นายจ้างต้องทำอย่างไร เมื่อจำเป็นต้องหยุดกิจการชั่วคราว

โดย

 

 

จากวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) เรียกได้ว่าเป็นมหาวิกฤตของโลกเลย ก็ว่าได้
สำหรับประเทศไทยแล้ว สถานประกอบกิจการเกือบทุกประเภทและทุกแห่งที่ได้รับผลกระทบมีความจำเป็นต้องหยุดกิจการ
ทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นการชั่วคราว ซึ่งมักมีคำถามหรือปัญหาในทางกฎหมายแรงงานเกิดขึ้นเสมอว่า ในกรณีที่นายจ้าง
จะต้องหยุดกิจการชั่วคราวและไม่ให้ลูกจ้างทำงาน นายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างหรือไม่ หากต้องจ่ายจะต้องจ่าย
เท่ากับค่าจ้างที่ลูกจ้างได้รับอยู่ตามปกติหรือจ่ายเงินให้เพียงบางส่วน และถ้าจ่ายเพียงบางส่วนจะต้องจ่ายให้เป็นร้อยละเท่าใด
ของอัตราค่าจ้างที่ลูกจ้างได้รับ ต้องจ่ายเป็นระยะเวลานานเท่าใด และจะหยุดกิจการได้นานแค่ไหน ผู้เขียนขออธิบายดังนี้

สำหรับการหยุดกิจการชั่วคราวนั้น พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 75 บัญญัติว่า
“ในกรณีที่นายจ้างมีความจำเป็นโดยเหตุหนึ่งเหตุใดที่สำคัญอันมีผลกระทบต่อการประกอบกิจการของนายจ้าง จนทำให้
นายจ้างไม่สามารถประกอบกิจการได้ตามปกติซึ่งมิใช่เหตุสุดวิสัยต้องหยุดกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นการชั่วคราว
ให้นายจ้างจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างไม่น้อยกว่าร้อยละ 75 ของค่าจ้างในวันทำงานที่ลูกจ้างได้รับก่อนนายจ้างหยุดกิจการ
ตลอดระยะเวลาที่นายจ้างไม่ได้ให้ลูกจ้างทำงาน
ให้นายจ้างแจ้งให้ลูกจ้างและพนักงานตรวจแรงงานทราบล่วงหน้าเป็นหนังสือก่อนวันเริ่มหยุดกิจการตามวรรคหนึ่งไม่น้อยกว่า
3 วันทำการ”

ซึ่งต่อมาได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 และออกพระราชบัญญัติ คุ้มครอง
แรงงาน (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 75 บัญญัติว่า 

“ในกรณีที่นายจ้างมีความจำเป็นต้องหยุดกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นการชั่วคราวด้วยเหตุหนึ่งเหตุใดที่สำคัญอันมี
ผลกระทบต่อการประกอบกิจการของนายจ้าง จนทำให้นายจ้างไม่สามารถประกอบกิจการได้ตามปกติซึ่งมิใช่เหตุสุดวิสัย
ให้นายจ้างจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างไม่น้อยกว่าร้อยละ 75 ของค่าจ้างในวันทำงานที่ลูกจ้างได้รับก่อนนายจ้างหยุดกิจการตลอด
ระยะเวลาที่นายจ้างไม่ได้ให้ลูกจ้างทำงาน ณ สถานที่จ่ายเงินตามมาตรา 55 และภายในกำหนดเวลาการจ่ายเงิน
ตามมาตรา 70 (1)

ให้นายจ้างแจ้งให้ลูกจ้างและพนักงานตรวจแรงงานทราบล่วงหน้าเป็นหนังสือก่อนวันเริ่มหยุดกิจการตามวรรคหนึ่ง
ไม่น้อยกว่า 3 วันทำการ”

