สินค้าแบรนด์เนมกับภาษี

โดย

 


 
สินค้าแบรนด์เนมกับภาษี


โดยหลักการทั่วไปแล้ว “ของ” หรือ “สินค้า” ทุกอย่างที่นำเข้ามาในประเทศ ล้วนมีภาระค่าภาษีอากรทั้งสิ้น ไม่ว่า จะเกิดจากการซื้อขายขนส่งเข้ามาในทางการค้าระหว่างประเทศหรือเป็นของที่นำติดตัวผู้โดยสารเข้ามา หากไม่มีกฎหมายบัญญัติยกเว้นภาษีอากรไว้เป็นการเฉพาะ ก็จะต้องเสียภาษีอากรจากฐานและอัตราตามที่กฎหมายกำหนด ผู้ซื้อหรือผู้บริโภคก็จะต้องรับภาระค่าภาษีอากรที่ถูกนำไปรวมอยู่ในราคาที่ซื้อขายนั้น

ยิ่งหากว่าของหรือสินค้าที่นำเข้ามาเป็น “สินค้าแบรนด์เนม” ที่นำติดตัวเข้ามาในราชอาณาจักร ก็ย่อมมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่พนักงานศุลกากรจะต้องดำเนินการตรวจสอบว่าเป็นของแบรนด์แนมที่ต้องเสียภาษีอากรหรือไม่ เนื่องจากหากพนักงานศุลกากรผู้ปฏิบัติหน้าที่ปล่อยปละละเลยให้มีการนำสินค้าแบรนด์เนมติดตัวเข้ามาโดยไม่มีการควบคุมตรวจสอบใด ๆ หรือกฎหมายว่าด้วยศุลกากรมิได้กำหนดหลักเกณฑ์หรือวิธีการใด ๆ เพื่อควบคุมไว้ ก็จะส่งผลให้มีการนำของแบรนด์เนมติดตัวเข้ามาในประเทศได้อย่างอิสรเสรี ทำให้เกิดช่องทางการหลีกเลี่ยงภาษีอากรมากขึ้น แทนที่จะนำเข้ามาในลักษณะปกติทั่วไป ก็ใช้วิธีการนำเข้ามาในลักษณะหิ้วของแบรนด์เนมติดตัวผู้โดยสารเข้ามาในประเทศแทน เพราะคิดว่าไม่ต้องเสียภาษีอากร ส่งผลให้เกิดช่องทางการทำธุรกิจที่ผิดกฎหมายคือ “ธุรกิจหิ้วและจำหน่ายสินค้าแบรนด์เนม-พรีออเดอร์” หรือ “แอบหิ้ว” เข้ามา โดยไม่ผ่านพิธีการศุลกากรที่ถูกต้อง ซึ่งเข้าข่ายเป็นพฤติกรรม “หนีภาษี” (Tax Evasion) นั่นเอง

ดังนั้นหากปล่อยให้มีสภาพเช่นนี้โดยปราศจากการควบคุม ผู้ประกอบการขายสินค้าแบรนด์เนมที่สุจริตที่นำสินค้าเข้ามาโดยชำระภาษีอากรอย่างถูกต้องก็จะได้รับความเดือดร้อนเสียหาย ย่อมจะก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในทางภาษีอากร กฎหมายศุลกากรจึงได้กำหนดหลักเกณฑ์ในเรื่องนี้ไว้ตามประกาศกรมศุลกากรที่ 60/2561 ลงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2561 เรื่อง การปฏิบัติพิธีการศุลกากรของติดตัวผู้โดยสารที่นำติดตัวเข้ามาหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักรพร้อมกับตนทางท่าอากาศยาน

