ธุรกิจให้บริการกับภาษีมูลค่าเพิ่ม

โดย

 


ในการประกอบธุรกิจของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเมื่อมีการประกอบธุรกิจมักจะเลือกประกอบธุรกิจขายสินค้าหรือให้บริการ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเจ้าของกิจการในแต่ละแห่งที่ตั้งกิจการเพื่อประกอบธุรกิจแต่ละประเภทที่ได้เลือกประกอบกิจการ ธุรกิจขายสินค้ามีหลายประเภทด้วยกัน เช่น ซื้อมาขายไป ผลิตออกจำหน่ายเป็นปกติธุระ การขายสินค้าพร้อมติดตั้ง การรับจ้างผลิตแต่ปกติผลิตออกจำหน่ายเป็นต้น ประเด็นที่ต้องพิจารณาอย่างไรจึงจะถือเป็นกิจการให้บริการ จะต้องพิจารณามาตรา 77/1(10) ที่ได้ให้ความหมายของการให้บริการไว้ดังต่อไปนี้

"บริการ" หมายความว่า การกระทำใดๆ อันอาจหาประโยชน์อันมีมูลค่าซึ่งมิใช่เป็นการขายสินค้า และให้หมายความรวมถึงการใช้บริการของตนเอง ไม่ว่าประการใดๆ แต่ทั้งนี้ไม่รวมถึง
(ก) การใช้บริการหรือการนำสินค้าไปใช้เพื่อประกอบกิจการของตนเองโดยตรง ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด
(ข) การนำเงินไปหาประโยชน์โดยการฝากธนาคารหรือซื้อพันธบัตรหรือหลักทรัพย์
(ค) การกระทำตามที่อธิบดีกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรี
ดังนั้นคำว่า “บริการ” ตามประมวลรัษฎากรจึงให้ความหมายว่า การกระทำใด ๆ ที่ไม่ใช่การขายสินค้า หรือ อะไรก็ตามที่ไม่ใช่การขายสินค้าจะถือเป็น “การให้บริการ”

การให้บริการกับภาษีมูลค่าเพิ่ม
ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่มได้กำหนดให้ธุรกิจบริการมีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มหากธุรกิจให้บริการมีรายได้ตั้งแต่ 1,800,000 บาทต่อปีขึ้นไป แต่อย่างไรก็ดียังมีกิจการให้บริการบางประเภทที่ประมวลรัษฎากรได้กำหนดให้ยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มดังนี้
(1) การให้บริการการศึกษาของสถานศึกษาของทางราชการ สถานศึกษาตามกฎหมายว่าด้วย สถาบันอุดมศึกษาเอกชน หรือโรงเรียนเอกชนตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน
(2) การให้บริการที่เป็นงานทางศิลปะและวัฒนธรรมในสาขา และลักษณะการประกอบกิจการที่อธิบดีกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรี 
(3) การให้บริการการประกอบโรคศิลปะ การสอบบัญชี การว่าความ หรือการประกอบวิชาชีพอิสระอื่นตามที่อธิบดีกำหนด โดยอนุมัติรัฐมนตรี ทั้งนี้ เฉพาะวิชาชีพอิสระที่มีกฎหมายควบคุม การประกอบวิชาชีพอิสระนั้น
(4) การให้บริการรักษาพยาบาลของสถานพยาบาลตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาล
(5) การให้บริการวิจัย หรือการให้บริการทางวิชาการ ทั้งนี้ ในสาขา และลักษณะการประกอบกิจการที่อธิบดีกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรี 
(6) การให้บริการห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ สวนสัตว์
(7) การให้บริการตามสัญญาจ้างแรงงาน
(8) การให้บริการจัดแข่งขันกีฬาสมัครเล่น
(9) การให้บริการของนักแสดงสาธารณะ ทั้งนี้ เฉพาะบริการในสาขาและลักษณะการประกอบกิจการตามที่อธิบดีกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรี 
(10) การให้บริการขนส่งในราชอาณาจักร
(11) การให้บริการขนส่งระหว่างประเทศ ซึ่งมิใช่เป็นการขนส่งโดยอากาศยาน หรือเรือเดินทะเล
(12) การให้บริการเช่าอสังหาริมทรัพย์ 
(13) การให้บริการของราชการส่วนท้องถิ่น ทั้งนี้ ไม่รวมถึงบริการที่เป็นการพาณิชย์ของราชการส่วนท้องถิ่น หรือเป็นการหารายได้หรือผลประโยชน์ไม่ว่าจะเป็น กิจการสาธารณูปโภคหรือไม่ก็ตาม
(14) การขายสินค้าหรือการให้บริการของกระทรวง ทบวง กรม ซึ่งส่งรายรับทั้งสิ้นให้แก่รัฐโดยไม่หักรายจ่าย
(15) การขายสินค้าหรือการให้บริการเพื่อประโยชน์แก่การศาสนา หรือการสาธารณกุศลภายในประเทศ ซึ่งไม่นำผลกำไรไปจ่ายในทางอื่น
(16) การขายสินค้าหรือการให้บริการตามที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา

