รับเงินว่างงานถ้ารู้ว่า “ไม่มีสิทธิ” ต้องคืน!

โดย

 

ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 ผู้ประกันตนที่สิ้นสภาพการเป็นลูกจ้างไม่ว่าจะถูกเลิกจ้าง หรือลาออกจากงาน
หรือสิ้นสุดสัญญาจ้าง จะได้รับความคุ้มครองในกรณีว่างงาน โดยมีสิทธิได้รับ “เงินทดแทนการว่างงาน”
จากกองทุนประกันสังคมตามเวลาและจำนวนเงินที่กฎหมายกำหนด

สิทธิรับเงินทดแทนการว่างงาน
• ว่างงานในช่วงวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2563 ถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565
- กรณีนายจ้างเลิกจ้าง ได้รับเงินในอัตรา 70% ของค่าจ้างรายวัน ครั้งละไม่เกิน 200 วัน
- กรณีลาออกจากงานหรือสิ้นสุดสัญญาจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนและเลิกจ้างตามกำหนดระยะเวลานั้น
ได้รับเงินในอัตรา 45% ของค่าจ้างรายวัน ครั้งละไม่เกิน 90 วัน
(ที่มา : กฎกระทรวง การได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานอันเนื่องจากได้รับผลกระทบจากสภาวะเศรษฐกิจ
พ.ศ. 2563)
• ว่างงานในช่วงก่อนวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2563 หรือหลังวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565
- กรณีนายจ้างเลิกจ้าง ได้รับเงินในอัตรา 50% ของค่าจ้างรายวัน ครั้งละไม่เกิน 180 วัน
- กรณีลาออกจากงานหรือสิ้นสุดสัญญาจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนและเลิกจ้างตามกำหนดระยะเวลานั้น
เงื่อนไขสำคัญ คือ ผู้ประกันตนจะต้องยื่นแบบขึ้นทะเบียนเป็นผู้ว่างงานภายใน 30 วันนับแต่วันที่ว่างงาน และในระหว่าง
ที่ได้รับเงินทดแทนการว่างงานต้องรายงานตัวเป็นประจำทุกเดือน และต้องไม่ปฏิเสธการทำงานที่กรมการจัดหางานจัดหา
ให้และไม่ปฏิเสธการฝึกอบรมฝีมือแรงงาน ได้รับเงินในอัตรา 30% ของค่าจ้างรายวัน ครั้งละไม่เกิน 90 วัน
ปัญหาที่เกิดขึ้นกับผู้ประกันตนที่ว่างงานหลายคน คือ นายจ้างไม่แจ้งสาเหตุการออกจากงานของลูกจ้าง (ผู้ประกันตน)
ทำให้ผู้ประกันตนที่ว่างงานได้รับเงินว่างงานล่าช้าเพราะเจ้าหน้าที่จะต้องรอการวินิจฉัยจนกว่านายจ้างจะแจ้งเป็นหนังสือให้
สำนักงานประกันสังคมทราบ (ซึ่งในระหว่างรอผู้ว่างงานจะต้องรายงานตัวตามที่กฎหมายกำหนดไว้ด้วย)

