9 ปัญหาเรื่องสิทธิรับ “เงินชราภาพ” จากกองทุนประกันสังคม (ตอนที่ 2)

โดย

 


จริงหรือไม่? เงินบำนาญน้อยลง เมื่อลูกจ้างเกษียณอายุสมัครเป็นผู้ประกันตน ม. 39 ทันที


Q : จำนวนเงินบำนาญจะลดน้อยลงหากลูกจ้างผู้เกษียณอายุได้สมัครเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ในทันที ถือว่า
เป็นข้อเท็จจริงที่ถูกต้องหรือไม่?
A : ถูกต้อง

แต่เพราะเหตุใด? เงินบำนาญที่ได้รับจึงมีจำนวนน้อยลง  

คำตอบง่ายๆ คือ เพราะกฎหมายกำหนดการคำนวณเงินบำนาญโดยใช้ค่าจ้างที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบ
มาเป็นเกณฑ์โดยเฉลี่ยย้อนหลัง 60 เดือน และฐานค่าจ้างในการคำนวณเงินสมทบของผู้ประกันตนตามมาตรา 39
คือ จำนวน 4,800 บาท แต่ฐานค่าจ้างในการคำนวณเงินสมทบของผู้ประกันตนตามมาตรา 33 คือ 15,000 บาท

แต่ขณะเดียวกันกฎกระทรวงก็กำหนดการคำนวณเงินบำนาญกรณีที่ผู้ประกันตนสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตนตาม
มาตรา 33 และขอรับเงินบำนาญแล้ว ต่อมา “กลับเข้าเป็นผู้ประกันตน” ภายหลังจากการรับเงินบำนาญ ว่า ให้ใช้
ฐานค่าจ้างเดิมที่นำมาคำนวณเงินบำนาญ ก่อนกลับเข้าเป็นผู้ประกันตน (สูงสุด คือ 15,000 บาท) เมื่อกฎหมาย
กำหนดหลักเกณฑ์การคำนวณเงินบำนาญไว้ในลักษณะดังกล่าว ผู้ประกันตน จึงต้องเลือกว่าจะรับเงินบำนาญก่อน
หรือ สมัครเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ในทันที

เนื่องจากภายหลังจากความเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 สิ้นสุดลง ผู้ประกันตนจะได้รับความคุ้มครองในสิทธิ 3
ประการ (ซ้อนกันอยู่) คือ
สิทธิที่ 1 ได้รับความคุ้มครองโดยผลของกฎหมายต่อไปอีก 6 เดือน ใน 4 กรณี คือ ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย
ตาย คลอดบุตร หรือทุพลภาพ ซึ่งสิทธิประโยชน์ต่างๆ จะเหมือนเดิมทุกประการ
สิทธิที่ 2 สิทธิสมัครเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ภายใน 6 เดือน นับแต่ความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง และเมื่อ
เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ก็จะต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมต่อไปโดยใช้ฐานค่าจ้าง 4,800 บาท
สิทธิที่ 3 สิทธิขอรับเงินชราภาพ (เงินบำเหน็จหรือเงินบำนาญขึ้นอยู่กับระยะเวลาในการจ่ายเงินสมทบ) หาก
ผู้ประกันตนมีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ ซึ่งจะถูกคำนวณเงินบำนาญจากฐานค่าจ้างกรณีเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33

คำถามว่า หลังจากเกษียณอายุ ควรจะสมัครเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ในทันทีหรือไม่ หรือ
ผู้ประกันตนจะต้องใช้สิทธิอย่างไร?...ให้ได้ประโยชน์มากที่สุด  


ถ้าคำตอบ อยู่ภายใต้เงื่อนไขว่า ผู้ประกันตน จำเป็น ต้องได้รับความคุ้มครองจากกองทุนประกันสังคม เบื้องต้น
ควรต้องยื่นคำขอรับเงินบำนาญ (คือ สิทธิที่ 3 ซึ่งจะได้รับเงินบำนาญรายเดือนโดยคำนวณจากฐานค่าจ้างในขณะ
เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ซึ่งอาจเป็นฐานค่าจ้างสูงสุด คือ 15,000 บาท (ในที่นี้ ผู้เขียนขอเรียกว่า
“เงินบำนาญเดิม”)) และในช่วงตั้งแต่เดือนที่ 1 ถึงเดือนที่ 4 หรือ เดือน 5 นับแต่สิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตน
สมควรรอรับความคุ้มครองโดยผลของกฎหมาย (คือ สิทธิที่ 1) และสมัครเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ในเดือน
ที่ 5 หรือเดือนที่ 6 นับแต่ความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง (คือ สิทธิที่ 2) ซึ่งจะถูกงดจ่ายเงินบำนาญเดิมเมื่อเป็น
ผู้ประกันตนตามาตรา 39

ในเวลาต่อมา หากความเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 สิ้นสุดลง เช่น ลาออก ก็จะได้รับเงินบำนาญเดิม (จำนวน
รายเดือนเท่าเดิม) และรวมกับการเงินบำนาญครั้งหลังที่คำนวณจากระยะเวลาการจ่ายเงินสมทบในขณะเป็น
ผู้ประกันตนตามมาตรา 39 โดยคำนวณจากฐานค่าจ้างเดิมที่เคยคำนวณ (เช่น จากฐานค่าจ้างสูงสุด 15,000 บาท
ไม่ใช่ฐานค่าจ้าง 4,800 บาท) หรือถ้าสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 เพราะถึงแก่ความตาย ทายาท
จะได้เงินบำเหน็จ 10 เท่าของเงินบำนาญเดิม (รายเดือน) ที่เคยได้รับ รวมกับเงินบำเหน็จที่คำนวณได้จากระยะ
เวลาและจำนวนเงินสมทบในขณะเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 


  บางส่วนจากบทความ  “9 ปัญหาเรื่องสิทธิรับ “เงินชราภาพ” จากกองทุนประกันสังคม (ตอนที่ 2)” 
  อ่านบทความเต็มได้ใน... วารสาร HR Society magazine ปีที่ 17 ฉบับที่ 202 เดือนตุลาคม 2562

กฎหมายแรงงาน : ประกันสังคม :  ปรานี สุขศรี 
วารสาร : HR Society Magazine ตุลาคม 2562


FaLang translation system by Faboba