การคืนอากรศุลกากร : กรณีเสียอากรไว้เกินจำนวนที่ต้องเสีย

โดย

 

 
  เสียอากรศุลกากรไว้เกิน...ขอคืนได้หรือไม่? 


การคืนอากรศุลกากร คือการคืนเงินค่าอากรที่ผู้นำของเข้าหรือผู้ส่งของออกได้เสียไว้ในการปฏิบัติพิธีการศุลกากร เพื่อนำ
ของออกจากอารักขาของศุลกากรเข้ามาในหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักร แต่มีเหตุตามกฎหมายที่ทำให้เกิดสิทธิ
ในการที่จะเรียกร้องค่าอากรศุลกากรนั้นคืนได้

การคืนอากร “กรณีที่มีการเสียอากรไว้เกินจำนวนที่ต้องเสีย”
การเสียอากรไว้เกินจำนวนที่ต้องเสียอาจเกิดขึ้นเนื่องจาก
• ในบางกรณีการปฏิบัติพิธีการศุลกากรเพื่อชำระอากรของผู้นำของเข้าหรือผู้ส่งของออก มีการชำระอากรที่ผิดพลาด
คลาดเคลื่อนกว่าความเป็นจริง โดยเป็นผู้นำของเข้าหรือผู้ส่งของออกที่มีหน้าที่เสียอากรแล้ว แต่ได้เสียอากรศุลกากร
ไว้เกินจำนวนที่ต้องเสีย เช่น ผู้นำของเข้าหรือผู้ส่งของออกมีหน้าที่ต้องชำระอากรเพียงจำนวน 9,000 บาท แต่ชำระ
ไปเป็นจำนวน 9,900 บาท ถือเป็นการเสียอากรไว้เกินจำนวนที่ต้องเสีย
• หรือในกรณีที่อัตราอากรที่ต้องเสียจริงคือร้อยละ 0 หรือได้รับการยกเว้นอากร แต่ได้สำแดงโดยชำระอากรไว้ เช่นนี้
ก็ถือเป็นกรณีที่เสียอากรไว้เกินจำนวนที่ต้องเสียเช่นกัน เพื่อเป็นการอำนวยความเป็นธรรมให้แก่ผู้นำของเข้าหรือผู้ส่ง
ของออก ความในมาตรา 25 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 จึงเปิดโอกาสให้แก้ไขความผิดพลาดคลาดเคลื่อนใน
การชำระอากรนี้ โดยมีบทบัญญัติเกี่ยวกับการ “คืนอากร” ให้ผู้นำของเข้าหรือผู้ส่งของออกที่เสียอากรไว้เกินจำนวนที่
ต้องเสีย มีสิทธิขอคืนอากรศุลกากรนั้นได้  ประเภทและระยะเวลาในการขอคืนอากร

กรณีเสียอากรศุลกากรไว้เกินจำนวนที่ต้องเสีย แยกได้เป็น 2 ประเภท โดยกฎหมายได้กำหนดระยะเวลาในการขอคืนอากร
ไว้แตกต่างกันดังนี้
(1) การคืนให้โดย “ไม่ต้องยื่นคำร้องขอคืนอากร”
ในกรณีที่การเสียอากรศุลกากรไว้เกินจำนวนที่ต้องเสีย มีมูลเหตุเกิดจากการ “คำนวณอากรผิด” ซึ่งการคำนวณอากรผิดใน
ที่นี้หมายถึง ความผิดพลาดคลาดเคลื่อนในการคิดคำนวณค่าอากร กรณีเช่นนี้แม้ผู้นำของเข้าหรือผู้ส่งของออกจะปฏิบัติ
พิธีการศุลกากรโดยนำของออกจากอารักขาของศุลกากรโดยมิได้มีการทักท้วงไว้ตั้งแต่ต้น หรือแม้จะได้รู้ถึงการคำนวณอากร
ที่ผิดนั้นในภายหลัง แต่ผู้นำของเข้าหรือผู้ส่งของออกยังมิได้ยื่นคำขอคืนอากรที่ชำระไว้เกินนั้นต่อกรมศุลกากร ความใน
มาตรา 25 (1) แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 ก็ได้บัญญัติเป็นช่องทางให้อธิบดีกรมศุลกากรมีอำนาจที่จะคืนค่า
อากรสำหรับส่วนที่เสียไว้เกินนั้นได้ หากความปรากฏชัดต่ออธิบดีว่าผู้นำของเข้าหรือผู้ส่งของออกเสียอากรไว้เกินเพราะ
คำนวณจำนวนเงินอากรผิด อธิบดีก็มีอำนาจสั่งให้คืนได้เองโดยไม่จำต้องมีการยื่นคำร้องขอคืนอากร
ทั้งนี้หากอธิบดีพบข้อเท็จจริงของการเสียอากรศุลกากรไว้เกินจำนวนที่ต้องเสียเพราะการคำนวณอากรผิด แล้วอธิบดีจะใช้
อำนาจคืนอากรให้ก็จะต้องสั่งคืนให้ภายในกำหนด 2 ปีนับแต่วันที่ได้นำของเข้ามาในหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักร
ซึ่งการ “สั่งคืน” ในที่นี้ หมายความถึงเฉพาะการพิจารณาและสั่งอนุมัติโดยอธิบดีให้คืนเท่านั้นที่จะต้องดำเนินการภายในระยะ
เวลา 2 ปี ส่วนการที่ผู้นำของเข้าหรือผู้ส่งของออกจะใช้สิทธิรับเงินอากรตามที่อธิบดีสั่งคืนให้นั้น ไม่จำต้องดำเนินการภายใน
กรอบระยะเวลา 2 ปี ดังกล่าวแต่อย่างใด

