ลาออกทิพย์ สามารถจำแลง แปลงกายเป็นเลิกจ้างได้

โดย

 


 
ลาออกทิพย์ สามารถจำแลง
แปลงกายเป็นเลิกจ้างได้


ก่อนอื่น อาจารย์กฤษฎ์ขอเชื่อมกฎหมายไว้ด้วยกันหน่อย คือ พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (ฉบับราชกิจจานุเบกษา 27 พฤษภาคม 2562) ที่เรียกว่า PDPA นั่นแหละ จะได้ทำความเข้าใจว่าข้อมูล… “การลาออก ใบลาออก การเลิกจ้าง และข้อเท็จจริงในคดีแรงงานที่สู้ๆ กันนี้” เป็นของลูกจ้างนั้น จำเป็นต้องพิจารณาก่อนเบื้องต้นว่า จะเป็นหรือไม่เป็น Personal Data ต้องไปดูนิยามมาตรา 6 คำว่า ‘ข้อมูลส่วนบุคคล หมายความว่า ข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลซึ่งทำให้สามารถระบุตัวบุคคลนั้นได้ ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม แต่ไม่รวมถึงข้อมูลของผู้ถึงแก่กรรมโดยเฉพาะ’ (“Personal Data” means any information relating to a Person, which enables the identification of such Person, whether directly or indirectly or indirectly, but not including the information of the deceased Persons in particular;) แต่… เมื่อนำคดีขึ้นสู่ศาลจะกลายเป็น “ข้อมูลส่วนบุคคลอันพึงยกเว้น” ไปทันที ไม่ใช่ไม่ถือเป็นข้อมูลส่วนบุคคลอย่างวิทยากร ที่ปรึกษามั่วๆ ทั้งนี้และทั้งนั้น การได้รับการยกเว้นมันสื่อว่าไม่ต้อง กร.-ช.-ป. (เก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล) ก็เท่านั้น เพราะมาตรา 4 ‘พระราชบัญญัตินี้เขียนเอาไว้ว่า ไม่ใช้บังคับแก่... (5) การพิจารณาพิพากษาคดีของศาล และการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่ในกระบวนการพิจารณาคดี การบังคับคดี และการวางทรัพย์ รวมทั้งการดำเนินงานตามกระบวนการยุติธรรมทางอาญา’ (มาตรา 4 วรรคแรก) แต่ ‘ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลตามวรรคหนึ่ง ...(5)... ต้องจัดให้มีการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคล ให้เป็นไปตามมาตรฐานด้วย’ (มาตรา 4 วรรค 3)

เห็นหรือยังว่า ยังเป็น ‘ข้อมูลส่วนบุคคล’ อยู่ เพียงแต่ว่ามันเป็น “ข้อมูลส่วนบุคคลอันพึงยกเว้น” ไม่ใช้บังคับกันเป็นบางกรณี และเป็นส่วนใหญ่ก็เท่านั้น ซึ่งส่วนน้อยเรื่อง IS (Information Security) ยังต้องบังคับใช้ จะไม่รับผิดชอบไม่ได้

ขอตกตัวอย่างเคสแรก : คำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษที่ 632/2562 การที่นายจ้างจัดเตรียมหนังสือเลิกจ้าง รายละเอียดการจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมายไว้ก่อนเช่นนี้ รวมทั้งมีบันทึกภายในขอรหัสผ่านคืนจากลูกจ้าง พร้อมทั้งปิดล็อกห้องทำงานเพื่อมิให้ลูกจ้างเข้าทำงาน แสดงว่านายจ้างเตรียมการเลิกจ้างไว้ล่วงหน้า (เป็นข้อมูลส่วนบุคคลที่ไม่อยู่ในข้อยกเว้น เพราะยังไม่ถึงมือศาล ต้องทำตาม PDPA อย่างเคร่งครัดด้วย ซึ่งพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 มาตรา 24 ระบุว่า “ห้ามประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคล เว้นแต่จะมีฐานหรือเหตุแห่งการประมวลผลให้ทำได้ตามกฎหมาย” (Lawful Basis for Processing) ฉะนั้น จงเลือกฐานให้ถูกด้วย ถ้าเป็นหนังสือเลิกจ้าง รายละเอียดการจ่าย ค่าชดเชยตามกฎหมาย ใช้ฐานหน้าที่ผูกมัดตามกฎหมาย (LEGAL OBLIGATION : Lo) + กับฐานประโยชน์อันชอบธรรม (LEGITIMATE INTERESTs : Li) ย่อมได้ แต่การจะขอรหัสผ่านคืนจากลูกจ้าง มันต้องใช้ฐานความยินยอม (CONSENT : Cs) บังคับกันไม่ได้ มันเป็นข้อมูลส่วนบุคคลจ๋าเลยครับ เป็นของลูกจ้างที่จะรักษาความลับของรหัสผ่านส่วนบุคคลด้วยตนเอง และศาลท่านมองว่า การกระทำแบบนี้ของนายจ้าง มีแผนการอันชั่วร้าย บ่งบอกว่าเจตนานายจ้างไม่อยากเอาลูกจ้างไว้แล้ว มันชัดมากครับ

