สิทธิความคุ้มครองของผู้ประกันตนยังมีหรือไม่? หากนายจ้างไม่ขึ้นทะเบียนกองทุนฯ

โดย

 

 
ผู้ประกันตนได้รับความคุ้มครองหรือไม่? หากนายจ้างไม่ขึ้นทะเบียนกองทุนฯ


หน้าที่ของนายจ้างตามกฎหมาย 
กฎหมายประกันสังคมหรือพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 (กองทุนประกันสังคม) และกฎหมายเงินทดแทนหรือ
พระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537 (กองทุนเงินทดแทน) กำหนดบังคับว่า นายจ้างที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 1 คน ขึ้นไป
มีหน้าที่ขึ้นทะเบียนนายจ้างและยื่นแบบรายการแสดงรายชื่อลูกจ้าง/ผู้ประกันตนภายใน 30 วันนับแต่วันที่มีลูกจ้างดังกล่าว
(หรือวันที่นายจ้างมีหน้าที่ต้องจ่ายเงินสมทบ) เว้นแต่ กิจการบางประเภทที่กฎหมายยกเว้นไม่ต้องขึ้นทะเบียน หรือกิจการ
ที่ไม่อยู่ในบังคับของกฎหมายตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 และมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติ
เงินทดแทน พ.ศ. 2537 และกฎหมายทั้งสองฉบับได้กำหนดหน้าที่ของนายจ้างหลังจากการขึ้นทะเบียนไว้ว่า 

• กองทุนประกันสังคม
นายจ้างมีหน้าที่หักเงินค่าจ้างของผู้ประกันตนทุกครั้งที่มีการจ่ายค่าจ้างตามอัตราที่ผู้ประกันตนมีหน้าที่ต้องจ่ายเงินสมทบเข้า
กองทุนประกันสังคม และนายจ้างมีหน้าที่นำเงินสมทบที่หักไว้ดังกล่าว รวมทั้ง เงินสมทบในส่วนที่นายจ้างต้องจ่ายสมทบ
ส่งเข้ากองทุนประกันสังคมเป็นประจำทุกเดือนภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดจากเดือนที่หักเงินสมทบไว้

• กองทุนเงินทดแทน
นายจ้างมีหน้าที่จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนเงินทดแทนเป็นรายปี โดยคำนวณจากค่าจ้างของลูกจ้างทั้งปี โดยนายจ้างไม่มี
หน้าที่หักเงินค่าจ้างของลูกจ้างเพื่อจ่ายสมทบเข้ากองทุนเงินทดแทน

กรณีที่นายจ้างไม่ปฏิบัติตามกฎหมายดังที่กล่าวข้างต้น จะเกิดผลในทางกฎหมายคือ นายจ้างมีความผิดทางอาญา
ระวางโทษจำคุก 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และรับผิดทางแพ่ง คือ รับผิดในเงินสมทบ
ที่ค้างชำระและเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือน (มาตรา 96 และมาตรา 97 กฎหมายประกันสังคม และมาตรา 46
มาตรา 62  กฎหมายเงินทดแทน)

ส่วนลูกจ้าง/ผู้ประกันตนจะมีสิทธิได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายหรือไม่

(1) การคุ้มครองจากกองทุนประกันสังคม
มาตรา 47 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 กำหนดหลักการสำคัญว่า กรณีที่นายจ้างไม่ได้ขึ้นทะเบียน
นายจ้าง ไม่หักเงินค่าจ้างของลูกจ้างที่เป็นผู้ประกันตน ไม่จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม ถือว่าผู้ประกันตนได้
จ่ายเงินสมทบแล้ว หรือกรณีที่นายจ้างไม่จ่ายค่าจ้างตามกำหนดเวลา นายจ้างยังมีหน้าที่ต้องจ่ายเงินสมทบตามกฎหมาย
และถือเสมือนว่านายจ้างได้จ่ายค่าจ้างแล้ว
ส่วนลูกจ้างมีสิทธิได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายในฐานะเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 เพราะกฎหมายถือว่าผู้ประกันตน
ได้จ่ายเงินสมทบแล้วตั้งแต่วันที่ถึงกำหนดจ่ายค่าจ้าง
การคุ้มครองผู้ประกันตนในกรณีชราภาพ กฎหมายประกันสังคมกำหนดจ่ายประโยชน์ทดแทน
2 ลักษณะ คือ
(1) เงินบำเหน็จชราภาพ กรณีที่ผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมไม่ครบ 180 เดือน
(2) เงินบำนาญชราภาพ กรณีที่ผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมตั้งแต่ 180 เดือนขึ้นไป

(2) การคุ้มครองจากกองทุนเงินทดแทน
ในกรณีที่นายจ้างไม่ขึ้นทะเบียนกองทุนเงินทดแทนและไม่จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนเงินทดแทนมีผลบังคับในลักษณะเดียว
กับกฎหมายประกันสังคมและลูกจ้างยังคงได้รับความคุ้มครอง หากลูกจ้างประสบอันตรายเนื่องจากการทำงาน ลูกจ้าง
ยังคงมีสิทธิได้รับความคุ้มครองตามที่กฎหมายเงินทดแทนกำหนด

กล่าวโดยสรุปคือ  การที่นายจ้างไม่ขึ้นทะเบียนนายจ้างในกองทุนประกันสังคมหรือในกองทุนเงินทดแทน ลูกจ้าง/ผู้ประกัน
ตน ยังคงมีสิทธิได้รับความคุ้มครองตามที่กฎหมายกำหนดไว้และเป็นหน้าที่ของสำนักงานประกันสังคมที่จะติดตามและดำเนิน
การตามกฎหมายกับนายจ้าง ทั้งการขึ้นทะเบียนนายจ้างย้อนหลัง ความรับผิดในการจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม
และกองทุนเงินทดแทนย้อนหลังและรับผิดในจำนวนเงินเพิ่ม (เบี้ยปรับ) ในอัตราร้อยละ 2 ของเงินสมทบที่ค้างชำระ



  บางส่วนจากบทความ  “สิทธิความคุ้มครองของผู้ประกันตนยังมีหรือไม่? หากนายจ้างไม่ขึ้นทะเบียนกองทุนฯ”
  อ่านบทความเต็มได้ใน... วารสาร HR Society magazine ปีที่ 18 ฉบับที่ ฉบับที่ 215 เดือนพฤศจิกายน 2563



กฎหมายแรงงาน : ประกันสังคม : ปรานี สุขศรี
วารสาร : HR Society Magazine พฤศจิกายน 2563


FaLang translation system by Faboba