อัปสกิลการลดเครียดและเพิ่มสุข

โดย

 

 

 วิธีการจัดการความเครียดแบบ 3 level "พราง ลวง ลับ


วิถีปฏิบัติใหม่ หรือ ความปกติใหม่ ที่ใช้ภาษาอังกฤษว่า “New Normal” นั้น เป็นสิ่งจำเป็นที่กำลังเกิดขึ้น
ซึ่งแม้ทุกคนอาจจะเข้าใจถึงความสำคัญ แต่ก็ได้สร้างความกังวลใจและความเครียดให้กับทุกคนไม่มากก็น้อย
ดังนั้น สกิล หรือทักษะการจัดการกับความเครียด และการรับรู้ความสุขจึงเป็นสิ่งหนึ่งที่เราทุกคนควรได้รับ
การสร้างเสริม

เราลองมาเริ่มต้นด้วยการพิจารณาวิธีการจัดการความเครียดแบบ "พราง ลวง ลับ" กัน ซึ่งวิธีการนี้แบ่ง
แนวทางการจัดการความเครียดออกเป็น 3 level หรือ 3 ระดับด้วยกัน คือ ระดับพราง เหมาะกับ
Beginner หรือผู้เริ่มต้นที่อาจจะยังมีทักษะไม่มากนัก ระดับลวง เป็น level กลาง เหมาะกับผู้เริ่ม
มีทักษะหรือมีประสบการณ์มากขึ้น และระดับลับ เป็น level สูง เหมาะกับผู้ที่มีทักษะชั้นสูงหรือ
ระดับแอดวานซ์

เริ่มจากระดับพราง ซึ่งตามที่กล่าวไว้ในข้างต้นว่าเป็นวิธีการจัดการความเครียดใน level แรก ที่เหมาะกับ
ผู้เริ่มต้นที่อาจจะยังมีทักษะไม่มากนัก เมื่อต้องพบกับความเครียดจึงต้องใช้วิธีการพราง โดยการเบี่ยงเบน
ความคิดหรือความสนใจในขณะนั้นไปที่เรื่องอื่น หรือการนำตนเองออกจากสถานการณ์ปัญหาหรือความเครียด
นั้น และเปลี่ยนไปทำอย่างอื่นแทน และเมื่อรู้สึกสบายใจขึ้น มีกำลังใจมากขึ้น จึงค่อยกลับมาจัดการกับ
ปัญหาหรือสิ่งที่ทำให้เกิดความเครียดนั้น

ยกตัวอย่างเช่น เมื่อต้องพบเจอกับปัญหาหรืออุปสรรคในการทำงาน ส่งผลให้เราหงุดหงิดอารมณ์เสีย เราก็ใช้
วิธีการพรางตนเอง ด้วยการไปทำกิจกรรมอื่น เพราะเป็นไปได้ที่ถ้าหากเรายังฝืนอยู่ในสถานการณ์นั้นๆ
ก็อาจจะยิ่งส่งผลให้เราหงุดหงิดอารมณ์เสียมากขึ้น ซึ่งอาจนำไปสู่ผลเสียมากกว่าผลดี เราจึงควรหาสิ่งอื่น
ทำแทน เพื่อเบี่ยงเบนความรู้สึกของเราไปสู่สิ่งอื่น และพาเราออกจากสถานการณ์นั้น เช่น การออกไป
เดินเล่นหรือช้อปปิ้ง การฟังเพลง หรือการไปรับประทานอาหารที่เราชอบ เป็นต้น