เมื่อนายจ้างเรียกลูกจ้างไปพบ และแจ้งว่า ผู้บริหารมีมติให้เลิกจ้างลูกจ้าง หากลูกจ้างไม่ยอมลงลายมือชื่อในใบลาออก ก็จะไม่มีการจ่ายค่าชดเชย การกระทำของนายจ้างซึ่งมีอำนาจเหนือลูกจ้าง โดยมีเจตนาที่จะให้ลูกจ้างพ้นจากการเป็นลูกจ้าง พฤติการณ์ของนายจ้างจึงฟังได้ว่า ลูกจ้างมิได้ลาออก แต่เป็นนายจ้างต้องการเลิกจ้างลูกจ้าง เรียกได้ว่า ไม่มีปี่มีขลุ่ย ถ้าอยากให้ลูกจ้างออก ก็บอกว่าผู้บริหารมีมติ มันมักง่ายเกินไปกับมติอัปยศแบบนี้ ใครๆ ก็พูดได้แบบปัดสวะ ต่อให้ลูกจ้างเซ็นหรือเขียนใบลาออกด้วยตัวเองแล้วบอกว่า ลูกจ้างทำไปด้วยตัวเอง และนายจ้างก็อ้างเข้าข้างตัวเองว่าลูกจ้างใช้ฐานความยินยอม (CONSENT : Cs) นายจ้างก็ยังคงแพ้ราบคาบอยู่ดี เพราะมันเป็นการยินยอมทิพย์ ไม่ได้มีอยู่จริง ไม่เป็นความจริง ขาดเจตนา แม้ลูกจ้างจะยอมรับว่าได้ลงลายมือชื่อในใบลาออกก็ตาม

ฉะนั้น การยอมรับ จึงไม่ได้หมายถึง ยินยอม ก็กลายเป็น ‘ลาออกทิพย์ สามารถจำแลงแปลงกายเป็นเลิกจ้างได้’ อย่างคดีนี้ แม้เป็นลายเซ็นลายมือลูกจ้างก็ตาม ก็ยังสามารถนำพยานบุคคลมาสืบว่า ลูกจ้างลงลายมือชื่อในใบลาออก เพราะถูกนายจ้างบังคับขู่เข็ญได้ครับ และกำลังจะบอกเราว่า ต่อให้มีพยานเอกสารคือใบลาออกที่ลูกจ้างเขียน ที่ลูกจ้างเซ็นด้วยตัวเองก็ตาม และลายเซ็นจริงๆ ไม่ได้เปลี่ยนกะทันหันเพื่อผลทางคดีก็ตาม ศาลแรงงานก็ยังเปิดโอกาสให้นำพยานบุคคลมาสืบหักล้างพยานเอกสารได้ และถ้าศาลเชื่อว่าพยานบุคคลแวดล้อมมีน้ำหนักมากกว่าพยานเอกสาร และพฤติการณ์มันสอดคล้องเป็นไปได้จริง ศาลก็เลือกจะเชื่อพยานบุคคลได้เหมือนกัน บุคคลจึงงัดเอกสารได้เมื่อไหร่นายจ้างก็ต้องแพ้เมื่อนั้นครับ ดังนั้น เป็นนายจ้าง หัดมีคุณธรรม อย่าริใช้อำนาจเหนือกว่าในทางชั่วร้ายเป็นเด็ดขาด

บางส่วนจากบทความ : "ลาออกทิพย์ สามารถจำแลง แปลงกายเป็นเลิกจ้างได้"
โดย : อ.กฤษฎ์ อุทัยรัตน์ / Section : กฎหมายแรงงาน / Column : คลายปมปัญหาแรงงาน
อ่านบทความฉบับเต็มได้ที่...วารสาร HR Society Magazine ปีที่ 20 ฉบับที่ 235 เดือนกรกฎาคม 2565

 

FaLang translation system by Faboba