มนุษย์เงินเดือนกับการลดหย่อนภาษีปี 2564

โดย

 

 
มนุษย์เงินเดือนกับการลดหย่อนภาษีปี 2564


“ปี 2564 คุณเตรียมพร้อมลดหย่อนภาษีหรือยัง?” ถ้าหากถามคำถามนี้ในช่วงนี้ หลายคนอาจจะงงๆ และมองว่า รีบไป
หรือเปล่า แต่สำหรับสถานการณ์ไม่แน่นอนเช่นทุกวันนี้ การวางแผนลดหย่อนภาษีตั้งแต่เนิ่นๆ จะดีครับ
โดยมีรายละเอียดดังนี้

ค่าลดหย่อนกลุ่มประกันและการลงทุนปี 2564
สิ่งสำคัญควรเริ่มจากวัตถุประสงค์ในการลงทุนของเราเป็นอันดับแรกก่อน แล้วค่อยคำนึงถึงสิทธิประโยชน์การวางแผนภาษีตามมาครับ ซึ่งในปัจจุบันมีทางเลือกสำคัญดังต่อไปนี้ครับ

1. เบี้ยประกันชีวิตทั่วไป หรือเงินฝากแบบมีประกันชีวิตตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกินจำนวน 100,000 บาท โดยในกรณีที่คู่สมรสไม่มีรายได้ การหักค่าเบี้ยประกันสำหรับคู่สมรสจะหักได้สูงสุด 10,000 บาท แต่ถ้าหากคู่สมรสมีรายได้จะหักสูงสุดได้ถึง 100,000 บาทครับ
สำหรับเงื่อนไขของค่าลดหย่อนประกันชีวิต จะมีเรื่องของระยะเวลาคุ้มครองตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป ต้องทำกับบริษัทประกันชีวิต
ในประเทศไทย ได้รับเงินคืนไม่เกิน 20% ของเบี้ยประกันชีวิตรายปี ฯลฯ ตรงนี้ผมแนะนำให้สังเกตจากข้อมูลที่ระบุไว้ใน
ใบเสร็จรับเงินค่าเบี้ยประกัน น่าจะตอบคำถามได้ง่ายที่สุดครับ
2. เบี้ยประกันสุขภาพตนเอง ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกินจำนวน 25,000 บาท (ปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมในปี 2563) และ
เมื่อรวมกับประกันชีวิตทั่วไปหรือเงินฝากแบบมีประกันชีวิตแล้วต้องไม่เกิน 100,000 บาท
3. เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ 15% ของเงินได้ ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกินจำนวน 200,000 บาท
4. กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) นำมาลดหย่อนได้ 30% (แก้ไขเพิ่มเติมในปี 2563) ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี
ตามที่จ่ายจริงและสูงสุดไม่เกินจำนวน 500,000 บาท โดยกองทุน RMF เป็นกองทุนรวมประเภทหนึ่งที่ลงทุนไว้ในสินทรัพย์หลากหลายประเภท ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการวางแผนเกษียณของเราครับ และมีระบุเงื่อนไขเพิ่มเติมไว้ตามนี้ครับ
     • ต้องซื้อติดต่อกันทุกปี (แต่ถ้าผิดเงื่อนไขสามารถผิดได้ 1 ปี)
     • ต้องซื้อเป็นจำนวนขั้นต่ำ 3% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี หรือ 5,000 บาท (เงื่อนไขนี้ถูกยกเลิกในปี 2563)
     • ต้องถือหน่วยลงทุนในกองทุนรวมไว้ไม่น้อยกว่า 5 ปี และอายุครบ 55 ปี จึงจะสามารถขายได้
