Update มาตรฐานทางการเงินใหม่ (TFRS16) ปี 2563

โดย

 


สัญญาเช่ากับมาตรฐานการรายงานทางการเงินใหม่ (TFRS 16)


ในปี 2563 นี้ นักบัญชีทั้งหลายคงต้องเตรียมการเป็นอย่างดีอีกครั้ง เพราะสภาวิชาชีพบัญชีในพระบรมราชูปถัมภ์
ประกาศใช้มาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับปรับปรุงใหม่ ซึ่งอ้างอิงกับมาตรฐานการรายงานทางการเงินระหว่าง
ประเทศ (Bound Volume 2019 consolidated without early adoption) ซึ่งกระทบกับกิจการที่ต้องเลือก
ใช้หรือสมัครใจใช้มาตรฐานการรายงานทางการเงินชุด PAEs เป็นเกณฑ์ โดยในปีนี้มีการปรับปรุงมาตรฐานอย่าง
เป็นสาระสำคัญอยู่รวม 8 ฉบับ เป็นมาตรฐานใหม่ 1 ฉบับ และการตีความมาตรฐานการรายงานทางการเงิน 1 ฉบับ 

สำหรับครั้งนี้ขอหยิบมาตรฐานเรื่องสัญญาเช่ามาคุยกัน กระแสร้อนในเรื่องนี้คงได้รับการกล่าวขวัญถึงการปรับปรุง
มานานพอสมควรแล้ว ซึ่งก็ถึงเวลาเริ่มใช้จริงสักทีในปี 2563 นี้  โดยกิจการที่ได้รับผลกระทบหลักๆ จะเป็น
กลุ่มอุตสาหกรรมขนส่ง การบิน  ค้าปลีก ห้างสรรพสินค้า ไฟฟ้า โรงพยาบาล สื่อสาร ฯลฯ  เพราะกิจการเหล่านี้มี
ความจำเป็นต้องลงทุนค่อนข้างสูงก่อน แล้วจึงค่อยๆ เก็บเกี่ยวคืนภายหลัง ทางเลือกในการลงทุนจึงต้องคิดให้
รอบคอบค่อนข้างมาก

มาตรฐาน TFRS 16 ฉบับนี้ได้มีการพัฒนาในหลักการอย่างต่อเนื่องมาจากเดิมที่ให้ความสำคัญเรื่องความเสี่ยงและ
ประโยชน์ในตัวสินทรัพย์อ้างอิงว่าตกเป็นของผู้ใดระหว่างผู้ให้เช่าหรือผู้เช่า แต่ในหลักการของ TFRS 16 หันมา
ให้ความสำคัญเรื่องสิทธิในการควบคุมการใช้งานประกอบกับประโยชน์ในสินทรัพย์อ้างอิงโดยส่วนใหญ่เป็นของใคร 
ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดของกรอบการทำรายงานทางการเงินในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ที่มีการให้ความสำคัญของคำว่า
สิทธิและการควบคุมเพิ่มไปจากเรื่องความเสี่ยงและผลประโยชน์ โดย TFRS 16 สัญญาเช่าให้ความสำคัญกับ
สัญญาเช่าการเงินมากกว่า เพราะเรากำลังกลับมาให้ความสำคัญกับเจตนาที่ถูกซ่อนเร้นในสัญญาเช่าและงบการเงิน
ที่มีมาอย่างยาวนาน  

โดยหลักการทางเศรษฐศาสตร์เบื้องต้น ทางเลือกกับค่าเสียโอกาสเป็นเรื่องที่ต้องถูกนำมาพิจารณาเพื่อตัดสินใจใดๆ
เกี่ยวกับการจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดเพื่อให้ได้อรรถประโยชน์สูงที่สุด  ฉะนั้นเมื่อเราลองเอาหลักการพื้นฐาน
นี้มาพิจารณาก็จะพบว่า การได้มาซึ่งสินทรัพย์เพื่อการใช้งานในการดำเนินกิจการ (อันเป็นจุดประสงค์หลักขอย้ำอีกครั้ง)
ก็มีทางเลือกในการได้มาอันเป็นที่นิยมกันอยู่ทั่วไป 2 ทางคือ การซื้อและการเช่า แล้วกิจการเลือกที่จะเช่าหรือจะซื้อ
ผู้บริหารของกิจการก็จะคิดหาวิธีการต่างๆ แล้วนำมาเปรียบเทียบเพื่อหาวิธีการที่จะได้ประโยชน์สูงสุดจากทรัพยากรที่มี
อยู่ในมือของกิจการที่มีอยู่เพียงนั้น กอปรกับการพิจารณาถึงข้อดีข้อเสียของการซื้อ หรือการเช่า มาร่วมเป็นปัจจัยใน
การตัดสินใจ

เมื่อกลับมาทำความเข้าใจกับพัฒนาการของมาตรฐานเกี่ยวกับสัญญาเช่า และ TFRS 16 ก็จะพบว่า มาตรฐาน
พยายามบอกให้ผู้ใช้งบการเงินในโลกนี้ให้รับทราบถึงรายการนอกงบการเงินที่เกิดจากสัญญาเช่าว่ามีอะไรที่ต้องหยิบ
มาบ้าง เช่น หนี้สินตามสัญญาเช่าอยู่เป็นจำนวนเท่าใด ทรัพย์สินเป็นประเภทใดใช้ประโยชน์อย่างไร โดยเจาะให้ลึกถึง
ความต้องการที่ซ่อนเร้นอยู่ภายใต้เอกสารสัญญาทางกฎหมายที่เรียกว่าสัญญาเช่า ซึ่งหากมีความต้องการได้สินทรัพย์
มาใช้เป็นเจตนาหลักก็ควรจะบันทึกเป็นทรัพย์สินของกิจการตามประเภทต่างๆ เช่น สิทธิการเช่า เครื่องจักร ฯลฯ 
แต่หากมีความต้องการใช้สินทรัพย์เพียงชั่วคราวก็รับรู้รายการเป็นค่าใช้จ่ายในรอบบัญชีที่ได้ใช้ประโยชน์นั้นไป  


  บางส่วนจากบทความ "Update มาตรฐานทางการเงินใหม่ (TFRS16) ปี 2563"
  อ่านบทความฉบับเต็มได้ใน... วารสาร CPD & Account 16 ฉบับที่ 193  เดือนมกราคม 2563

 


Accounting Style: CPD Talk : วิทยา เอกวิรุฬห์พร
วารสาร : CPD&ACCOUNT มกราคม 2563


FaLang translation system by Faboba