สุขในงาน เบิกบานในชีวิต เรียนรู้การทำงานอย่างมีความสุขด้วยหลักธรรม

โดย

 


HR Society Magazine ฉบับนี้ ขอส่งความสุขรับปีใหม่แด่คุณผู้อ่าน ผ่านแง่คิดและหลักธรรมจาก ท่านเจ้าคุณ
พระภาวนาเขมคุณ วิ. (หลวงพ่อสุรศักดิ์ เขมรังสี) พระราชาคณะชั้นสามัญ ฝ่ายวิปัสสนาธุระ เจ้าอาวาส
วัดมเหยงคณ์ สำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ซึ่งเดิมเป็นวัดร้างที่สร้างตั้งแต่สมัย
สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 หรือเจ้าสามพระยา เมื่อปี พ.ศ.1981 มีสภาพเสื่อมโทรมเป็นอย่างมาก โดย
กรมศิลปากรณ์ได้ขึ้นบัญชีเป็นโบราณสถานแห่งชาติและเป็นมรดกโลกที่ล้ำค่าอีกแห่งหนึ่ง 

ด้วยปณิธานอันแน่วแน่ของท่านเจ้าคุณหลวงพ่อสุรศักดิ์ ที่มุ่งเผยแผ่พระพุทธศาสนาผ่านการสอนกรรมฐานและ
วัตรปฏิบัติอันงดงามน่าเลื่อมใสตามคำสอนของพระพุทธองค์ ทำให้วัดมเหยงคณ์ที่เคยรกร้าง กลับกลายเป็นสำนัก
ปฏิบัติกรรมฐานที่สงบร่มเย็นในเวลาไม่กี่ปี โดยมีญาติโยมพุทธบริษัทให้ความศรัทธาเข้าร่วมปฏิบัติธรรมนับพันคน
ในช่วงวันหยุดค่ะ

ในทางธรรม คำว่า “ความสุข” มีความหมายว่าอย่างไร และฆราวาสทั้งหลายจะใช้ชีวิตอย่างไรให้มี
ความสุขเจ้าคะ


“ความสุขในทางธรรมมีหลายอย่างด้วยกัน ความสุข คือ ความรู้สึกว่าสบาย ซึ่งแยกเป็น กายิกสุข ความสบายทางกาย
และ เจตสิกสุข ความสบายทางใจ
นอกจากนั้นยังมีความสุขที่เรียกว่า สามิสสุข และ นิรามิสสุข
สามิสสุข ความสุขที่อิงอามิส หมายถึง ความสุขที่มีเหยื่อล่อหรือที่เรียกว่ากามสุข ได้แก่ ความสุขที่ได้เสพอารมณ์
เสพวัตถุ คือ กามคุณ 5 ประกอบด้วยรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ (สิ่งที่มากระทบกาย สิ่งที่กายสัมผัสแตะต้องได้
ได้แก่ อารมณ์หรือสัมผัสที่มีลักษณะเย็น ร้อน อ่อน แข็ง หยาบ ละเอียด เป็นต้น) ที่น่าพอใจน่าใคร่น่าปรารถนา
เมื่อได้เสพอารมณ์เหล่านี้แล้วก็เกิดความสุขขึ้นมา

นิรามิสสุข ความสุขที่ไม่อิงอามิส คือ ความสุขที่ไม่ต้องมีเหยื่อล่อ เช่น การปฏิบัติธรรมเจริญภาวนาซึ่งทำให้
จิตใจสงบ พอใจสงบก็มีความสุขโดยไม่ต้องมีสิ่งใดมาปรนเปรอ ความสุขแบบนี้เป็นความสุขสงบ หรือปฏิบัติธรรมแล้ว
จิตผ่องใส ใจเบิกบาน จิตผ่องใสไร้จากกิเลสก็เป็นเหตุให้มีความสุข 

ส่วนความสุขของคฤหัสถ์ ฆราวาสหรือชาวบ้านทั่วไปนั้น เรียกว่า สหิสุข หรือเรียกว่า กามโภคีสุข ซึ่งประกอบด้วย
อัตถิสุข ความสุขจากความมีทรัพย์ แต่ทรัพย์ที่มีนั้นต้องได้มาด้วยความสุจริต ได้มาด้วยความชอบธรรม
โภคสุข สุขจากการจ่ายทรัพย์ ถ้ามีเงินก็มีความสุข ฆราวาสจึงมีความสุขจากการจับจ่ายใช้สอย
อนณสุข สุขจากความไม่เป็นหนี้สิน หากเป็นหนี้สินใจก็จะวิตกกังวล แต่ถ้าไม่เป็นหนี้ใจก็จะสบายและมีความสุข

อนวัชชสุข สุขจากความประพฤติที่ไม่มีโทษ ใน 3 ข้อแรกของศีล 5 ก็ยังไม่สุขเท่ากับข้อที่ 4 ซึ่งเกิดจาก
ความประพฤติทางกาย วาจา ใจ ให้มีความสุจริต และหากเรามีความประพฤติที่ดีใครๆ ก็ติเตียนไม่ได้”