การหยุดกิจการตามบทบัญญัติดังกล่าวข้างต้น จึงมีหลักเกณฑ์ดังนี้
1. นายจ้างมีความจำเป็นต้องหยุดกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นการชั่วคราว ด้วยเหตุหนึ่งเหตุใดสำคัญอันมีผลกระทบ
ต่อการประกอบกิจการของนายจ้างจนทำให้นายจ้างไม่สามารถประกอบกิจการได้ตามปกติซึ่งไม่ใช่เหตุสุดวิสัย
การหยุดกิจการตามกฎหมายนั้น ต้องเป็นการหยุดกิจการโดยเหตุหนึ่งเหตุใดที่สำคัญอันมีผลกระทบต่อการประกอบกิจการ
ของนายจ้างเป็นอย่างมากจนทำให้นายจ้างไม่สามารถประกอบกิจการตามปกติได้ หากเป็นความจำเป็นที่กระทบต่อ
การประกอบกิจการของนายจ้างบ้างเพียงเล็กน้อย อาจไม่เข้าข่ายที่นายจ้างผู้ประกอบกิจการจะหยุดกิจการชั่วคราวตาม
บทบัญญัตินี้ได้ และต้องไม่ใช่เหตุสุดวิสัย ตามนัยความหมายของเหตุสุดวิสัยตามกฎหมายนั้นได้บัญญัติไว้ในประมวล
กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 8 “เหตุสุดวิสัยหมายความว่า เหตุใดๆ อันจะเกิดขึ้นก็ดี จะให้ผลพิบัติก็ดี เป็นเหตุ
ที่ไม่อาจป้องกันได้แม้ทั้งบุคคลผู้ต้องประสบหรือใกล้จะต้องประสบเหตุนั้น จะได้จัดการระมัดระวังตามสมควรอันพึง
คาดหมายได้จากบุคคลในฐานะและภาวะเช่นนั้น”
แต่กรณีหากนายจ้างมีความจำเป็นต้องหยุดกิจการชั่วคราว เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในสถานประกอบการ
ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ กรณีนี้อาจถือว่าเป็นการหยุดกิจการโดยที่ยังไม่ได้เกิดเหตุการณ์ใดๆ ที่นายจ้างไม่อาจป้องกันหรือ
หลีกเลี่ยงด้วยความระมัดระวังได้เกิดขึ้น แต่เป็นการหยุดกิจการชั่วคราวเนื่องจากเพื่อเป็นการป้องกันการแพร่ระบาดของ
โรคโควิด-19 อันเกิดจากความต้องการของนายจ้างเองและไม่ใช่เหตุสุดวิสัย การหยุดกิจการชั่วคราวของนายจ้างดังกล่าว
จึงอาจไม่เข้าข่ายการหยุดกิจการตามมาตรา 75 ที่นายจ้างต้องจ่ายเงินกรณีนายจ้างหยุดกิจการตามมาตราดังกล่าว แต่กรณี
นี้นายจ้างยังคงมีหน้าที่ต้องจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างที่นายจ้างไม่ได้ให้ทำงานนั้นเสมือนหนึ่งว่าลูกจ้างมาทำงานตามปกติ

2. นายจ้างต้องจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างไม่น้อยกว่าร้อยละ 75 ของค่าจ้างในวันทำงานที่ลูกจ้างได้รับก่อนนายจ้างหยุดกิจการ
ตลอดระยะเวลาที่นายจ้างไม่ได้ให้ลูกจ้างทำงาน ณ สถานที่ทำงานของลูกจ้าง หรือสถานที่อื่น หรือวิธีการอื่นตามที่ตกลงกัน
และภายในกำหนดเวลาการจ่ายเงินโดยต้องจ่ายเงินไม่น้อยกว่าเดือนละหนึ่งครั้ง หรือตามที่นายจ้างและลูกจ้างมีการตกลงกัน
เป็นอย่างอื่นที่เป็นประโยชน์แก่ลูกจ้าง

3. นายจ้างต้องแจ้งให้ลูกจ้างและพนักงานตรวจแรงงานทราบล่วงหน้าเป็นหนังสือก่อนวันเริ่มหยุดกิจการชั่วคราวไม่น้อยกว่า
3 วันทำการ


 

  บางส่วนจากบทความ  “นายจ้างต้องทำอย่างไร เมื่อจำเป็นต้องหยุดกิจการชั่วคราว”
  อ่านบทความเต็มได้ใน... วารสาร HR Society magazine ปีที่ 18 ฉบับที่ ฉบับที่ 216 เดือนกุมภาพันธ์ 2564



กฎหมายแรงงาน : เรื่องข้น คน HR : ณัฏฐณิชา เกื้อจรูญ (สำนักกฎหมายธรรมนิติ) 
วารสาร : HR Society Magazine กุมภาพันธ์ 2564



FaLang translation system by Faboba