การว่างงานเพราะเหตุตามมาตรา 78 (2) 
ในกรณีที่ผู้ประกันว่างงานเพราะเหตุตามมาตรา 78 (2) ดังกล่าว หากข้อเท็จจริงยังไม่มีความชัดเจนและกลายเป็น
ข้อพิพาทแรงงานระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง โดยลูกจ้างยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานหรือมีการฟ้องคดีต่อศาลแรงงาน
และในขณะเดียวกันผู้ประกันตนได้ยื่นคำขอรับเงินทดแทนการว่างงานจากกองทุนประกันสังคม
ในทางปฏิบัติที่ผ่านมา สำนักงานประกันสังคมจะรอการวินิจฉัยจ่ายเงินทดแทนการว่างงานจนกว่าจะมีคำพิพากษา
ถึงที่สุดหรือภายใน 45 วัน นับแต่วันที่พนักงานตรวจแรงงานมีคำวินิจฉัย
ว่าลูกจ้างไม่ได้กระทำความผิดต่อนายจ้าง
ซึ่งการที่จะต้องรอการวินิจฉัยดังกล่าวจำเป็นต้องใช้เวลานานหลายเดือนหรือเป็นปี 
แต่ปัจจุบัน...การวินิจฉัยจ่ายเงินทดแทนการว่างงานดังกล่าวได้รับการแก้ไขแล้ว โดยคณะกรรมการกฤษฎีกามีความเห็น
ไว้ในเรื่องเสร็จที่ 37/2564
ว่า เมื่อผู้ประกันตนว่างานและได้ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ว่างงาน ไม่ว่าการว่างงานนั้นจะเกิด
จากลูกจ้างลาออก หรือสิ้นสุดสัญญาจ้าง หรือนายจ้างเลิกจ้างด้วยเหตุปกติที่นายจ้างปิดกิจการหรือลดจำนวนลูกจ้าง หรือ
เพราะเหตุตามมาตรา 78 (2) ถึงแม้ว่านายจ้างหรือผู้ประกันตนจะนำข้อพิพาทไปให้พนักงานตรวจแรงงานวินิจฉัยหรือ
ฟ้องคดีต่อศาลแรงงาน สำนักงานประกันสังคมก็จะต้องจ่ายเงินทดแทนการว่างงานให้ผู้ประกันตนโดยไม่จำต้องรอคำวินิจฉัย
จากพนักงานตรวจแรงงานหรือคำพิพากษาของศาลแรงงานอีกต่อไป 
แต่อย่างไรก็ตาม...มีปัญหาว่า เงินทดแทนการว่างงานที่ผู้ประกันตนรับไปแล้วจะต้องคืนเงินให้กองทุนประกันสังคมหรือไม่
หากต่อมาพนักงานตรวจแรงงานมีคำวินิจฉัยหรือศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่านายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างเพราะเหตุตาม
มาตรา 78 (2) แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคมพ.ศ. 2533 
คณะกรรมการกฤษฎีกามีความเห็นในเรื่องนี้ว่า ...สิทธิในการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานตามมาตรา 78 จะเกิดขึ้น
ต่อเมื่อลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนไม่ได้ถูกเลิกจ้างอันเนื่องมาจากเหตุตามมาตรา 78 (2) แต่หากภายหลังศาลมีคำพิพากษา
ถึงที่สุดว่าผู้ประกันตนถูกเลิกจ้างเนื่องจากเหตุตามมาตรา 78 (2) ถือว่าเป็นกรณีที่ผู้ประกันตนได้รับประโยชน์ทดแทน
โดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้และทำให้ประกันสังคมเสียเปรียบ
ดังนั้นผู้ประกันตนจึงต้องเอาประโยชน์ทดแทนที่ได้รับไปคืนให้แก่สำนักงานประกันสังคมฐาน “ลาภมิควรได้” ตามมาตรา 406
แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือหากสำนักงานประกันสังคมได้ทำสัญญากับผู้ประกันตนไว้เป็นอย่างอื่น
สำนักงานประกันสังคมก็อาจเรียกคืนประโยชน์ทดแทนที่ได้จ่ายให้แก่ผู้ประกันตน ตามหลักเรื่องสัญญา (ประมวลกฎหมาย
และพาณิชย์ มาตรา 406 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “บุคคลใดได้มาซึ่งทรัพย์สิ่งใดเพราะการที่บุคคลอีกคนหนึ่งกระทำ
เพื่อชำระหนี้ก็ดีหรือได้มาด้วยประการอื่นก็ดี โดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ และเป็นทางให้บุคคลอีกคนหนึ่งนั้นเสีย
เปรียบไซร้ท่านว่าบุคคลนั้นจำต้องคืนทรัพย์ให้แก่เขา อนึ่ง การรับสภาพหนี้สินว่ามีอยู่หรือหาไม่นั้น ท่านก็ให้ถือว่าเป็น
การกระทำเพื่อชำระหนี้ด้วย”)




  บางส่วนจากบทความ “รับเงินว่างงาน ถ้ารู้ว่า ไม่มีสิทธิ ต้องคืน!”
  อ่านบทความฉบับเต็มได้ใน... วารสาร CPD & Account ปีที่ 19 ฉบับที่ 219  เดือนมีนาคม 2564

 


กฎหมายแรงงาน : ประกันสังคม : ปรานี สุขศรี 
วารสาร : CPD&ACCOUNT มีนาคม 2564


FaLang translation system by Faboba