สินค้าแบรนด์เนมที่ได้รับการยกเว้นอากร

หากผู้โดยสารขาเข้านำสินค้าแบรนด์เนมหรือสินค้าที่มีมูลค่าสูงเข้ามาในประเทศไทย กฎหมายให้สิทธิยกเว้นภาษีอากรให้กับของส่วนตัวที่เจ้าของนำเข้ามาพร้อมกับตนทางท่าอากาศยาน จะได้รับยกเว้นอากรตามภาค 4 ประเภทที่ 5 แห่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 ซึ่งกฎหมายได้กำหนดให้ของที่จะได้รับการยกเว้นอากรจะต้องเป็น “ของส่วนตัวที่เจ้าของนำเข้ามาพร้อมกับตนสำหรับใช้เองหรือใช้ในวิชาชีพ และมีจำนวนพอสมควรแก่ฐานะ” โดยของที่มีลักษณะเป็นของส่วนตัวที่เจ้าของนำเข้ามาพร้อมกับตนสำหรับใช้เอง เช่น เสื้อผ้าที่นำติดตัวเข้ามาจากต่างประเทศเพื่อใช้เอง เป็นต้น ส่วนของที่นำเข้ามาใช้ในวิชาชีพ เช่น อุปกรณ์หรือเครื่องมือช่างที่ใช้ในการซ่อมของช่างต่าง ๆ ที่มีจำนวนพอสมควรแก่ฐานะ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ของส่วนตัวที่เจ้าของนำเข้ามาพร้อมกับตนสำหรับใช้เองหรือใช้ในวิชาชีพดังกล่าว จะได้รับการยกเว้นอากรก็ต่อเมื่อของนั้น “มีจำนวนพอสมควร” ด้วย ปัญหาคือ จำนวน “เท่าไร” จึงจะเรียกว่าพอสมควร ในเรื่องนี้กฎหมายว่าด้วยศุลกากรได้มีบทบัญญัติเพื่อรองรับไว้ตามความในมาตรา 53 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 ซึ่งกำหนดให้ของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักร “หากเป็นของติดตัวผู้โดยสารและมีมูลค่าไม่เกินจำนวนที่อธิบดีประกาศกำหนด” ผู้นำของเข้า “ไม่ต้องยื่นใบขนสินค้าสำหรับของนั้น” ในการนี้ อธิบดีกรมศุลกากรได้ออกข้อกำหนดยกเว้นอากรไว้ตามประกาศกรมศุลกากรที่ 60/2561 ลงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2561 โดยกำหนดให้ของที่มีราคารวมกัน “ไม่เกิน 20,000 บาท” ให้ได้รับยกเว้นอากร ดังนั้นสินค้าแบรนด์แนมที่นำติดตัวเข้ามาดังกล่าว หากมีราคารวมกันไม่เกิน 20,000 บาท ย่อมเป็นของที่ได้รับยกเว้นอากร ในการตรวจสัมภาระผู้โดยสารขาเข้า สามารถผ่านพิธีการศุลกากรโดยการตรวจ ณ ช่อง “ไม่มีสิ่งของต้องสำแดง” หรือ “ช่องเขียว” ซึ่งจะมีป้ายสีเขียวและมีตัวอักษรภาษาอังกฤษระบุว่า “Nothing to Declare” ภาษาไทยระบุว่า “ไม่มีของต้องสำแดง”

สินค้าแบรนด์เนมที่ต้องชำระอากร

กรณีผู้โดยสารขาเข้านำสินค้าแบรนด์เนมหรือสินค้าที่มีมูลค่าสูงนำติดตัวเข้ามาพร้อมกับตนทางท่าอากาศยานเข้ามาในประเทศไทย หากเป็นของที่มีมูลค่าเกิน 20,000 บาท ก็จะต้องเสียภาษีนำเข้าด้วย อย่างไรก็ตาม บางกรณีแม้จะมีมูลค่าไม่เกิน 20,000 บาท แต่หากปรากฏพฤติการณ์ว่าเป็นของที่มีลักษณะในเชิงพาณิชย์ ของนั้นก็ต้องเสียภาษีอากรด้วยเช่นกัน เนื่องจากกฎหมายยกเว้นอากรให้เฉพาะของส่วนตัวที่เจ้าของนำเข้ามาพร้อมกับตนเท่านั้น มิใช่การนำเข้ามาในลักษณะเชิงพาณิชย์แต่อย่างใด กรณีเช่นนี้ ผู้นำเข้าจะต้องตรวจสัมภาระผู้โดยสารขาเข้า ณ ช่อง “มีสิ่งของต้องสำแดง” ซึ่งผู้โดยสารสามารถสำแดงของเพื่อเสียภาษีอากรที่ช่องตรวจมีของต้องสำแดง คือ ต้องผ่านพิธีการศุลกากรโดยการตรวจที่ “ช่องแดง” ที่มีป้ายสีแดงและมีตัวอักษรภาษาอังกฤษระบุว่า “Goods to Declare” ภาษาไทยระบุว่า “มีของต้องสำแดง” ทั้งนี้ การจัดเก็บอากรขาเข้าและภาษีมูลค่าเพิ่มที่พนักงานศุลกากรจัดเก็บดังกล่าวนั้น เรียกว่า “อากรปากระวาง”