ระดับต่อมาคือ ระดับลวง เป็น level การจัดการความเครียดในระดับกลาง เหมาะกับผู้เริ่มมีทักษะหรือ
มีประสบการณ์มากขึ้น ซึ่งอธิบายได้ว่า ผู้ที่อยู่ในเลเวลนี้ตระหนักดีว่า เป็นเรื่องธรรมดาที่ในการทำงานหรือ
การดำเนินชีวิตของเรานั้น ต้องพบเจอกับปัญหาหรืออุปสรรคบ้างอย่างแน่นอน ดังนั้นจึงได้พยายามเตรียม
ความพร้อมทั้งแรงใจแรงกายและแรงสมอง ในการรับมือกับสิ่งต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นไม่ว่าร้ายหรือดี ดังนั้น
เมื่อถึงเวลาที่ต้องเผชิญกับปัญหาหรืออุปสรรคใดๆ ก็พร้อมที่จะจัดการกับสถานการณ์นั้นๆ อย่างดีที่สุดเท่าที่
จะทำได้ เรียกง่ายๆ ว่า “ลองสู้กันดูสักตั้ง” ซึ่งเมื่อลองแล้วจะจัดการได้หรือไม่ได้ อย่างน้อยก็ได้ลองและ
พยายามทำอย่างดีที่สุด ไม่ถอดใจไปเสียตั้งแต่แรก เพราะฉะนั้น ที่เรียกระดับนี้ว่าระดับลวงก็เพราะว่า
เราลวงล่อใจตนเองให้อดทนเข้าไว้ ให้ลองเผชิญหน้ากับปัญหานั้นๆ ให้ลองตั้งสติและจัดการกับสถานการณ์
ตรงหน้าอย่างดีที่สุด แต่ถ้าหากเมื่อได้ลองจัดการไปแล้ว เรารับมือไม่ไหว ก็ถอยไปตั้งหลักใหม่เสียก่อน
เมื่อใดพร้อม ก็ค่อยกลับไปจัดการต่อ

ยกตัวอย่างเช่น เมื่อต้องพบเจอกับปัญหาในเรื่องความรัก ที่มักไม่เป็นดังใจปรารถนา เราจะพยายามจัดการ
ให้ดีที่สุด ไม่ถอดใจไปเสียตั้งแต่แรก พยายามเข้าใจในสถานการณ์ ว่าคนเรานั้นแตกต่างกัน จะให้คนสองคน
มีความสัมพันธ์ที่ราบรื่นไปซะทุกอย่างก็คงจะเป็นไปไม่ได้ ต้องมีการกระทบกระทั่งกันบ้างเป็นธรรมดา
คราวใดที่รู้สึกหนักหนาสาหัสจนแทบจัดการอะไรไม่ได้ ก็ถอยห่างออกมาเสียบ้าง เมื่อสถานการณ์คลี่คลาย
ลงก็ค่อยว่ากันใหม่

ระดับการจัดการความเครียดระดับสุดท้ายสูงสุดคือระดับลับ เป็น level ที่เหมาะกับผู้ที่มีทักษะชั้นสูงหรือ
ระดับแอดวานซ์ คือเป็นผู้ที่ผ่านทั้ง 2 level แรกมาได้แล้ว สั่งสมความเข้าใจชีวิตและพัฒนาทักษะ
ในการจัดการกับปัญหาและอุปสรรคในเรื่องต่างๆ มาเป็นอย่างดีพอสมควร คนระดับนี้จึงมักเตรียมความพร้อม
เป็นอย่างดี มีภูมิคุ้มกันความเครียด สามารถรับมือกับสถานการณ์และความเป็นไปต่างๆ ในชีวิตตามความเป็น
จริง ด้วยความอดทน ด้วยความรู้ความสามารถ และด้วยสติ และที่เรียก level นี้ว่าระดับลับ ก็เพราะวิธี
การจัดการกับความเครียดแบบนี้คือเคล็ดลับที่ใช้ในการรับมือได้อย่างดีที่สุด

ยกตัวอย่างเช่น เมื่อต้องเจอกับสภาพเศรษฐกิจที่ย่ำแย่จากสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ทำให้รายได้
ลดน้อยลงอย่างมาก แต่รายจ่ายยังคงสูงเท่าเดิม เกิดเป็นความวิตกกังวล ทั้งด้านเศรษฐกิจและสุขภาพ
ส่งผลให้ต้องกลับมาทบทวนวิถีการดำเนินชีวิต ให้มีความประหยัดและรัดกุม แม้จะมีความเครียด
แต่ก็พยายามขบคิดและจัดการกับสถานการณ์เฉพาะหน้าอย่างดีที่สุด ค่อยๆ แก้ปัญหาไปทีละเปลาะ
ยอมรับความเป็นจริง และเผชิญหน้าด้วยสติ และความรู้ความสามารถที่ตนมี



  บางส่วนจากบทความ  “อัปสกิลการลดเครียดและเพิ่มสุข”
  อ่านบทความเต็มได้ใน... วารสาร HR Society magazine ปีที่ 18 ฉบับที่ ฉบับที่ 221 เดือนพฤษภาคม 2564



Psychology : จิตวิทยาการบริหาร : รศ.ดร. วิชัย อุตสาหจิต 
วารสาร : HR Society Magazine พฤษภาคม 2564



FaLang translation system by Faboba