ความแตกต่างระหว่าง “การเช่าและบริการ” รวมถึงความแตกต่างด้านภาษีที่เกี่ยวข้อง

โดย

 


ความแตกต่างระหว่างนิยามของคำว่า “เช่า” และ “บริการ”

ตามมาตรา 537 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ได้ระบุไว้ว่า อันว่าเช่าทรัพย์สินนั้น คือ สัญญาซึ่งบุคคล
คนหนึ่งเรียกว่า ผู้ให้เช่า ตกลงให้บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่า ผู้เช่า ได้ใช้หรือได้รับประโยชน์ในทรัพย์สินอย่างใด
อย่างหนึ่งชั่วระยะเวลาอันมีจำกัด และผู้เช่าตกลงจะให้ค่าเช่าเพื่อการนั้น

โดยคำขยายความเพิ่มเติมในคำพิพากษาฎีกาที่ 1061/2552 ได้ระบุเพิ่มเติมไว้ว่า การให้เช่าทรัพย์สิน ผู้ให้เช่า
ต้องส่งมอบการครอบครองให้แก่ผู้เช่าได้ใช้หรือได้รับประโยชน์จากทรัพย์สินที่เช่าและผู้เช่าจ่ายค่า
ตอบแทนเป็นค่าเช่า 


นอกจากนั้น ตามมาตรา 553 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ยังระบุไว้อีกว่า ผู้เช่าจำต้องสงวนทรัพย์สิน
ที่เช่านั้นเสมอกับที่วิญญูชนจะพึงสงวนทรัพย์สินของตนเอง และต้องบำรุงรักษาทั้งทำการซ่อมแซมเล็กน้อยด้วย

ดังนั้น คำสำคัญในการยืนยันความหมายของคำว่าเช่า นั่นคือ ส่งมอบการครอบครอง และ ดูแลรักษาทรัพย์สิน
โดยทั้งหมดนี้ต้องมีระยะเวลาที่ชัดเจน (ตามชั่วระยะเวลาอันมีจำกัด) 

ในขณะที่คำว่า “บริการ” นั้น มาตรา 77(10) แห่งประมวลรัษฏากร ได้ให้ความหมายไว้ว่า การกระทำใดๆ อันอาจ
หาประโยชน์อันมีมูลค่าซึ่งมิใช่เป็นการขายสินค้า และให้หมายความรวมถึงการใช้บริการของตนเอง ไม่ว่าประการใดๆ
แต่ทั้งนี้ไม่รวมถึง
(ก) การใช้บริการหรือการนำสินค้าไปใช้ เพื่อประกอบกิจการของตนเองโดยตรง ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข
ที่อธิบดีกำหนด
(ข) การนำเงินไปหาประโยชน์โดยการฝากธนาคารหรือซื้อพันธบัตรหรือหลักทรัพย์
(ค) การกระทำตามที่อธิบดีกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรี

ซึ่งจากนิยามของคำว่า บริการ จะเห็นว่าครอบคลุมความหมายไว้อย่างกว้าง แต่สิ่งที่แตกต่างชัดเจนของบริการกับเช่า
คือ บริการไม่มีสิทธิในการครอบครองสินทรัพย์นั่นเอง

โดยผลกระทบของเรื่องนี้ จะเห็นว่ามีความแตกต่างกันอย่างน้อย 2 มุมมองด้านภาษี นั่นคือ ภาษีมูลค่าเพิ่ม และ
ภาษีหัก ณ ที่จ่าย ซึ่ง
1. ภาษีมูลค่าเพิ่ม : เนื่องจากบริการอยู่ในขอบข่ายของภาษีมูลค่าเพิ่ม ดังนั้น คำว่าบริการหากเกิดขึ้นในประเทศ
และไม่ใช่การบริการที่ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ก็จะมีเรื่องของภาษีมูลค่าเพิ่มกระทบอยู่เสมอ ส่วนทางด้าน
ฝั่งเช่า จะพบว่าการเช่าอสังหาริมทรัพย์นั้น ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81(1)(ต)
2. ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย : ผลกระทบของความแตกต่างระหว่าง ค่าเช่า และ บริการ คือ อัตราภาษีเงินได้
หัก ณ ที่จ่ายที่แตกต่างกัน โดยสำหรับการเช่า อัตราภาษีหัก ณ ที่จ่ายจะอยู่ 5% ในขณะที่บริการคือ 3% ดังนั้น
หากแยกไม่ได้ว่ากรณีไหนเป็นเช่าหรือบริการ เราอาจจะเลือกพิจารณาจากอัตรา ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายและ
ภาษีมูลค่าเพิ่มได้ในบางกรณีประกอบกัน


  บางส่วนจากบทความ "ความแตกต่างระหว่าง “การเช่าและบริการ รวมถึงความแตกต่างด้านภาษีที่เกี่ยวข้อง"
  อ่านบทความฉบับเต็มได้ใน... วารสาร CPD & Account 16 ฉบับที่ 190 เดือนตุลาคม  2562



Tax Talk : Tax Knowledge : TAX Bugnoms
วารสาร : CPD&ACCOUNT ตุลาคม 2562


FaLang translation system by Faboba