เทคนิคการเก็บข้อมูลผลงานของพนักงานอย่างสร้างสรรค์

โดย

 


ข้อพึงปฏิบัติในการเก็บข้อมูลของพนักงาน

การเก็บข้อมูลป้อนกลับเกี่ยวกับผลงานทั้งในเชิง KPIs และ Competency เป็นเรื่องสำคัญ แต่ยังพบว่าการเก็บข้อมูลของหัวหน้างานหลายคนยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เก็บข้อมูลบ้าง/ไม่เก็บข้อมูลบ้าง หรือหัวหน้างานบางคนเก็บข้อมูลในช่วงแรกๆ แต่หลังจากนั้นไม่เก็บข้อมูลผลงานของพนักงานอีกเลย ซึ่งการเก็บข้อมูลผลงานของพนักงานจะประสบความสำเร็จได้นั้น หัวหน้างานต้องปฏิบัติตามแนวทางการเก็บข้อมูลผลงานของพนักงาน ดังนี้

• ต้องคิดว่าเป็นภารกิจสำคัญ
หัวหน้างานต้องเปิดใจและปรับ Mindset หรือทัศนคติของตนเองก่อนว่าการเก็บข้อมูลผลงานของพนักงานเป็นหน้าที่ที่สำคัญพอๆ กับการบริหารงานให้ประสบความสำเร็จ ลองคิดดูง่ายๆ ว่า หากในช่วงที่คุณต้องให้ Feedback ผลงานของพนักงาน เกิดพนักงานขอให้หัวหน้างานยกตัวอย่างเหตุการณ์ที่บ่งชี้ถึงผลงานของพนักงาน แล้วหัวหน้างานตอบไม่ได้ คุณคิดว่าลูกน้องจะคิดอย่างไรกับตัวคุณที่เป็นหัวหน้างานของเขา

• การมีวินัยในตนเอง
หัวหน้างานต้องมีวินัยในการเก็บข้อมูล ซึ่งการเก็บข้อมูลผลงานของพนักงานสามารถเก็บได้ตลอดทั้งปีเมื่อมีเหตุการณ์หรือสถานการณ์ที่บ่งชี้ถึง KPIs และ Competency ของพนักงานทั้งด้านบวกและด้านลบ ข้อมูลที่ต้องจดนั้นจะต้องทำทันที หรือไม่ก็ไม่ควรเกิน 1 วัน 

• มีความยุติธรรมในการเก็บข้อมูล
การเก็บข้อมูลผลงานของพนักงานนั้น หัวหน้างานต้องไม่เลือกที่รักมักที่ชัง เช่น รักคนไหนก็เก็บบันทึกแต่ผลงานของพนักงานคนนั้น โดยเฉพาะผลงานด้านบวก ส่วนพนักงานคนใดที่ไม่รักหรือไม่ชอบก็ไม่จดบันทึกผลงาน หรือบันทึกแต่ด้านไม่ดี โดยหัวหน้างานต้องให้ความยุติธรรมกับพนักงานทุกคนเพื่อสร้างความศรัทธาให้เกิดขึ้นในหมู่พนักงาน

• การเลือกใช้ Tools ช่วยในการบันทึกข้อมูล
หัวหน้างานหลายคนอาจไม่เก่งในการพิมพ์ข้อมูล จะถนัดเขียนมากกว่า แต่การเลือกใช้วิธีการเขียนเพื่อบันทึกข้อมูลผลงานของพนักงานอาจทำให้เสียเวลา ดังนั้น หัวหน้างานสามารถใช้แอปพลิเคชั่นหรือฟังก์ชั่นใหม่ๆ ในสมาร์ตโฟน เช่น S Voice (ในระบบ Android) หรือ Siri (ในระบบ IOS) ช่วยในการบันทึกรายละเอียดผลงานของพนักงาน ซึ่งใช้งานง่าย ไม่ยุ่งยาก และไม่เกินความสามารถที่หัวหน้างานสามารถทำได้

บางส่วนจากบทความ “เทคนิคการเก็บข้อมูลผลงานของพนักงานอย่างสร้างสรรค์”


HRM/HRD : ดร.อาภรณ์ ภู่วิทยพันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ บริษัท ไทยสกิลล์ พลัส จำกัด
วารสาร : HR Society Magazine ธันวาคม 2560

                       สนใจสมัครสมาชิกคลิก
                      

FaLang translation system by Faboba