การบริหารคนในยุคปัจจุบัน ผู้นำหรือผู้บริหารองค์กรรวมถึงฝ่าย HR ซึ่งมีหน้าที่ดูแลคนในองค์กร ควรมี
วิธีการอย่างไร และควรนำหลักธรรมใดมาใช้ประกอบการบริหารคนเจ้าคะ


“หลักธรรมในการบริหารคน ที่แนะนำให้ไปใช้ อันดับแรก คือ ความยุติธรรม ถ้าเราเป็นผู้ใหญ่ เป็นผู้บริหาร เป็นผู้นำ
เป็นผู้มีหน้าที่ดูแลคนต้องมีความยุติธรรม 

หลักธรรมอันดับที่สองที่ควรใช้ คือ สังคหวัตถุ ซึ่งเป็นธรรมะที่เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจบุคคลและประสานหมู่คณะ
หรือหมู่ชนได้ สังคหวัตถุ มี 4 อย่าง ได้แก่
ทาน การให้ การเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ การเสียสละแบ่งปัน ไม่ว่าจะด้วยสิ่งของเงินทอง รวมถึงการให้ความรู้คำแนะนำ
สั่งสอนที่ดี
ปิยวาจา วาจาต้องเป็นที่รัก คือ กล่าววาจาที่สุภาพไพเราะอ่อนหวาน สมานสามัคคี ใช้คำพูดดีๆ
อัตถจริยา การประพฤติประโยชน์ คือ ขวนขวายช่วยเหลือกิจการ ตลอดจนการช่วยเหลือและแก้ไขปรับปรุงส่งเสริม
ในทางจริยธรรม
สมานัตตตา ความมีตนเสมอ คือเสมอต้นเสมอปลาย วางตนเหมาะสมแก่ฐานะ ภาวะ บุคคล เหตุการณ์และ
สิ่งแวดล้อมนั้นๆ

และสุดท้ายหลักธรรมสำคัญอีกอย่างสำหรับผู้บริหาร คือ พรหมวิหาร 4 ประกอบด้วย
เมตตา ต้องมีความเมตตา ความปรารถนาดีไมตรีจิต
กรุณา ต้องมีความสงสาร ช่วยเหลือเกื้อกูล
มุทิตา พลอยยินดีเมื่อผู้อื่นได้ดี
อุเบกขา การวางเฉย วางใจเป็นกลาง ”

ในส่วนของพนักงานเองควรมีแนวคิดใดในการทำงานหรือมีหลักธรรมใดประจำใจเจ้าคะ เพื่อให้งานที่ทำ
ประสบผลสำเร็จลุล่วงพร้อมด้วยจิตใจที่มีความสุข


“หลักธรรมสำหรับคนทำงานที่ควรมี ได้แก่ 
หลัก อิทธิบาท 4 คือ ธรรมที่ทำให้เกิดความสำเร็จ ที่คนทำงานต้องมี ประกอบด้วย
1. ฉันทะ มีความพอใจ ใฝ่ที่จะกระทำสิ่งนั้นอยู่เสมอ ทำให้คนๆ นั้นดียิ่งๆ ขึ้นไป
2. วิริยะ มีความเพียร คนทำงานต้องขยันหมั่นเพียร ประกอบการงานอย่างเข้มแข็ง อดทน ไม่ท้อถอย ก็จะทำให้งาน
ประสบความสำเร็จ
3. จิตตะ มีความตั้งใจ จิตฝักใฝ่ในสิ่งที่กระทำนั้น เรียกว่าอุทิศกายใจในการกระทำงานนั้นๆ
4. วิมังสา มีความรู้จักไตร่ตรอง ทดลองทดสอบ ใช้ปัญญาในการพิจารณาใคร่ครวญตรวจตราหาเหตุหาผล
มีการวางแผน การวัดผล การคิดค้นวิธีแก้ไข เป็นต้น

อีกหลักธรรมหนึ่ง คือ สุจริต ซึ่งเป็นส่วนสำคัญ การทำงานต้องมีความสุจริตทุกด้าน คือ กายสุจริต วาจาสุจริตและ
มโนสุจริต

อีกหมวดธรรมหนึ่ง คือ เว้นอบายมุข 6 (ทางแห่งความเสื่อม) ซึ่งเป็นรูรั่วของทรัพย์ คือต้องเว้นจาก 6 เรื่องต่อไปนี้
1. สุรายาเสพติด  2. การพนัน  3. เที่ยวกลางคืน 4. เที่ยวดูการละเล่น 5.คบคนชั่วเป็นมิตร  และ 6. เกียจคร้าน
ต่อการงาน”


  บางส่วนจากบทความ  “สุขในงาน เบิกบานในชีวิต เรียนรู้การทำงานอย่างมีความสุขด้วยหลักธรรม” 
  อ่านบทความเต็มได้ใน... วารสาร HR Society magazine ปีที่ 18 ฉบับที่ 205 เดือนมกราคม 2563

Cover Story : กองบรรณาธิการ 
วารสาร : HR Society Magazine มกราคม 2563


FaLang translation system by Faboba