ค่าเสื่อมราคาสำคัญอย่างไร

โดย

 


 
ค่าเสื่อมราคาสำคัญอย่างไร


คงจะตอบได้ว่า ค่าเสื่อมราคา ถือเป็นค่าใช้จ่ายที่สำคัญในงบกำไรขาดทุน ดังนั้นการบันทึกบัญชีค่าเสื่อมราคา จึงต้องคำนึงถึงหลักการ ความสมเหตุสมผล

ดังนั้นหากแสดงค่าเสื่อมราคาที่ไม่ถูกต้อง เหมาะสม ก็จะส่งผลต่อผลกำไรของกิจการนั้นเอง

ค่าเสื่อมราคาจะเกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ที่มีตัวตน เนื่องจากสินทรัพย์ที่มีตัวตนจะมีอายุการให้ประโยชน์ของสินทรัพย์มากกว่า 1 ปี ดังนั้นหากบริษัทได้มีการซื้อสินทรัพย์ที่มีตัวตนเข้ามา ในทางบัญชีจะยังไม่บันทึกเป็นค่าใช้จ่ายทันที แต่จะทยอยบันทึกเป็นค่าใช้จ่ายตามกรอบของอายุการให้ประโยชน์ของสินทรัพย์นั้น ๆ

วิธีการคำนวณค่าเสื่อมราคา

ในวิธีการคำนวณค่าเสื่อมราคา จริง ๆ แล้วมีหลายวิธี แต่ส่วนใหญ่นักบัญชีจะใช้วิธีการคำนวณค่าเสื่อมแบบเส้นตรง ดังนั้นเรามาดูกันครับว่า ค่าเสื่อมราคามีวิธีคำนวณแบบใดบ้าง

วิธีการคำนวณค่าเสื่อมราคาแบบเส้นตรง (Straight Line Method)

วิธีนี้เป็นการคำนวณที่ทำให้ค่าเสื่อมราคาในแต่ละปีเท่ากัน ยกเว้นสำหรับปีแรกกับปีสุดท้าย

ตัวอย่าง : กิจการซื้อเครื่องจักร ราคา 70,000 บาท ประมาณว่าจะใช้งานได้ 5 ปี และคาดว่ามูลค่าคงเหลือจะสามารถขายได้ในราคา 10,000 บาท

ค่าเสื่อมราคา แต่ละปี = ราคาทุน - มูลค่าคงเหลือ
                               จำนวนอายุการใช้งาน

                            = 70,000 - 10,000
                                        5
                            = 12,000 บาท/ปี

• วิธีการคำนวณจำนวนเปลี่ยนแปลง (Variable Change Method) /วิธีการคำนวณตามผลผลิต (Unit of Production Method)

วิธีนี้เป็นการคำนวณขึ้นอยู่การคาดการณ์ปริมาณผลผลิตที่จะได้จากใช้งานสินทรัพย์ กับปริมาณผลผลิตที่ผลิตได้ในแต่ละปี

ดังนั้นปีใดผลผลิตน้อย ค่าเสื่อมราคาก็จะน้อยตาม แต่หากปีไหนไม่มีผลผลิตก็จะไม่มีค่าเสื่อมราคา

ตัวอย่าง : บริษัท A ซื้อเครื่องจักรผลิตชิ้นส่วนในราคา 500,000 บาท โดยคาดการณ์ว่าจะสามารถใช้ประโยชน์ในการผลิตได้ผลผลิต จำนวน 1,000,000 ชิ้น ซึ่งคาดว่ามูลค่าคงเหลือของเครื่องจักร สามารถขายได้ 50,000 บาท ในปีปัจจุบันสามารถผลิตชิ้นส่วนได้จำนวน 40,000 ชิ้น

ค่าเสื่อมราคาสำหรับปี = 500,000 - 50,000 = 0.45 บาท x 40,000 ชิ้น
                                 1,000,000

ค่าเสื่อมราคา            = 18,000.- บาท

• วิธีการคำนวณแบบลดลงทวีคูณ (Double Declining Balance Method)

วิธีนี้การคำนวณจะเห็นได้ว่า ในปีแรกค่าเสื่อมราคาจะมาก แล้วค่าเสื่อมราคาก็จะทยอยลดลงไปตามจำนวนปีที่มากขึ้น

ตัวอย่าง : กิจการซื้อเครื่องจักร ราคา 70,000.- บาท ประมาณว่าจะใช้งานได้ 5 ปี

อัตราค่าเสื่อมราคา       วิธีเส้นตรง = 20%
2 เท่าของค่าเสื่อมราคา วิธีเส้นตรง = 40 %
ค่าเสื่อมราคา ปีที่ 1 = 40% ของ 70,000 = 28,000
ค่าเสื่อมราคา ปีที่ 2 = 40% ของ 42,000 = 16,800
ค่าเสื่อมราคา ปีที่ 3 = 40% ของ 25,200 = 10,080
ค่าเสื่อมราคา ปีที่ 4 = 40% ของ 15,120 = 6,048
ค่าเสื่อมราคา ปีที่ 5 = 40% ของ 9,072 = 3,628 ตามวิธีนี้
สิ้นอายุการใช้งานปีที่ 5 ราคาตามบัญชี เท่ากับมูลค่าคงเหลือของสินทรัพย์

• วิธีการคำนวณแบบผลรวมประจำปี (Sum of the Year Digit Method)

วิธีนี้การคำนวณจะคล้ายกับวิธีการคำนวณแบบลดลงทวีคูณ โดยในปีแรกค่าเสื่อมราคาจะมาก แล้วค่าเสื่อมราคาก็จะทยอยลดลงไปตามจำนวนปีที่มากขึ้น

ตัวอย่าง : กิจการซื้อเครื่องจักร ราคา 70,000 บาท ประมาณว่าจะใช้งานได้ 5 ปี และคาดว่ามูลค่าคงเหลือจะสามารถขายได้ในราคา 10,000 บาท

ฐานการคิดค่าเสื่อมราคา = 5+4+3+2+1 = 15
ค่าเสื่อมราคา ปีที่ 1 ( 5/15 ของ 60,000) = 20,000
ค่าเสื่อมราคา ปีที่ 2 ( 4/15 ของ 60,000) = 16,000
ค่าเสื่อมราคา ปีที่ 3 ( 3/15 ของ 60,000) = 12,000
ค่าเสื่อมราคา ปีที่ 4 ( 2/15 ของ 60,000) = 8,000
ค่าเสื่อมราคา ปีที่ 5 ( 1/15 ของ 60,000) = 4,000

ดังนั้นการเลือกใช้วิธีการคำนวณค่าเสื่อมราคา ควรพิจารณาให้เหมาะสมกับสินทรัพย์/การใช้งาน และข้อมูลประกอบเป็นสำคัญ

บางส่วนจากบทความ : “หลักการพื้นฐาน “ค่าเสื่อมราคา” (ตอนที่ 1)”
โดย : Mr.knowing Section : Accounting Style / Column : CPD Coach
อ่านบทความฉบับเต็มได้ที่...วารสาร CPD & Account ปีที่ 18 ฉบับที่ 223 เดือนกรกฎาคม 2565

 

FaLang translation system by Faboba