World Economic Forum Review (ตอนที่ 1)

โดย

 



ผมได้มีโอกาสเข้าไปอ่านบทความใน www.weforum.org โดยบังเอิญครับ อ่านเพลินๆ ไปก็ยิ่งน่าสนใจ และพบว่ามีเรื่องราวที่มีประโยชน์หลายอย่างที่ควรนำมาถ่ายทอดแก่ผู้อ่าน และเนื่องจากเนื้อหามีจำนวนมาก จึงขออนุญาตนำมาเขียนเล่าเป็นตอนๆ ไปนะครับ

World Economic Forum Annual Meeting หรือการจัดประชุมใหญ่ประจำปีของ WEF จะจัดขึ้นที่เมือง Davos ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ โดยมีผู้นำประเทศสำคัญๆ และผู้นำขององค์กรธุรกิจ นักวิชาการ จากหลายประเทศเข้าร่วม รวมทั้งผู้แทนจากประเทศไทย และในปีนี้จัดขึ้นเป็นปีที่ 47 เมื่อวันที่ 17-20 มกราคม 2560 ที่ผ่านมา โดย Objective in Davos: วัตถุประสงค์ในการประชุมที่ Davos นั้น จะมี agenda หรือวาระสำคัญๆ ได้แก่

1. The Global Agenda: วาระที่เกี่ยวโยงกันในระดับสากล
เป็นประเด็นที่เชื่อมโยงกันทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจ และเอกชนระหว่างประเทศ ในการวางอนาคตของเรื่องสำคัญๆ 14 หัวข้อเช่น The Future of Consumption, Digital Economy, Education, Financial, Production: อนาคตของการบริโภค, เศรษฐกิจดิจิทัล, การศึกษา, การเงิน, การผลิต เป็นต้น

2. The International Security Agenda: วาระเรื่องความมั่นคงปลอดภัยระหว่างประเทศ
จะเป็นเรื่องที่กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมและการตอบสนองอย่างรวดเร็วในกรณีเกิดเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบกับความมั่นคงของมวลมนุษยชาติ รวมถึงภัยพิบัติธรรมชาติ

3. The Economic Agenda: วาระทางด้านเศรษฐกิจ
เพื่อเป็นการสนับสนุนผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วน ในการส่งต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน และการแก้ปัญหาจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ และ Disruptive innovations: นวัตกรรมที่เปลี่ยนแปลงโลก

4. The Regional and National Agenda: วาระที่เกิดขึ้นในภูมิภาคและระดับประเทศ
เป็นการสำรวจในเชิงลึกสำหรับประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจและสังคม และการค้า การลงทุนในภูมิภาคและของประเทศต่างๆ

5. The Industry and Business Agenda: วาระทางด้านอุตสาหกรรมและธุรกิจ
การวางรูปแบบในภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจ สืบเนื่องมาจาก The Fourth Industrial Revolution: การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 เพื่อการเตรียมความพร้อมกับทิศทางการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต

6. The Future Agenda: วาระของโลกอนาคต
เป็นการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ การค้นพบนวตกรรมใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของภาคส่วนต่างๆ เช่น ทางการแพทย์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การสื่อสาร และ the next generation of future leaders: ผู้นำรุ่นใหม่ในอนาคต เป็นต้น

พิจารณาจากจำนวนผู้เชี่ยวชาญและบุคลากรของ WEF ที่มีจำนวนมากกว่า 600 คน ประกอบกับพันธมิตรที่เป็นนักธุรกิจและบริษัทชั้นนำของโลกจำนวนกว่า 1,000 แห่งที่ให้การสนับสนุน จึงนับได้ว่า WEF เป็นองค์กรที่ไม่แสวงกำไรที่มีบทบาทอย่างมากในการจัดกิจกรรมต่างๆ ที่เป็นการประสานความร่วมมือและขยายกรอบองค์ความรู้ที่สำคัญในระดับสากล ให้กับภาครัฐบาลและเอกชน เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการวางนโยบายและแผนธุรกิจตามแนวทางการเปลี่ยนไปของโลกในอนาคต สอดคล้องกับสโลแกนของ WEF ที่ว่า “Committed to Improving the State of the World: ความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาสภาวะของโลกให้ดีขึ้น” และบทความที่ WEF นำมาเผยแพร่ค่อนข้างทันสมัย อยู่ในกระแสความสนใจของชาวโลก ซึ่งได้จากการรวบรวมและวิเคราะห์จากกูรูชั้นนำ ทั้งในเรื่องมหภาคและจุลภาค

ฉบับนี้เป็นการเรียกน้ำย่อยครับ เป็นการเกริ่นนำเฉพาะในเรื่องของ WEF ที่เกี่ยวข้องกับการประชุมสุดยอดประจำปีที่ Davos และสำหรับผู้อ่านที่กำลังศึกษาต่อในระดับปริญญาโท-เอก ผู้บริหารและนักวางแผนเชิงกลยุทธ์ นักการตลาด หรือผู้ที่สนใจทุกสาขา ห้ามพลาดครับ! ผมจะทยอยนำบทความชั้นยอดของ WEF มานำเสนอให้รับทราบในฉบับต่อไป


สันติ ประพันธ์ : CLASSIFIED : LIFESTYLE
วารสาร : CPD&ACCOUNT กันยายน 2560
FaLang translation system by Faboba