5. กองทุนสํารองเลี้ยงชีพ (PVD) สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง โดยมีจำนวนสูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท ซึ่งเราสามารถสะสมเพิ่มได้โดยขอเปลี่ยนเปอร์เซ็นต์ที่กำหนดกับนายจ้างไว้ รวมถึงเลือกแผนการลงทุนได้ตามใจของเราที่ต้องการ (ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละที่) ซึ่งตรงนี้ก็อยู่ที่ว่าเราวางแผนการลงทุนส่วนนี้ไว้อย่างไรครับ
6. กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) นำมาลดหย่อนได้ 30% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษีตามที่จ่ายจริง และสูงสุดไม่เกินจำนวน 200,000 บาท โดยกองทุน SSF เป็นกองทุนรวมประเภทหนึ่งที่ลงทุนไว้ในสินทรัพย์หลากหลายประเภท ซึ่งมีวัตถุประสงค์
ในการวางแผนลงทุนระยะยาวของเราครับ โดยกำหนดเงื่อนไขในการถือครองหลังจากซื้อไม่น้อยกว่า 10 ปี (เต็ม) และสามารถซื้อได้ตั้งแต่ปี 2563 - 2567
อย่างไรก็ตาม กลุ่มค่าลดหย่อน ประกันชีวิตและการลงทุนที่ว่ามานี้ สำหรับมนุษย์เงินเดือนอย่างเรา จะมีเงื่อนไขเพิ่มเติมสำหรับค่าลดหย่อนภาษีที่เป็นการวางแผนเกษียณครับ นั่นคือ ยอดรวมของ RMF + กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ + กองทุนการออมแห่งชาติ + ประกันชีวิตแบบบำนาญ และกองทุนรวม SSF เมื่อรวมกันทั้งหมดแล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาทด้วยครับ
นอกจากนี้ยังมีสิ่งที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่งที่จะช่วยให้เราตัดสินใจวางแผนลดหย่อนภาษีของตัวเองได้ง่ายขึ้นก็คือ
เป้าหมายของชีวิตครับ โดยผมแยกออกเป็น 3 ส่วนดังนี้
      1. ความเสี่ยงในปัจจุบัน ลองคิดว่า หากเราเจ็บไข้ได้ป่วย ไม่สบาย หรือมีเหตุไม่คาดฝัน เรามีเงินชดเชย สำรอง หรือ
ได้ทำประกันไว้คุ้มครองความเสี่ยงหรือไม่ (ร่วมกับสิทธิ์สวัสดิการที่เรามี) ตรงนี้จะเป็นการตัดสินใจในการทำประกันชีวิตและประกันสุขภาพครับ
      2. เป้าหมายในอนาคต ในอีกสักประมาณ 10 ปีข้างหน้า เรามีเป้าหมายการเงินอะไรที่ต้องใช้หรือเปล่า ถ้าหากมี
ตรงนี้อาจจะใช้กองทุน SSF มาช่วยวางแผนได้ครับ
      3. เกษียณ เงินเกษียณเรามีเพียงพอหรือไม่ ทุกวันนี้เราวางแผนเก็บเงินไปถึงเป้าหมายได้หรือยัง ตรงนี้ก็จะใช้
กลุ่มเกษียณมาช่วยกันวางแผนได้ครับ ไม่ว่าจะเป็น RMF PVD หรือประกันชีวิตแบบบำนาญ
มาถึงตรงนี้จะเห็นแล้วว่า ถ้าหากเรามีเป้าหมายที่ชัดเจน จำนวนเงินที่เพียงพอ และเลือกเครื่องมือได้อย่างถูกต้อง
การวางแผนภาษีอย่างถูกหลักก็ช่วยนำพาเราไปสู่เป้าหมายได้นั่นเองครับ




  บางส่วนจากบทความ  “มนุษย์เงินเดือนกับการลดหย่อนภาษีปี 2564”
  อ่านบทความเต็มได้ใน... วารสาร HR Society magazine ฉบับเดือนกันยายน 2564 

Life Style : Smart Money for Salaryman : Taxbugnoms
วารสาร : HR Society Magazine กันยายน 2564



FaLang translation system by Faboba