ลูกจ้างไม่สมัครใจลาออก...ถือเป็นการเลิกจ้างหรือไม่?

โดย

 

 

การที่จะพิจารณาว่า การลาออกของลูกจ้างเป็นไปโดยสมัครใจอย่างแท้จริงหรือไม่นั้น ต้องพิเคราะห์ถึงช่วงเวลาในขณะที่
ลูกจ้างกำลังจะตัดสินใจลงนามในใบลาออกนั้นเป็นสำคัญ เพราะในสภาวะขณะนั้น ลูกจ้างอยู่ในสภาพที่จะสามารถตัดสินใจ
ได้อย่างถูกต้องตรงตามเจตนาที่แท้จริงของตนหรือไม่ อย่างไร ลูกจ้างมีตำแหน่งหน้าที่การงานใด จบการศึกษาในระดับใด

ถูกนายจ้างบังคับ ข่มขู่ หรือกดดันให้ลงนามในใบลาออกหรือไม่ เพียงใด ลูกจ้างสามารถเจรจาต่อรองเรื่องผลประโยชน์
เพิ่มเติมได้หรือไม่ หรือมีโอกาสที่จะโทรศัพท์ปรึกษาทนายความ หรือญาติพี่น้องก่อนที่จะตัดสินใจลงนามหรือได้ไม่ อย่างไร

ข้อพิจารณาเหล่านี้ย่อมจะต้องถูกนำเข้ามาพิจารณาของศาลแรงงานเพื่อวินิจฉัยว่า ลูกจ้างได้แสดงเจตนาของตนได้อย่าง
สมบูรณ์ถึงขนาดมีผลตามกฎหมายหรือไม่ มิฉะนั้นใบลาออกของลูกจ้างนั้น อาจถือว่าเป็นโมฆียกรรม ลูกจ้างจึงมีสิทธิบอกล้าง
ใบลาออกได้ภายใน 1 ปีนับแต่วันที่ลงนามในใบลาออกนั้น และเมื่อไม่ใช่การลาออกแล้ว ย่อมถือว่านายจ้างเป็นฝ่ายเลิกจ้าง
ลูกจ้าง หากนายจ้างจ่ายผลประโยชน์ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานไม่ครบถ้วน หรือคัดเลือกลูกจ้างที่ต้องให้ออกอย่าง
ไม่ยุติธรรม และอาจถูกฟ้องร้องให้รับผิดทั้งทางแพ่งเรียกร้องเงินตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน และหรือค่าเสียหายจาก
การเลิกจ้างไม่เป็นธรรม รวมถึงอาจฟ้องให้นายจ้างและหรือผู้ที่เกี่ยวข้องให้ต้องรับผิดในทางอาญาด้วยก็ได้

หากนายจ้างใช้วิธีเลิกจ้างลูกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยทั้งหมดหรือแต่บางส่วนก็มีสิทธิถูกฝ่ายลูกจ้างดำเนินคดีอาญากับ
ฝ่ายนายจ้าง และยังจะต้องรับผิดในทางแพ่งสำหรับอัตราดอกเบี้ยของผลประโยชน์ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานที่
ฝ่ายนายจ้างไม่ได้จ่ายหรือจ่ายไม่ครบถ้วน ในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี หรืออาจเป็นอัตราร้อยละ 15 ทุกๆ 7 วันของเงิน
ที่ค้างจ่าย หากฝ่ายนายจ้างจงใจไม่จ่ายเงินดังกล่าวโดยไม่มีเหตุผลอันสมควรอีกด้วย

แต่หากการที่นายจ้างได้จัดให้ลูกจ้างลาออกนั้นได้ปฏิบัติอย่างถูกต้องแล้ว ก็ต้องถือว่า ลูกจ้างได้ลาออกโดยสมัครใจแล้ว
และบรรดาข้อตกลงใดๆ ที่นายจ้างและลูกจ้างได้กระทำขึ้นอันเนื่องมาจากการตกลงยุติสัญญาจ้างแรงงานนี้ จึงมีลักษณะ
เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ มีผลใช้บังคับในทางกฎหมาย

ดังนั้นบรรดาสิทธิเรียกร้องใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับการสิ้นสุดสัญญาจ้างแรงงานนี้ ย่อมถือเป็นอันระงับสิ้นไป แต่คู่สัญญาต่างมี
ข้อผูกพันธ์กันตามข้อตกลงของสัญญาประนีประนอมยอมความแทน  
 

  บางส่วนจากบทความ  “ลูกจ้างไม่สมัครใจลาออก...ถือเป็นการเลิกจ้างหรือไม่?”
  อ่านบทความเต็มได้ใน... วารสาร HR Society magazine ปีที่ 18 ฉบับที่ ฉบับที่ 213 เดือนกันยายน 2563



กฎหมายแรงงาน : เรื่องข้น คน HR : ดร.ณัฐวุฒิ พงศ์สิริ 
วารสาร : HR Society Magazine กันยายน 2563


FaLang translation system by Faboba