กล่าวโดยสรุป ของติดตัวผู้โดยสารที่ได้รับการยกเว้นอากร คือ ของใช้ส่วนตัวที่มีปริมาณสมควรสำหรับใช้ส่วนตนและมีมูลค่ารวมทั้งหมดไม่เกิน 20,000 บาท ถ้าผู้โดยสารแน่ใจว่าไม่ได้ชอปปิงสินค้ามาเกิน 20,000 บาท ก็สามารถเดินผ่านช่องเขียว (Nothing to Declare) ผ่านเลยออกไปได้ แต่ถ้าช็อปปิ้งมาเกิน ก็จะต้องแสดงความบริสุทธิ์ใจโดยการเข้าช่องแดง (Goods to Declare) เพื่อให้พนักงานศุลกากรพิจารณาเก็บภาษีอากร หากช้อปปิ้งมาเกินแล้วยังเดินเข้าช่องเขียว ถ้าถูกสุ่มตรวจเจอจะมีความผิดตามกฎหมายและของที่หลีกเลี่ยงการชำระอากรต้องถูกริบเป็นของแผ่นดินตามกฎหมายศุลกากร

นอกจากนี้ ในบางกรณีมักจะปรากฏในสื่อโซเชียลบ่อยครั้งว่า บางคนหิ้วแบรนด์เนมหรือกล้องดี ๆ แพงๆ ออกไป แต่ขากลับเข้าประเทศกลับจะโดนพนักงานศุลกากรเรียกเก็บภาษี กรณีเช่นนี้ผู้โดยสารที่ต้องการนำของใช้ส่วนตัวติดตัวออกไประหว่างการเดินทาง เช่น นาฬิกา สร้อยคอ แหวน กล้องถ่ายวิดีโอ กล้องถ่ายรูป วิทยุเทป คอมพิวเตอร์สำหรับพกพา ฯลฯ แล้วประสงค์จะนำกลับเข้ามาภายในประเทศโดยได้รับการยกเว้นอากร ผู้โดยสารสามารถนำของดังกล่าวพร้อมบัตรที่นั่งบนเครื่องบิน (Boarding Pass) หนังสือเดินทาง และตั๋วโดยสาร มาแสดงแก่พนักงานศุลกากร ณ ที่ทำการขาออก เพื่อบันทึกรายละเอียดและรับสำเนาเอกสารไว้สำหรับแสดงต่อเจ้าหน้าที่ศุลกากรประจำช่องตรวจสีแดงในวันเดินทางกลับเข้ามาประเทศไทย ภายใต้เงื่อนไข คือ เป็นของเก่าใช้แล้วและมีจำนวนหรือปริมาณพอสมควรแก่ฐานะ และมีเครื่องหมายเลขหมาย (Serial Number) ที่สามารถตรวจสอบได้ง่าย

 

จากบทความ : “ภาษีสินค้าแบรนด์เนม หิ้วกลับระวังค่าปรับ! ” 
Section: Section: Tax Talk / Column: Customs Duty

อ่านบทความฉบับเต็มได้ที่.....วารสารเอกสารภาษีอากร ปีที่ 41 ฉบับที่ 490 เดือนกรกฎาคม 2565
หรือสมัครสมาชิก “วารสารเอกสารภาษีอากร” เพื่อรับสิทธิอ่านและสืบค้นบทความ ผ่านระบบ e-Magazine Index

 

FaLang translation system by Faboba