(2) การคืนให้โดย “ต้องยื่นคำร้องขอคืนอากร”
หากผู้นำของเข้าหรือผู้ส่งของออกได้ปฏิบัติพิธีการศุลกากรชำระอากรไว้แล้ว แต่พบในภายหลังว่าอากรที่ชำระไว้นั้นเกิน
จำนวนที่ต้องเสีย โดยการคิดคำนวณจำนวนเงินค่าอากรผิดพลาดไปจากความเป็นจริง ส่งผลให้เสียอากรไว้เกิน โดยอาจเป็น
กรณีที่ผู้นำของเข้าหรือผู้ส่งของออกตรวจพบก่อนการตรวจปล่อยของนั้น แล้วได้แจ้งความประสงค์ต่อพนักงานศุลกากรก่อน
การส่งมอบของว่าตนเสียอากรไว้เกินจำนวนที่ต้องเสีย หรือเป็นกรณีที่ตรวจพบในภายหลังจากที่ได้ปฏิบัติพิธีการศุลกากร
ตรวจปล่อยสินค้าแล้วว่าอากรที่ชำระไว้นั้นเกินจำนวนที่ต้องเสีย หากผู้นำของเข้าหรือผู้ส่งของออกประสงค์จะขอคืนอากร
ศุลกากรที่เสียไว้เกินจำนวนที่ต้องเสียดังกล่าวก็ย่อมมีสิทธิตามกฎหมายที่จะขอคืนได้ โดยจะต้องยื่นคำร้องขอคืนอากรตาม
หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด
การคืนอากรศุลกากรในกรณีนี้ ความในมาตรา 25 (2) แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 บัญญัติให้ “ผู้นำของเข้า
หรือผู้ส่งของออกมีสิทธิยื่นคำร้องขอคืนอากรภายในกำหนด 3 ปี นับแต่วันที่นำของเข้ามาในหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักร” ระยะเวลา 3 ปีในการขอคืนอากรดังกล่าว ถือเป็นระยะเวลาเคร่งครัดที่จะต้องยื่นคำร้องขอคืนภายในกำหนด
หากมิได้ยื่นภายในกำหนด แม้ผู้นำของเข้าหรือผู้ส่งของออกจะมีจำนวนอากรที่ชำระไว้เกินอยู่จริง ก็ย่อมไม่มีสิทธิตาม
กฎหมายที่จะได้รับคืน น่าสังเกตว่าระยะเวลา 3 ปี เป็นระยะเวลาในการยื่นคำร้องขอคืนเท่านั้น ส่วนการที่จะสั่งคืนให้
เมื่อใดนั้น มิได้จำกัดว่าจะต้องอยู่ภายในกรอบระยะเวลา 3 ปี ดังกล่าวแต่อย่างใด


   
      บางส่วนจากบทความ “การคืนอากรศุลกากร : กรณีเสียอากรไว้เกินจำนวนที่ต้องเสีย”
      อ่านบทความฉบับเต็มได้ใน... วารสารเอกสารภาษีอากร ปีที่ 39 ฉบับที่ 474 เดือน มีนาคม 2564 




Tax Talk : Customs Duty : รติรัตน์ คงเอียด
วารสาร : เอกสารภาษีอากร มีนาคม 2564



FaLang translation system by Faboba