เมื่อผู้ประกอบการให้บริการได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม มีหน้าที่ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มที่เกิดจากการให้บริการให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

(1) การให้บริการนอกจากที่อยู่ในบังคับตาม (2) (3) หรือ (4) ให้ความรับผิดทั้งหมดเกิดขึ้นเมื่อได้รับชำระราคาค่าบริการ เว้นแต่กรณีที่ได้มีการกระทำดังต่อไปนี้เกิดขึ้นก่อนได้รับชำระราคาค่าบริการก็ให้ถือว่าความรับผิดเกิดขึ้นเมื่อได้มีการกระทำนั้นๆ ด้วย
(ก) ได้ออกใบกำกับภาษี หรือ
(ข) ได้ใช้บริการไม่ว่าโดยตนเองหรือบุคคลอื่น
ทั้งนี้ โดยให้ความรับผิดเกิดขึ้นตามส่วนของการกระทำนั้นๆ แล้วแต่กรณี

(2) การให้บริการตามสัญญาที่กำหนดค่าตอบแทนตามส่วนของบริการที่ทำ ให้ความรับผิดตามส่วนของบริการเกิดขึ้นเมื่อได้รับชำระราคาค่าบริการตามส่วนของบริการที่สิ้นสุดลง เว้นแต่กรณีที่ได้มีการกระทำดังต่อไปนี้เกิดขึ้นก่อนได้รับชำระราคาค่าบริการตามส่วนของบริการที่สิ้นสุดลง ก็ให้ถือว่าความรับผิดเกิดขึ้นเมื่อได้มีการกระทำนั้นๆ ด้วย
(ก) ได้ออกใบกำกับภาษี หรือ
(ข) ได้ใช้บริการไม่ว่าโดยตนเองหรือบุคคลอื่น
ทั้งนี้ โดยให้ความรับผิดเกิดขึ้น ตามส่วนของการกระทำนั้นๆ แล้วแต่กรณี

(3) การให้บริการที่ทำในต่างประเทศและได้มีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักร ให้ความรับผิดทั้งหมดหรือบางส่วนเกิดขึ้นเมื่อได้มีการชำระราคาค่าบริการทั้งหมดหรือบางส่วนแล้วแต่กรณี

(4) การให้บริการที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 ตามมาตรา 80/1 (5) และภายหลังได้มีการโอนสิทธิในบริการอันทำให้ผู้รับโอนสิทธิในบริการมีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82/1 (2) ให้ความรับผิดทั้งหมดเกิดขึ้นเมื่อได้รับชำระราคาค่าบริการ

ฐานภาษีสำหรับการให้บริการ ได้แก่ มูลค่าทั้งหมดที่ผู้ประกอบการได้รับหรือพึงได้รับจากการขายสินค้าหรือการให้บริการ รวมทั้งภาษีสรรพสามิตตามที่กำหนดในมาตรา 77/1 (19) ถ้ามี ด้วยมูลค่าของฐานภาษีให้หมายความถึง เงิน ทรัพย์สิน ค่าตอบแทน ค่าบริการ หรือประโยชน์ใด ๆ ซึ่งอาจคิดคำนวณได้เป็นเงิน


ภาษี : TAX KNOWLEDGE : สมเดช โรจน์คุรีเสถียร
วารสาร : CPD&ACCOUNT กรกฎาคม 2560
FaLang translation system by Faboba