องคำนวณเป็นรายได้ของรอบระยะเวลา
บัญชีนั้น  ซึ่งเป็นไปตามบทบัญญัติของประมวลรัษฎากรมาตรา 65 อย่างชัดแจ้ง  โดยไม่อาจที่จะนำรายได้ดังกล่าวไป
หักออกจากรายจ่ายที่เป็นต้นทุนของทรัพย์สินใดหรือนำไปหักออกจากรายจ่ายอื่นใดได้ เพราะไม่มีกฎหมายกำหนด
ให้ทำเช่นนั้นได้


   
      บางส่วนจากบทความ “ทำไมกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศจึงเป็นรายได้”
      อ่านบทความฉบับเต็มได้ใน... วารสารเอกสารภาษีอากร ปีที่ 38 ฉบับที่ ฉบับที่ 455  เดือนสิงหาคม 2562




Tax Talk : ภาษีสรรพากร : ชุมพร เสนไสย 
วารสาร : เอกสารภาษีอากร สิงหาคม 2562



FaLang translation system by Faboba